หุ้นร่วง-หุ้นรุ่ง

รับทราบกันไปแล้วสำหรับผลประกอบการบริษัทจดทะเบียน (บจ.) ปี 2560 กำไร บจ. ใน SET และ mai รวมกันกว่า 9.86 แสนล้านบาท (เป็น บจ. ใน mai 4.97 พันล้านบาท) เพิ่มขึ้น 9.05% และเป็นตัวเลข “สถิติใหม่” ของตลาดหลักทรัพย์ฯเสียด้วย


ลูบคมตลาดทุน : ธนะชัย ณ นคร

รับทราบกันไปแล้วสำหรับผลประกอบการบริษัทจดทะเบียน (บจ.) ปี 2560

กำไร บจ. ใน SET และ mai รวมกันกว่า 9.86 แสนล้านบาท (เป็น บจ. ใน mai 4.97 พันล้านบาท) เพิ่มขึ้น 9.05% และเป็นตัวเลข “สถิติใหม่” ของตลาดหลักทรัพย์ฯเสียด้วย

หากเจาะลึกลงไปจะพบว่ามีหุ้นที่มีอัตรากำไรเพิ่มขึ้นในปี 2560 หากคิดเป็นรายบริษัทแล้ว กลับมีจำนวนลดลง

และในทางกลับกัน

บจ.ที่มีกำไรลดลง กลับมียอดจำนวนบริษัทเพิ่มขึ้น

ในบทวิเคราะห์ของ บล.เอเซีย พลัส ให้ข้อมูลไว้น่าสนใจว่า กำไรของ บจ. ในปี 2560 เพิ่มขึ้น 234 บริษัท

แต่หากเทียบกับปี 2559 พบว่า บจ.ที่มีกำไรเพิ่มขึ้นมีจำนวน 256 บริษัท

ส่วนกำไรของ บจ. ในปี 2560 ที่ปรับลดลงมีอยู่ 204 บริษัท

เมื่อเทียบกับปี 2559 ที่มีอยู่จำนวน 186 บริษัท

บริษัทที่พลิกมีกำไรมี 28 บริษัท ขณะที่ปี 2559 มีจำนวน  36 บริษัท

และบริษัทที่พลิกขาดทุนในปี 2560 มี 32 บริษัท ขณะที่ปี 2559 มีจำนวน 20 บริษัท

ตัวเลขนี้แสดงให้เห็นว่า แม้ภาพรวมกำไรของ บจ. ปี 2560 จะเพิ่มขึ้น

แต่ก็จะไปกระจุกตัวอยู่ในบางกลุ่มธุรกิจ และในหุ้นบางตัว เช่น ในกลุ่มพลังงาน กลุ่มปิโตรเคมี  กลุ่มขนส่ง

กลุ่มที่กำไรชะลอตัวลง กลับขายออกไปยังหลายกลุ่ม เช่น กลุ่มธนาคารพาณิชย์ กลุ่มวัสดุก่อสร้าง ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ ไอซีที บันเทิง และเหล็ก

ในบทวิเคราะห์ของ บล.กสิกรไทย ก็ระบุข้อมูลของ บจ. ปี 2560 ไว้เช่นเดียวกับ บล.เอเซีย พลัส

เริ่มจากกลุ่มหุ้นที่มีผลประกอบการ “ดีกว่าคาด” อย่างมีนัยสำคัญ

เช่น กลุ่มค้าปลีก มีหุ้น BJC และ COM7

กลุ่มการเงิน คือ KTC-MTLS และ SAWAD

กลุ่มนิคมอุตสาหกรรม คือ AMATA-TICON กลุ่มปิโตรเคมี IVL, กลุ่มขนส่ง BTS และ THAI, กลุ่มโรงพยาบาล BCH-BDMS-BH และ THG

มาที่กลุ่มที่มีผลประกอบการ “แย่กว่าคาด” กันบ้าง

กลุ่มอาหาร CBG-TKN-SAPPE

กลุ่มรับเหมาฯ CK-STEC-TTCL-STP, กลุ่มสื่อสาร INTUCH-THCOM-TRUE, กลุ่มอสังหาฯ ORI-PSH-SC กลุ่มสาธารณูปโภค BGRIM-BPP-CKP-DEMCO-EA-EGCO-GLOW- GPSC-GULF-RATCH

ส่วนพลังงานและชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ โดยรวมถือว่าเป็นไปตามคาด

มีคำถามต่อว่า แล้วแนวโน้มปี 2561 จะเป็นอย่างไร

เมื่อวานนี้ (12 มี.ค.) สมาคมนักวิเคราะห์หลักทรัพย์ หรือ IAA เปิดเผยข้อมูลจากการสำรวจความเห็นนักวิเคราะห์ และผู้จัดการกองทุนทั้งดัชนีในช่วง 1 เดือนข้างหน้า และเป้าหมายในปี 2561

พบว่า 55.6% มองดัชนีตลาดหุ้นไทยในระยะสั้นยังคงไม่เปลี่ยนแปลงไปมาก

ขณะที่ 29.6% มองว่าตลาดหุ้นจะเปลี่ยนแปลงในทิศทางบวก

และ 14.8% มีมุมมองต่อตลาดหุ้นในทิศทางลบ

ส่วนผู้จัดการกองทุนมองว่าดัชนีราคาหุ้นไทยเดือนมีนาคม 2561 เฉลี่ยอยู่ที่ 1,818 จุด

และภาพที่ยาวขึ้นไปถึงสิ้นปี 2561 ทั้งนักวิเคราะห์ และผู้จัดการกองทุนคาดการณ์จุดต่ำสุดของดัชนีราคาหุ้นไทย ระหว่างปีมีค่าเฉลี่ย 1,727 จุด ด้านจุดสูงสุดของดัชนีในระหว่างปีเฉลี่ย 1,910 จุด

ผลสำรวจความเห็นต่อเป้าหมายดัชนี ณ วันสิ้นปี 2561 มีค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 1,871 จุด

โดยมีผู้ตอบคำถามที่คาดว่าดัชนี ณ สิ้นปี 2561 จะอยู่ต่ำกว่า 1,800 จุด เพียง 3.85% เท่านั้น

เห็นตัวเลขแบบนี้แล้วก็เบาใจ

ส่วนหุ้นที่นักวิเคราะห์ต่างแนะนำลงทุนกัน เช่น BBL, CPALL, KBANK, ERW และ PTTGC

กลับมาที่บทวิเคราะห์ของ บล.เอเซีย พลัส ได้มองหุ้นกลุ่มที่น่าลงทุนและมีแนวโน้มผลประกอบการปี 2561 เติบโตต่อ เช่น กลุ่มพลังงาน 15.5%, กลุ่มการเงิน 11.7%, กลุ่มปิโตรเคมี 11.6%

กลุ่มที่มีแนวโน้มเติบโตติดลบ เช่น อาหาร เหล็ก สื่อ

และที่หนักสุด คือ “กลุ่มรับเหมาก่อสร้าง” จะติดลบ 12.2%

Back to top button