IFEC ก่อนจะถึงวันนี้!

รายงานพิเศษ มหากาพย์ IFEC หรือ บริษัท อินเตอร์ ฟาร์อีสท …


รายงานพิเศษ

มหากาพย์ IFEC หรือ บริษัท อินเตอร์ ฟาร์อีสท์ เอ็นเนอร์ยี่ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) เริ่มค่อยๆ เห็นแสงสว่างมากขึ้นจากปัญหาคาราคาซัง…ของอดีตผู้บริหาร…เพราะล่าสุดสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ได้กล่าวโทษนายวิชัย ถาวรวัฒนยงค์ อดีตประธานกรรมการ IFEC

กรณี “วิชัย” ในขณะที่ดำรงตำแหน่งประธานกรรมการ IFEC ไม่ดำเนินการให้บริษัทชี้แจงประเด็นที่ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยสอบถามตามที่ปรากฏข่าวว่า IFEC ผิดนัดชำระหนี้ตั๋วแลกเงิน (B/E) จนเป็นเหตุให้หุ้น IFEC ถูกขึ้นเครื่องหมาย SP ตั้งแต่วันที่ 12 ม.ค. 2560 ซึ่งทำให้นายวิชัยได้รับประโยชน์

เนื่องจากหุ้น IFEC ที่นายวิชัยถือไว้และเป็นหลักประกันบัญชีซื้อขายหลักทรัพย์ประเภทมาร์จิ้น จำนวนรวมกว่า 57.46 ล้านหุ้น ไม่ถูกบังคับขาย จึงทำให้นายวิชัยยังคงสภาพการเป็นผู้ถือหุ้นของ IFEC และสามารถใช้สิทธิลงคะแนนเลือกตั้งกรรมการในการประชุมผู้ถือหุ้นจำนวน 3 ครั้งในปี 2560 เพื่อประโยชน์ต่อตนเอง

การกระทำดังกล่าวของนายวิชัยเป็นการปฏิบัติฝ่าฝืน “มาตรา 170 แห่งพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535 อันเป็นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต เป็นเหตุให้บริษัทได้รับความเสียหาย หรือทำให้ตนเองได้รับประโยชน์ตามมาตรา 89/7 และมาตรา 281/2 วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว ก.ล.ต.” จึงกล่าวโทษนายวิชัยต่อกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเศรษฐกิจ (ปอศ.) เพื่อพิจารณาดำเนินการตามกฎหมายต่อไป

สำหรับการกล่าวโทษนายวิชัยเป็นการกล่าวโทษเพิ่มเติมจากกรณีที่ ก.ล.ต. กล่าวโทษนายวิชัยในฐานะประธานกรรมการ IFEC ต่อ ปอศ. เมื่อวันที่ 5 ก.ย. 2560 กรณีกระทำโดยทุจริตโดยแสวงหาประโยชน์อันมิควรได้เพื่อตนเองหรือบุคคลอื่น โดยการใช้วิธีการลงคะแนนเลือกตั้งกรรมการโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ซึ่งปัจจุบันเรื่องดังกล่าวยังอยู่ในขั้นตอนการพิจารณาตามกระบวนการยุติธรรม

อีกทั้งในปัจจุบัน IFEC ไม่สามารถชำระหนี้แก่เจ้าหนี้ได้ตามกำหนดเวลา ทำให้ถูกเจ้าหนี้ฟ้องร้องต่อศาล และไม่สามารถจัดทำและนำส่งงบการเงินได้ตามระยะเวลาที่ตลาดหลักทรัพย์ฯกำหนด จนเป็นเหตุให้เมื่อวันที่ 14 พ.ย. 2560 ตลาดหลักทรัพย์ฯประกาศให้ IFEC เข้าข่ายอาจถูกเพิกถอนจากการเป็นหลักทรัพย์จดทะเบียน

ปัญหาดังกล่าวเกิดจากที่ 1.IFEC ไม่มีประธานกรรมการบริษัท ซึ่งทำหน้าที่เรียกประชุมคณะกรรมการบริษัทตามกฎหมาย 2.กรรมการบริษัทส่วนใหญ่ยังมีประเด็นด้านกฎหมายว่าสามารถปฏิบัติหน้าที่ในฐานะคณะกรรมการบริษัทได้หรือไม่ และแม้ว่า IFEC ได้ใช้สิทธิตามกฎหมาย โดยขอให้ศาลแต่งตั้งผู้ทำหน้าที่ประธานกรรมการ แต่มีผู้ถือหุ้นของ IFEC คัดค้าน จึงทำให้ IFEC ยังไม่สามารถแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นได้ประกอบกับยังไม่ปรากฏว่ากรรมการ IFEC ได้หาวิธีการอื่นในการแก้ไขปัญหา

ดังนั้น ก.ล.ต. เห็นว่ากรรมการ IFEC ควรรีบแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นโดยเร็วที่สุด เพื่อประโยชน์สูงสุดของบริษัทและผู้ถือหุ้น โดยทางเลือกหนึ่งที่สามารถกระทำได้ คือ การดำเนินการจัดให้มีการประชุมผู้ถือหุ้นโดยเร็วที่สุด เพื่อให้ผู้ถือหุ้นมีโอกาสเสนอชื่อและเลือกตั้งบุคคลที่ผู้ถือหุ้นส่วนใหญ่เห็นว่ามีความเหมาะสมเข้ามาเป็นกรรมการภายใต้ขั้นตอนและวิธีการที่ถูกต้องตามกฎหมาย

การนี้ ก.ล.ต. จึงอาศัยอำนาจมาตรา 58 แห่งพระราชบัญญัติหลักทรัพย์ฯ ให้กรรมการ IFEC และบุคคลที่ IFEC เปิดเผยผ่านตลาดหลักทรัพย์ฯ ว่าเป็นกรรมการ ชี้แจงเป็นรายบุคคลว่าจะดำเนินการแก้ไขเรื่องดังกล่าวอย่างไรและให้เปิดเผยคำชี้แจงผ่านตลาดหลักทรัพย์ฯ ภายใน 7 วันหรือภายในวันที่ 5 มีนาคม 2561 หากกรรมการ IFEC และบุคคลดังกล่าวไม่ดำเนินการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นโดยเร็ว อาจถูกพิจารณาได้ว่า ไม่ปฏิบัติหน้าที่ตามมาตรา 89/7 แห่งพระราชบัญญัติหลักทรัพย์ฯ และเป็นผู้สนับสนุนการกระทำความผิดดังกล่าว

สำหรับกรณีที่มีผู้ร้องเรียนเกี่ยวกับเงินลงทุนของ IFEC ในโครงการพลังงานทดแทนและเรื่องร้องเรียนอื่นๆ  ก.ล.ต. อยู่ระหว่างการตรวจสอบข้อเท็จจริง ซึ่งหากพบว่ามีการกระทำของบุคคลใดที่เกี่ยวข้องเป็นความผิด
ตามพระราชบัญญัติหลักทรัพย์ฯ  ก.ล.ต. จะพิจารณาดำเนินการตามกฎหมายต่อไป

ในส่วนการกล่าวโทษนายวิชัยของ ก.ล.ต. ข้างต้น เป็นเพียงจุดเริ่มต้นของกระบวนการบังคับใช้กฎหมายทางอาญาเท่านั้น ภายใต้กระบวนการนี้ การพิจารณาวินิจฉัยว่าบุคคลใดเป็นผู้กระทำผิดกฎหมายเป็นขั้นตอนในอำนาจการสอบสวนของพนักงานสอบสวน การสั่งฟ้องคดีของพนักงานอัยการ ตลอดจนการวินิจฉัยคดีซึ่งเป็นดุลพินิจ
ของศาลยุติธรรมตามลำดับ

การถูกกล่าวโทษในครั้งนี้ก็เป็นอีกหนึ่งสาเหตุที่ทำให้นายวิชัยเข้าข่ายมีลักษณะขาดความน่าไว้วางใจในการเป็นกรรมการและผู้บริหารของบริษัทที่ออกหลักทรัพย์และบริษัทจดทะเบียนและไม่สามารถเป็นกรรมการและผู้บริหารของบริษัทที่ออกหลักทรัพย์และบริษัทจดทะเบียนได้

อย่างไรก็ตาม ก่อนจะถึงวันนี้…วันที่สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) กล่าวโทษนายวิชัย ถาวรวัฒนยงค์ อดีตประธานกรรมการบริษัท อินเตอร์ ฟาร์อีสท์ เอ็นเนอร์ยี่ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) (IFEC) ต่อ ปอศ. กรณีปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริตจากการไม่เปิดเผยข้อมูลการผิดนัดชำระตั๋วแลกเงินและแจ้งให้กรรมการ IFEC และบุคคลที่ IFEC เปิดเผยผ่านตลาดหลักทรัพย์ฯ ว่าเป็นกรรมการรีบดำเนินการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นโดยเร็ว และชี้แจงเป็นรายบุคคล พร้อมเปิดเผยต่อสาธารณชนภายใน 7 วัน หรือภายในวันที่ 5 มีนาคม 2561

โดยเรื่องราวดังกล่าวผ่านมายาวนาน… “มหากาพย์ IFEC” …ก็ว่าได้…เหตุเกิดจาก IFEC ได้ผิดนัดชำระหนี้ตั๋วบี/อี, ผิดนัดชำระหนี้หุ้นกู้นับตั้งแต่ช่วงปลายเดือนธันวาคม 2559 ส่งผลให้มีการสืบสาวราวเรื่องไปจนพบต้นตอของเรื่อง คือ “วิชัย” แอบนำหุ้น บริษัท อินเตอร์ฟาร์อสท์ แคป แมเนจเม้นท์ จำกัด (ICAP) ซึ่งเป็นบริษัทที่ถือหุ้นของโรงแรมดาราเทวี ไปเป็นหลักประกันให้เจ้าหนี้ยืดจากหนี้ตั๋วบี/อี ที่มีมูลค่าเพียง 100 ล้านบาท โดยมีเจ้าหนี้คือบริษัทหลักทรัพย์แลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ จำกัด และสุดท้ายก็ปล่อยให้เกิดการผิดนัดชำระหนี้ดังกล่าว

ต่อมาพบการผิดนัดชำระหนี้ตั๋วบี/อี เพิ่มเติมช่วงต้นปี 2560 คิดเป็นมูลค่าถึง 200 ล้านบาท โดยมีบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนโซลาลิสเป็นเจ้าหนี้ และภายหลังพบหนี้ตั๋วบี/อีที่ต้องชำระเพิ่มขึ้นเป็น 3.50 พันล้านบาท และหุ้นกู้ที่จะครบกำหนดชำระเดือน พ.ย. 2560 อีก 3 พันล้านบาท รวมเป็น 6.50 พันล้านบาท

การกระทำดังกล่าวเป็นธุรกรรมที่ประธาน IFEC และกรรมการดำเนินการโดยไม่ผ่านกระบวนการตรวจสอบ เพราะขณะนั้น IFEC ไม่มีกรรมการตรวจสอบ และไม่ผ่านการรับรองจากผู้ถือหุ้น ส่งผลให้ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) สั่งขึ้นเครื่องหมาย SP ห้ามการซื้อขายทันที

ประเด็นดังกล่าวทำให้ผู้ถือหุ้นรายย่อยผนึกกำลังเสี่ยงแสดงความจำนงไม่ไว้วางใจต่อ “หมอวิชัย” ผ่านการประชุมผู้ถือหุ้นมา เริ่มตั้งแต่การประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้นครั้งที่ 1/2560 เมื่อวันที่ 25 ม.ค. 2560 ในการประชุมเพื่อเลือกคณะกรรมการบริษัทฯ แทนตำแหน่งที่ว่าง ขณะนั้นเป็น “นายทวิช เตชะนาวากุล” เจ้าของนิคมอุตสาหกรรมไฮเทค ซึ่งเป็นหนึ่งในผู้ถือหุ้นรายใหญ่ของ IFEC ได้เสนอตัวเข้ามาเป็นกรรมการ เพื่อฟื้นฟูกิจการของ IFEC ให้กลับมาขับเคลื่อนอีกครั้ง

โดยแผนงานชัดเจนในการคืนหนี้ให้กับสถาบันการเงิน พร้อมเดินหน้าธุรกิจ การเร่งปิดงบการเงิน เพื่อนำไปสู่การปลดเครื่องหมาย SP ซึ่งถือเป็นโจทย์ใหญ่ที่ท้าทายของ IFEC แต่ “วิชัย” ในฐานะประธานกรรมการ IFEC และประธานการในที่ประชุม กลับไม่เสนอรายชื่อคณะกรรมการของฝั่งของ “ทวิช” เข้าสู่การประชุม

สำหรับการประชุมผู้ถือหุ้นเมื่อวันที่ 25 ม.ค. 2560 ทางผู้ถือหุ้นแสดงจุดยืนด้วยการลงคะแนน ไม่เห็นชอบคณะกรรมการของ “หมอวิชัย” เสนอมาทั้งหมด และเกิดความโกลาหลขึ้นระหว่างประชุมทำให้มีผู้มาลงคะแนนเสียงไม่เพียงพอ ส่งผลให้ต้องมีการจัดประชุมขึ้นใหม่ ในรอบ 2 เมื่อวันที่ 14 ก.พ. 2560 มีวาระที่สำคัญคือ การแต่งตั้งกรรมการชุดใหม่ รอบนี้ประธาน IFEC เสนอรายชื่อทั้งสองฝั่ง แต่ในการประชุมครั้งนี้เกิดเหตุการณ์ที่ไม่คาดฝัน

เนื่องจากมีการประกาศใช้วิธีการลงคะแนนเลือกตั้งกรรมการ ด้วยวิธีการเทคะแนน หรือ Cumulative Voting ซึ่งหลายคนมองว่าเป็นวิธีการที่ผิดกฎหมาย และขัดข้อบังคับของบริษัท ซึ่งผลของการประชุมทำให้กรรมการ IFEC ในฝั่งของ “หมอวิชัย” ได้ที่นั่งกรรมการ 2 ท่าน ส่วนฝั่งของ “ทวิช” ได้รับการเลือกตั้ง 5 ท่าน

การได้ที่นั่งกรรมการผ่านไปไม่นานปัญหาก็ได้เกิดขึ้นอีกเมื่อกรรมการชุดใหม่ในฝั่งของ “ทวิช” ที่เพิ่งได้รับการแต่งตั้ง 5 ท่าน ต้องหมดวาระถึง 3 ท่าน ในเดือน เม.ย. 2560 ซึ่งส่งผลให้ฝั่งหมอวิชัยมีคะแนนเสียงมากกว่าฝั่งทวิช แล้วในที่สุดกรรมการฝั่งนายทวิช จึงได้ประกาศลาออก เนื่องจากเห็นว่าการแต่งตั้งและเลือกกรรมการดังกล่าวไม่ยุติธรรม จึงเกิดกระแสขึ้นอีกครั้งว่าการหมดวาระของบอร์ดใหม่นั้น เป็นแผนการที่หมอวิชัยวางแผนเอาไว้อยู่แล้ว

กระทั่งบริษัทได้จัดให้มีการประชุมสามัญผู้ถือหุ้นประจำปีในวันที่ 2 พ.ค. 2560 เพื่อเลือกตั้งกรรมการแทนกรรมการที่หมดวาระในการประชุมผู้ถือหุ้นอีกครั้ง โดยการประชุมในครั้งนี้มีการเลือกตั้งกรรมการแทนชุดเดิมที่หมดวาระ แล้วก็ยังคงเลือกใช้วิธีการเลือกตั้งแบบ Cumulative Voting ซึ่งผลที่ออกมาคือกลุ่มของ “หมอวิชัย” ได้รับการแต่งตั้งเป็นกรรมการเสียงข้างมาก ซึ่งผู้ถือหุ้นตัดสินใจยื่นหนังสือไปยังกรมทะเบียนธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ เพื่อคัดค้านการแต่งตั้งกรรมการ IFEC ขณะที่ได้ออกเสียงไม่รับรองผลการประชุมผู้ถือหุ้นในวันที่ 25 ม.ค. 2560 และในวันที่ 14 ก.พ. 2560

ต่อมาในวันที่ 29 มิ.ย. 2560 กลุ่มผู้ถือหุ้นรายย่อยได้ยื่นหนังสือทวงถามไปยังสำนักงาน ก.ล.ต. เพื่อให้พิจารณาดำเนินการแก้ปัญหาการใช้อำนาจโดยมิชอบและขัดต่อข้อบังคับของ นายวิชัย ถาวรวัฒนยงค์ ประธานกรรมการ IFEC ขณะที่ในวันที่ 5 ก.ย. 2560 ก.ล.ต.ได้กล่าวโทษหมอวิชัย ต่อกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเศรษฐกิจ ซึ่งการถูกกล่าวโทษดังกล่าวส่งผลให้หมดความน่าเชื่อถือขาดความน่าไว้วางใจในการดำรงตำแหน่งประธานและกรรมการบริษัท ส่งผลให้หมอวิชัยปลิวจากเก้าอี้ไปทันที

นอกจากนั้น ภายหลังการตรวจสอบกรมทะเบียนธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ มีคำวินิจฉัยว่าการเลือกตั้งกรรมการด้วยวิธี Cumulative Voting ของ IFEC เข้าข่ายมิชอบด้วยกฎหมาย และผิดข้อบังคับบริษัท นั่นหมายความว่าการประชุมทั้ง  2 ครั้งที่ “หมอวิชัย” ซึ่งดำรงตำแหน่งประธาน IFEC และประธานในที่ประชุมผู้ถือหุ้น เลือกใช้วิธีการ Cumulative Voting ขัดกฎหมาย ดังนั้นการทำธุรกรรมต่างๆ ของกรรมการ ย่อมไม่มีผลทางกฎหมาย ทำให้กรรมการในฝั่งของ “หมอวิชัย” กลายเป็นบอร์ดกำมะลอ

หลังจากคำวินิจฉัยดังกล่าวยังไม่มีหน่วยงานใดเข้ามาสะสางบอร์ดเถื่อน กลุ่มผู้ถือหุ้นรายย่อยจึงได้ทำการยื่นคำร้องต่อศาล และฟ้องอาญา มาตรา 157 ต่อสำนักงาน ก.ล.ต. ฐานละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ และไม่จัดการให้เบ็ดเสร็จเด็ดขาด ส่งผลให้ผู้ถือหุ้นยังคงเดือดร้อนนานนับปี โดยจะสรุปผลว่าศาลจะรับคำร้องดังกล่าวเป็นคดีหรือไม่ในวันที่ 16 ม.ค. 2561

โดยที่ผ่านมาผู้ถือหุ้นรายย่อยได้ทำหนังสือร้องเรียนเกี่ยวกับพฤติกรรมของประธาน IFEC ที่ขัดต่อกฎหมาย และขัดต่อหลักธรรมาภิบาล ไปยังหลายหน่วยงาน ไม่ว่าจะเป็น ตลท., ก.ล.ต.ในฐานะหน่วยงานกำกับดูแล ยื่นหนังสือร้องเรียนนายกรัฐมนตรีผ่านสำนักนายกฯ เพื่อมีคำสั่งให้หน่วยงานกำกับดูแลปฏิบัติตามหน้าที่ อีกทั้งยื่นหนังสือร้องเรียนไปถึงกรรมาธิการการเงินการคลังการธนาคาร และสถาบันการเงิน รัฐสภา เพื่อให้เข้ามาช่วยแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นกับบริษัท เนื่องจากสร้างความเสียหายให้กับผู้ถือหุ้นรายย่อยที่ลงทุนใน IFEC จำนวนกว่า 27,170 คน

ในที่สุดเมื่อวันที่ 6 ธ.ค. 2560 ทาง IFEC ได้ดำเนินการยื่นคำร้องขอให้ศาลแต่งตั้งผู้แทนชั่วคราวหรือผู้แทนเฉพาะกาล เป็นผู้แทนบริษัททำหน้าที่ประธานกรรมการเป็นการชั่วคราว เนื่องจากที่ผ่านมาบริษัทมีคณะกรรมการไม่เพียงพอที่จะมีอำนาจในการแก้ไขปัญหาหนี้ ทำให้บริษัทไม่สามารถดำเนินการตามแนวทางการปรับโครงสร้างหนี้ได้

ทั้งนี้หากมีคำสั่งศาลแต่งตั้งผู้แทนชั่วคราวหรือผู้แทนเฉพาะกาล บริษัทจะได้สามารถดำเนินการจัดการประชุมคณะกรรมการบริษัทเป็นการต่อไป เพื่อที่จะเรียกประชุมผู้ถือหุ้นเพื่ออนุมัติการปรับโครงสร้างหนี้ตามแนวทางที่เคยนำเสนอต่อที่ประชุมผู้ถือหุ้นกู้ของบริษัทในเวลาอันสมควร

ศาลได้นัดไต่สวนคำร้องดังกล่าวในวันที่ 18 ธ.ค. 2560 อย่างไรก็ตามในวันที่ 20 ธ.ค. 2560 ศาลแต่งตั้งผู้แทนชั่วคราวหรือผู้แทนเฉพาะกาลได้กำหนดวันนัดพิจารณาคดีเพื่อสืบพยานผู้ร้องและผู้คัดค้านในระหว่างวันที่ 10-13 ก.ค. 2561 เนื่องจากในวันที่ 18 ธ.ค. 2560 ได้มีผู้คัดค้านการยื่นคำร้องของบริษัท โดยหากมีคำสั่งศาลแต่งตั้งผู้แทนชั่วคราวหรือผู้แทนเฉพาะกาลแล้ว บริษัทจะสามารถดำเนินการจัดการประชุมคณะกรรมการบริษัทเป็นการต่อไป

เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นอันยาวนานของหุ้น IFEC จึงทำให้เป็นโรคเรื้อรังถึงปัจจุบันนี้เอง!!

Back to top button