ปิดฟ้าด้วยฝ่ามือ ?

เมื่อวานนี้ คณะรัฐมนตรี ได้มีมติรับทราบหลักการของการออกพระราชกำหนดเรื่องสินทรัพย์ดิจิทัล ซึ่งระบุว่ากำลังส่งไปให้กับคณะกรรมการกฤษฎีกา เพื่อที่จะออกเป็นกฎหมายมาใช้กำกับดูแลธุรกรรมดังกล่าว โดยอ้างว่า "ต้องการกำกับดูแลธุรกิจที่เกี่ยวกับสินทรัพย์ดิจิทัล ไม่ให้ประชาชนถูกฉ้อโกง และมีการฟอกเงินเกิดขึ้น แต่ก็ไม่ได้ปิดโอกาสการทำธุรกิจนี้"


พลวัตปี 2018 : วิษณุ โชลิตกุล

เมื่อวานนี้ คณะรัฐมนตรี ได้มีมติรับทราบหลักการของการออกพระราชกำหนดเรื่องสินทรัพย์ดิจิทัล ซึ่งระบุว่ากำลังส่งไปให้กับคณะกรรมการกฤษฎีกา เพื่อที่จะออกเป็นกฎหมายมาใช้กำกับดูแลธุรกรรมดังกล่าว โดยอ้างว่า “ต้องการกำกับดูแลธุรกิจที่เกี่ยวกับสินทรัพย์ดิจิทัล ไม่ให้ประชาชนถูกฉ้อโกง และมีการฟอกเงินเกิดขึ้น แต่ก็ไม่ได้ปิดโอกาสการทำธุรกิจนี้”

แม้จะยังไม่มีรายละเอียดที่ชัดเจน แต่สิ่งที่ควบมาด้วยคือเรื่องการเก็บภาษีธุรกรรมดังกล่าวที่น่าสนใจเพราะ ที่ประชุม ครม.ยังเห็นชอบหลักการร่าง พ.ร.ก.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่…) พ.ศ…. (การจัดเก็บภาษีจากทรัพย์สินดิจิทัล) โดยกำหนดนิยามของทรัพย์สินดิจิทัล ประเภทเงินได้ของเงินได้เนื่องมาจากทรัพย์สินดิจิทัล และการหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่ายสำหรับเงินได้เนื่องมาจากทรัพย์สินดิจิทัล เพื่อให้ผู้มีเงินได้เนื่องมาจากทรัพย์สินดิจิทัลและผู้ประกอบธุรกิจเกี่ยวกับทรัพย์สินดิจิทัลเสียภาษีตามประมวลรัษฎากรอย่างถูกต้องครบถ้วนเช่นเดียวกันกับผู้มีเงินได้เนื่องมาจากทรัพย์สินอื่นๆ และผู้ประกอบธุรกิจเกี่ยวกับทรัพย์สินอื่นๆ

สินทรัพย์ดิจิทัลที่จะถูกเรียกเก็บภาษีนั้นจะมีข้อกำหนดนิยามไว้ในมาตรา 39 แห่งประมวลรัษฎากรว่าประกอบด้วย (1) คริปโตเคอร์เรนซี (2) โทเคนดิจิทัล และ (3) ทรัพย์สินในรูปหน่วยข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์อื่นใดที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังประกาศกำหนด

รายละเอียดของการจัดเก็บนั้น ระบุว่าเป็นธุรกรรมใน มาตรา 40(4)(ซ)ที่กำหนดว่าเป็น… (ซ)เงินส่วนแบ่งของกำไรหรือผลประโยชน์อื่นใดที่ได้จากทรัพย์สินดิจิทัล …หรือ (ฌ) ผลประโยชน์ที่ได้รับจากการโอนทรัพย์สินดิจิทัล ทั้งนี้ เฉพาะซึ่งตีราคาเป็นเงินได้เกินกว่าที่ลงทุน โดยกำหนดอัตราภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาหัก ณ ที่จ่ายในอัตรา 15% สำหรับเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40(4)(ซ) และมาตรา 40(4)(ฌ) โดยผู้มีเงินได้ต้องนำไปรวมคำนวณเงินได้สุทธิเพื่อเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาด้วย

นอกจากนี้แล้วก็คงต้องรออย่างเดียว แต่ในระหว่างการรอก็มีคำถามล่วงหน้าว่า รายละเอียดของการออกกฎหมายที่ว่านี้จะมีเนื้อหาที่มีลักษณะ “กว้างและครอบคลุมธุรกรรมของสินทรัพย์ดิจิทัลมากน้อยแค่ไหน” เป็นความท้าทายที่สำคัญเพราะ

  • หากออกกฎหมายเข้มงวดมากเกินไป เช่น มาตรการออกใบอนุญาต หรือ กำหนดวงเงินที่เข้มงวดในการจะซื้อขายสินทรัพย์ดังกล่าว หรือ ฯลฯ ก็อาจทำให้ตลาดธุรกรรมนี้ไม่เกิดขึ้นในเมืองไทย แต่จะไปโผล่ในตลาดที่อื่นแทน ทำให้เสียโอกาสในการพัฒนาหรือระดมทุนไป
  • หากออกกฎหมายย่อหย่อนเกิน หรือไม่ทันยุค ก็อาจจะเปิดช่องให้กับการฉ้อฉล หรือใช้เสรีภาพเกินเลยอย่างสบายใจ 

ที่ผ่านมา ความสำเร็จที่เกินคาดจากการพรีเซลสินค้าใหม่ที่เรียกว่า ” ดิจิทัล โทเคน” ที่เป็นส่วนหนึ่งของธุรกรรมดิจิทัลแนวใหม่ ซึ่งเท่ากับตอกย้ำว่ามีตลาดยอมรับความกล้าหาญของนักบุกเบิกนวัตกรรมที่สามารถสร้างปรากฏการณ์ “หลักหมุดใหม่” ของธุรกรรมร่วมสมัย แม้ว่ายังต้องผ่านการพิสูจน์ผลลัพธ์ในระยะยาวกันต่อไป

นวัตกรรมของสินทรัพย์ดิจิทัล (ที่ปัจจุบันมี บิทคอยน์ เป็นสัญลักษณ์ และเป้าเรดาร์โดดเด่นสุด) ซึ่งมีองค์ประกอบสำคัญหลายประการที่ต้องทำความเข้าใจ เช่น รหัสในการเขาถึงแพลตฟอร์ม หรือช่องทาง หรือวิธีการอื่นๆ ที่มีรายละเอียดค่อนข้างซับซ้อน ได้กลายสภาพเป็น “ปีศาจแห่งยุคสมัย” ที่ท้าทายและปฏิเสธอำนาจของธนาคารทั้งระบบทุกแห่ง เพราะมีจุดยืนทางด้านปรัชญาที่เรียกร้องการกระจายอำนาจจากส่วนกลางของธุรกรรม (แท้จริงแล้วไม่ถึงกับกระจายทั้งหมดอย่างที่อ้างถึงเชิงทฤษฎีเสียทีเดียว แค่มีศูนย์กลางหลายแห่งที่ยากต่อการทำลาย และมีระดับของความปลอดภัยที่ต่างกัน) ตรงกันข้ามสุดขั้วกับปรัชญาของธุรกิจธนาคาร (ที่มีธนาคารกลางเป็นตัวการหลัก) ที่เน้นการรวบอำนาจเข้าสู่ศูนย์กลาง

หัวใจหลักของสินทรัพย์ดิจิทัล คือ การตัดเงินสด (ตัวแทนของธนาคารกลาง) และตัดธนาคาร (ต้นทุนตัวกลางของธุรกรรม) ทิ้งไป โดยที่สามารถทำผ่านอุปกรณ์พกพามีค่าเท่ากับการตัดค่าใช้จ่ายได้มหาศาล แต่เหมาะกับธุรกรรมระหว่างประเทศที่ต้องทำข้ามสกุลเงิน เพราะประหยัดต้นทุนทำธุรกรรมมากกว่า

จุดเด่นสำคัญที่เหนือกว่าสินทรัพย์ทั่วไปมาก คือ สามารถนำไปเก็งกำไรกันได้ และมีความโปร่งใสที่ตรวจสอบไม่ยาก

เป้าหมายของผู้พัฒนาทรัพย์สินดิจิทัลทุกรูปแบบ ซึ่งเน้นออกแบบตัวระบบไร้ศูนย์กลาง และไร้เจ้าของชัดเจน ผ่านกระบวนการทำงานด้วยเครือข่ายคอมพิวเตอร์กับตัวผู้ใช้ (User) เองเพื่อเก็บข้อมูลธุรกรรม และใช้คอมพิวเตอร์ของนักขุด (Miner) เพื่อประมวลผล ทำให้แนวทางพัฒนาระบบเงินดิจิทัล เบี่ยงเบนออกไปจากการปฏิเสธ “การรวบอำนาจเก่า” มาเป็นการ “ท้าทายอำนาจเก่า”โดยตรง ซึ่งหมายความว่า ยิ่งทรัพย์สินดิจิทัลได้รับความนิยมมากเท่าใด การถอดรื้อระบบ (ใกล้เคียงกับการปฏิวัติวงการเงินในอดีต) ที่เข้มข้นขึ้น นอกจากจะทำให้มูลค่าของสกุลเงินสำคัญของโลกถูก “ดูเบา” หรือ “ลดเครดิต” ในสายตาของนักลงทุนด้วยอัตราเร่งแล้ว ยังเป็นผลให้ระบบธนาคารถูกสั่นคลอนอย่างรุนแรงโดยปริยาย

ท่าทีของผู้บริหารธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กับสมาคมธนาคารไทยในทิศทางเดียวกันอย่างทันทีทันควัน “…ร่วมป้องกันไม่ให้การทำธุรกรรมดังกล่าวถูกใช้เป็นช่องทางในการกระทำผิดกฎหมาย…” ว่าไปแล้วมีลักษณะของ “เกลียดตัวกินไข่” เพราะธนาคารบางแห่ง เช่น ธนาคารไทยพาณิชย์ก็ยังทุ่มเงินหลายร้อยล้านบาท เข้าถือหุ้นในบริษัท Ripple และโฆษณาว่าเป็นนวัตกรรมการโอนเงินที่รวดเร็วมาหลายปีแล้ว ในฐานะที่เป็นส่วนหนึ่งของธุรกรรมสินทรัพย์ดิจิทัลโดยตรง

อีกไม่นานเกินรอก็คงได้รู้ว่า เมื่อกฎหมายนี้มีผลบังคับ สงครามชักเย่อระหว่างสินทรัพย์ดิจิทัล กับไดโนเสาร์ทางการเงิน จะเข้มข้นแค่ไหน และใครจะได้รับประโยชน์จากสิ่งที่กำลังจะเกิดขึ้น

Back to top button