มากกว่าแค่ภาวะผู้นำพลวัต2015

ไม่มีใครรู้ว่าของจริงหรือปลอมสำหรับกรณีของเจ้าสัวธนินท์ เจียรวนนท์ แห่งกลุ่มซีพี ที่สื่อสารผ่านสื่อบางชนิดเริ่มจากออนไลน์ในกลุ่มซีพีแล้วแพร่กระจายออกไป หลายช่องทางแต่น่าจะเชื่อได้ว่าเป็นของจริงมากกว่า


ไม่มีใครรู้ว่าของจริงหรือปลอมสำหรับกรณีของเจ้าสัวธนินท์ เจียรวนนท์ แห่งกลุ่มซีพี ที่สื่อสารผ่านสื่อบางชนิดเริ่มจากออนไลน์ในกลุ่มซีพีแล้วแพร่กระจายออกไป หลายช่องทางแต่น่าจะเชื่อได้ว่าเป็นของจริงมากกว่า

ประเด็นสำคัญของการสื่อสารดังกล่าวคือตอบเสียงวิพากษ์วิจารณ์ จากสื่อออนไลน์ที่เรียกร้องให้เลิกใช้บริการของร้านค้าปลีกเซเว่น-อีเลฟเว่นที่บริหารโดยบริษัท ซีพีออลล์ จำกัด (มหาชน) หรือ CPALL ในช่วง 1 เดือนที่ผ่านมา

ข้อความที่เจ้าสัวธนินท์ ต้องการสื่อสารนั้นถูกอ้างว่ามาจากการประชุมด่วนคณะผู้บริหารซีพีนัดพิเศษ (ไม่ชัดเจนว่าเมื่อใดและที่ไหน) จากการเรียกประชุมฉุกเฉินคณะผู้บริหาร เพื่อประเมินสถานการณ์ พร้อมกับกำหนดแนวทางในการชี้แจงทำความเข้าใจกับประชาชน มีใจความว่า

“สิ่งที่สังคมวิพากษ์วิจารณ์ขณะนี้ เราต้องขอบคุณที่ช่วยเป็นกระจกส่องให้เรา เราต้องเปิดใจกว้างรับฟังเสียงสะท้อนจากสังคม ต้องยอมรับว่าไม่มีใครทำอะไรถูกต้อง 100% เราต้องกลับมาทบทวนตัวเรา หลายเรื่องที่เราคิดว่าทำดีแล้ว อาจยังไม่ดีพอ และมีหลายเรื่องที่เราทำดี สังคมก็ยังไม่รู้ ที่สำคัญต้องชี้แจงความจริงเท่านั้น เพราะสิ่งที่เครือเจริญโภคภัณฑ์ยึดมั่น และทำมาตลอดคือปณิธาน 3 ประโยชน์ หมายถึงประเทศชาติ และประชาชนต้องได้ประโยชน์ก่อนเสมอ ขณะที่ผลประโยชน์ของบริษัทจะเป็นลำดับสุดท้าย”

ท่าทีดังกล่าว นอบน้อมถ่อมตัวอย่างยิ่งตามปรัชญาขงจื๊อ ที่เรียกว่า ปรัชญาต้นไผ่ มีสาระสำคัญว่า ไผ่ที่ลำสูงเท่าใดยิ่งต้องค้อมหัวลงต่ำมากฉันใดคนที่เป็นผู้นำก็ต้องน้อมกายลงต่ำเพื่อลดอหังการส่วนตนฉันนั้น เปรียบได้กับนิทานอีสปเรื่องต้นหญ้ากับต้นไทรใหญ่

การสื่อสารดังกล่าว มีความหมายเชิงบูรณาการ 2 ด้านหลักคือ…

-ลดกระแสวิพากษ์วิจารณ์เชิงลบที่มีต่อ CPALL ลงไป เพราะเครือข่ายของธุรกิจดังกล่าวถูกถือเป็นสัญลักษณ์โดยตรงถึงซีพีทั้งเครือ เฉกเช่นเดียวกับบริษัทอย่างเจริญโภคภัณฑ์อาหาร หรือ CPF และทรู คอร์ปอเรชั่น

-แสดงภาวะความเป็นผู้นำของเจ้าสัวธนินท์ เจียรวนนท์ ให้โดดเด่นยิ่งขึ้นในฐานะผู้นำสูงสุดของกลุ่มซีพี

คำถามตามมาก็คือการสื่อสารดังกล่าวจะได้ผลมากน้อยแค่ไหน

ตอบได้ว่า สำหรับข้อแรกนั้น ยังต้องการเวลาในการให้คำตอบพอสมควร เพราะการขานรับสารดังกล่าว ต้องการมากกว่าแค่คำพูดในลักษณะ “คำขอโทษ” ทางอ้อมแบบนี้ แต่ต้องการกระบวนการขับเคลื่อนในทางปฏิบัติที่เป็นรูปธรรมด้วยซึ่งมากกว่าคำพูด

ส่วนข้อหลังนั้น ด้านหนึ่งทำให้ภาพลักษณ์เจ้าสัวโดดเด่นยิ่งขึ้น แต่ได้เปิดเผยจุดอ่อนในลักษณะ “ส้นเท้าอาคีลีส” ของทีมบริหารเครือซีพีออกมาชัดเจนว่านอกเหนือจากเจ้าสัวธนินท์แล้วคนอื่นๆ ที่เหลือนั้น มีจุดอ่อน ด้านภาวะความเป็นผู้นำอย่างยิ่งถึงขั้นต้องทำให้เจ้าสัว (อายุย่างเข้าสู่วัยที่สมควรพักผ่อนได้แล้ว) ต้องออกโรง “เปลืองตัว” เพื่อแก้ปัญหาภาพลักษณ์ที่เกิดขึ้นในทางลบจนกลายเป็นกระแสสังคม

หากมองย้อนหลังไปจะเห็นได้ว่านี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่ซีพีมีปัญหาถูกกระแสสังคมโจมตีหรือต่อต้านแล้วผู้บริหารของเครือข่ายปล่อยปละละเลยหรือแก้ปัญหาในลักษณะ “เกาไม่ถูกที่คัน” เพราะ “ส่องกระจกผิด”

กรณีของ CPALL นั้นมีกระแสมานานแล้วว่าเดินเกมรุกทางธุรกิจที่เติบใหญ่อย่างมากรุกไล่ด้วยการเดินเกม “หมากล้อม” ซับซ้อนซึ่งทำให้แฟรนไชส์ค้าปลีก 7-Eleven ของสหรัฐเป็นที่รู้จักทั่วประเทศไทยด้วยสาขาและเครือข่ายมากเป็นที่สองของโลกรองจากญี่ปุ่น ซึ่งเป็นความใหญ่ที่สร้างปัญหาตามมาเพราะเบียดขับคู่แข่งให้ออกจากการแข่งขันและยังสร้างปัญหาลูกค้าของตนเอง

ก่อนหน้าปัญหาเรื่อง “สยามบานาน่า” CPALL ถูกวิพากษ์ว่า ไร้คุณธรรม โดยทำลายแฟรนไชส์ของตนเองอย่างโหดเหี้ยม เห็นร้านแฟรนไชส์ที่ไหนขายดี จะต้องเปิดสาขาของตัวเองแข่งแบบ “หมากล้อม” บีบคั้นให้แฟรนไชส์เจ๊งไป

กระแสวิพากษ์ดังกล่าวจริงเท็จไม่ได้รับการพิสูจน์ทั้งเชิงปริมาณและคุณภาพ แต่เป็นกระแสที่ปฏิเสธไม่ได้ว่ามีอยู่จริง และมาระเบิดขึ้นเมื่อมี “ฟางเส้นสุดท้าย” กรณีของสยามบานาน่าขึ้นมาตอกย้ำถึงความโหดเหี้ยมของผู้บริหาร CPALL ที่คำนึงแต่ความสำเร็จของตนอย่างลำพอง

ปฏิกิริยาของผู้บริหารผ่านทางงานประชาสัมพันธ์ที่เกิดขึ้นและรับรู้กันในแวดวงสื่อคือท่าทีอหังการในลักษณะว่า มดตัวเล็กๆ โวยวายเพื่อกล่าวหาว่าช้างรังแกเป็นการสร้างความโด่งดังให้มดเองช้างไม่จำเป็นต้องตอบโต้อะไร

ท่าทีดังกล่าวเป็นการสะท้อนถึงความล้มเหลวของภาพลักษณ์องค์กรที่ไม่ควรได้รับการให้อภัยอย่างยิ่งและการที่ เจ้าสัวธนินท์ต้องเปลืองตัวมาออกโรง ก็ยิ่งสะท้อนให้เห็นว่า องค์กรขนาดใหญ่อย่างซีพีนั้นแม่ทัพรองไร้คุณภาพที่เข้าข่าย “ไม่เห็นโลง ไม่หลั่งน้ำตา”

ความบกพร่องดังกล่าวเป็นมากกว่าแค่ให้เจ้าสัวธนินท์ออกโรงมาเอง แต่ต้องถึงขั้นที่สามารถชี้ได้ว่า ถึงเวลาสำหรับการทบทวนเพื่อ “ยกเครื่อง” ผู้บริหาร และทีมงานด้านภาพลักษณ์องค์กรครั้งใหญ่เสียที

ไม่อย่างนั้น เจ้าสัวธนินท์จะตกอยู่ในสภาพ “เล่าปี่ยุคก่อนขงเบ้ง” มากขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งไม่ใช่สถานการณ์ที่น่าพึงพอใจนัก

ปัญหาของภาพลักษณ์ซีพียามนี้ เป็นมากกว่า “สุนัขฉี่รดเสาไฟฟ้า” อย่างแน่นอนไม่ว่าจะมองจากมุมไหน

เว้นเสียแต่ว่าจะมองด้วยท่าทีของราชินีให้ร้ายผู้เพียรถามกระจกวิเศษว่า “จงบอกมาว่าผู้ใดงามล้ำเลิศในปฐพีนี้มากกว่าตัวข้า” นั่นก็เป็นอีกเรื่อง

Back to top button