10 หุ้นใหญ่รอดตัว! คลังแจงเน้นขายหุ้น บ.นอกตลาดหลักทรัพย์ก่อน

10 หุ้นใหญ่รอดตัว! รมว.คลัง แจงขายหุ้นใช้หนี้เน้น บ.นอกตลาดหลักทรัพย์ก่อน


นายสมหมาย ภาษี รมว.คลัง เปิดเผยว่า สำหรับแนวทางการขายหุ้นในบริษัทเอกชนที่กระทรวงการคลังถือไว้ตามแผนล้างหนี้ภาครัฐว่า ในเบื้องต้นจะพิจารณาขายหุ้นในบริษัทที่อยู่นอกตลาดหลักทรัพย์ก่อน รวมทั้งบริษัทลูกของรัฐวิสาหกิจที่กระทรวงการคลังถือแล้วไม่ก่อให้เกิดรายได้ เนื่องจากมีเป็นจำนวนมาก ส่วนบริษัทในตลาดหุ้น โดยเฉพาะบริษัทขนาดใหญ่ คงต้องพิจารณาอย่างละเอียด

“ส่วนบริษัทในตลาดหุ้น โดยเฉพาะบริษัทขนาดใหญ่ ต้องพิจารณาเรื่องนี้อย่างละเอียด แต่ไม่ได้หมายความว่าจะไม่แตะต้องเลย ต้องมาดูกันอีกครั้ง โดยจะไม่ทำให้ตลาดฯ เกิดผลกระทบกระเทือน แต่ยืนยันว่า หลักๆจะดูบริษัทที่ไม่ได้อยู่ในตลาดฯ ที่ไม่คุ้มกับการลงทุนก่อน” รมว.คลัง กล่าว

โดยในระหว่างการพิจารณาออกกฎหมาพิเศษเพื่อล้างหนี้ วงเงิน 7.2 แสนล้านบาทนั้น จะมีการวางหลักเกณฑ์ หรือ แนวทางการจำหน่ายหุ้นด้วย ทั้งหมดจะอยู่ในกฎหมายฉบับนี้ อย่างไรก็ตาม แนวทางการขายหุ้นอาจไม่ได้ทำทั้งหมดในรัฐบาลนี้

ส่วนภาษีมรดกและภาษีการให้ หลังจากผ่านวาระ 3 แล้วนั้น รมว.คลัง กล่าวว่า จากนี้เป็นหน้าที่ของคณะกรรมการกฤษฎีกาในการกลั่นกรองกฎหมายก่อนจะเสนอขึ้นทูลเกล้าฯ และจะมีผลบังคับใช้หลังจากลงประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้ว 6 เดือน เพื่อให้เวลากรมสรรพากรเตรียมพร้อมในการทำงาน

ทั้งนี้ เบื้องต้นคาดว่าในปีแรกๆจะจัดเก็บภาษีดังกล่าวได้ไม่มาก โดยคาดว่าจะอยู่ที่ประมาณ 5-6 พันล้านบาท และระหว่างนี้เจ้าหน้าที่จะเร่งปิดช่องโหว่ของกฎหมายที่มีอยู่มากเพื่อลดการประพฤติมิชอบ

ด้านสิทธิประโยชน์ทางภาษีในการหักลดหย่อนเงินลงทุนในกองทุนรวมหุ้นระยะยาว(LTF) นั้น ยังมีเวลาในการพิจารณา ซึ่งจะมีการชี้แจงในเร็วๆ นี้

 อนึ่ง ก่อนหน้านี้เมื่อวันที่ 22 พ.ค.ที่ผ่านมา นายสมหมาย ภาษี รมว.คลัง เปิดเผยว่า ขณะนี้กระทรวงการคลังกำลังอยู่ระหว่างการพิจารณาออกกฎหมายพิเศษ เพื่อล้างหนี้ วงเงินกว่า 7.2 แสนล้านบาท ซึ่งในส่วนนี้เป็นหนี้จากโครงการรับจำนำข้าวกว่า 5.2 แสนล้านบาท และที่เหลือเป็นหนี้ของการรถไฟแห่งประเทศไทย(รฟท.), หนี้ขององค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ(ขสมก.) และหนี้กองทุนประกันสังคม โดยเบื้องต้นคาดว่าจะใช้เวลาประมาณ 2 เดือนในการออกกฎหมายดังกล่าว ก่อนที่จะนำเสนอสู่การพิจารณาของที่ประชุมคณะรัฐมนตรี และสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.) ต่อไป

สำหรับแนวทางในการบริหารจัดการหนี้ดังกล่าวนี้ ในเบื้องต้นจะใช้วิธีการออกพันธบัตรรัฐบาล โดยจะเน้นอายุ 3 ปี, 5 ปี, 7 ปี, 10 ปี และ 12 ปี ซึ่งแผนบริหารหนี้ทั้งหมดนี้จะครอบคลุมภายในระยะเวลา 20 ปี

รวมถึงรัฐบาลยังเตรียมจะพิจารณาขายหุ้นในกิจการของเอกชนที่รัฐถือหุ้นอยู่ และมองว่าไม่เป็นประโยชน์หรือบริหารจัดการยาก โดยจะขายหุ้นออกไป เพราะมองว่าไม่มีความจำเป็นต้องถือหุ้นไว้ ซึ่งคาดว่าจะได้เงินในส่วนนี้ประมาณ 1 แสนล้านบาท เพื่อมาใช้ในการบริหารจัดการหนี้ในระยะต่อไป

 

หุ้นที่คลังถือ          สัดส่วน (%)         ข้อมูลจากตลท.ล่าสุด

MCOT                  68.80                  12 มี.ค.58

THAI                   51.03                  10 มี.ค.58         

PTT                     51.11                   9 มี.ค.58

AOT                    70.00                  19 ธ.ค.57

PDI                     13.81                   8 พ.ค.58

MFC                    16.67                  30 เม.ย.58                  

NEP                    20.45                  17 มี.ค.58

TMB                    25.98                 24 เม.ย.58          

BCP                     9.98                    9 มี.ค.58

THL                     1.98                    9 ต.ค.56 (แขวนป้าย SP)         

Back to top button