พาราสาวะถี

วันศุกร์ที่ผ่านมาราชกิจจานุเบกษาประกาศใช้แผนปฏิรูปประเทศ 11 ด้าน มีผลตั้งแต่ 7 เมษายนที่ผ่านมา น่าสนใจ คงหนีไม่พ้นแผนการปฏิรูปประเทศด้านการเมือง สิ่งที่เห็นหลักๆ คือการเสนอให้รัฐบาลสนับสนุนการออกพระราชบัญญัติการเสริมสร้างวัฒนธรรมทางการเมืองในระบอบประชาธิปไตย ในที่นี้ไม่ทราบเจตนาว่าเพื่ออะไร เพราะความจริงสิ่งสำคัญสำหรับวัฒนธรรมตามระบอบประชาธิปไตยที่ทั่วโลกยึดถือ คือให้ประชาชนมีสิทธิและเสรีภาพเท่าเทียมกัน


อรชุน

วันศุกร์ที่ผ่านมาราชกิจจานุเบกษาประกาศใช้แผนปฏิรูปประเทศ 11 ด้าน มีผลตั้งแต่ 7 เมษายนที่ผ่านมา น่าสนใจ คงหนีไม่พ้นแผนการปฏิรูปประเทศด้านการเมือง สิ่งที่เห็นหลักๆ คือการเสนอให้รัฐบาลสนับสนุนการออกพระราชบัญญัติการเสริมสร้างวัฒนธรรมทางการเมืองในระบอบประชาธิปไตย ในที่นี้ไม่ทราบเจตนาว่าเพื่ออะไร เพราะความจริงสิ่งสำคัญสำหรับวัฒนธรรมตามระบอบประชาธิปไตยที่ทั่วโลกยึดถือ คือให้ประชาชนมีสิทธิและเสรีภาพเท่าเทียมกัน

การเลือกตั้งก็เป็นส่วนหนึ่งที่จะได้ตัวแทนประชาชนไปบริหารประเทศ จะดีจะเลวก็ใช้กลไกของระบบรัฐสภาเป็นเครื่องพิสูจน์ ถ้าจะสร้างวัฒนธรรมทางการเมืองกันจริง ต้องไม่มีพวกกล่าวหาว่าเสียงของคนกรุงเทพฯและคนต่างจังหวัดมีประสิทธิภาพไม่เท่ากัน หากยังคิดกันได้เท่านี้ ที่อ้างประชาธิปไตยก็แค่กะลาครอบเพื่อสร้างภาพให้ตัวเองว่าเป็นคนที่ใจกว้าง พร้อมรับฟังความเห็นทุกพวกทุกฝ่าย แต่ในความเป็นจริงทั้งตัวและหัวใจคือพวกเผด็จการนั่นเอง

ที่เห็นอีกอย่างในกฎหมายปฏิรูปด้านการเมืองคือเรื่องจัดให้มีสถาบันหรือองค์กรคลังปัญญากลาง ในการทำหน้าที่ศึกษา วิจัยและสร้างสรรค์สติปัญญา เพื่อเป็นข้อเสนอในการปฏิรูปและพัฒนาการเมืองอย่างต่อเนื่อง เรื่องเช่นนี้ไม่จำเป็นต้องให้มีใครไปศึกษา แค่ขจัดปัญหาพวกเล่นนอกกติกา เอะอะไม่พอใจก็ก่อม็อบโบกมือดักกวักมือเรียกทหารออกมาปฏิวัติ เท่านี้ก็จะเป็นการเมืองที่สร้างสรรค์แล้ว

ส่วนเรื่องที่เขียนไว้เสนอให้รัฐบาลไม่ควรสนับสนุนกลุ่มคนหรือม็อบให้ออกมาแสดงออก เพื่อสนับสนุนหรือเชียร์รัฐบาล รวมทั้งให้มีมาตรการป้องกันมิให้ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง หรือเจ้าหน้าที่ของรัฐอยู่เบื้องหลัง หรือสนับสนุนม็อบในทางการเมือง พร้อมมีมาตรการที่เป็นสภาพบังคับ โดยหากผู้ใดฝ่าฝืนอาจถูกถอดถอนออกจากตำแหน่งได้ โดยคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ

มันก็เป็นได้แค่ตัวหนังสือ เพราะในทางปฏิบัติมันมีการเลี่ยงบาลีกันมาตลอด เห็นได้ชัดจากม็อบชัตดาวน์ประเทศที่ผ่านมา แกนนำหลักเป็นใครหน้าไหนก็เห็นๆกันอยู่ แค่อ้างว่าลาออกจากพรรคที่ตัวเองสังกัดก็ประกาศได้แล้วว่า ไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับพรรคการเมืองนั้น เมื่อก่อม็อบล้มรัฐบาลฝ่ายตรงข้ามสำเร็จ ก็หวนคืนสู่พรรคนั้นอีกครั้ง ถามดังๆ ว่ากฎหมายเขียนครอบคลุมถึงขนาดนั้นหรือเปล่า

ไม่เพียงเท่านั้น เอาเข้าจริงเมื่อเข้าสู่กระบวนการต้องวินิจฉัยโดยองค์กรอิสระดังว่า ก็จะเกิดคำถามอีกว่าพวกไหนที่ไปเกี่ยวข้องกับการก่อม็อบ อย่าคิดว่าไม่มีผล เพราะผลจากการวินิจฉัยในหลายๆ เรื่องที่ผ่านมา ชี้ชัดว่า ไร้มาตรฐานหรือเข้าข่ายเลือกปฏิบัติอย่างชัดเจน ถ้าองค์กรที่เกี่ยวข้องกับการตีความยังวางตัวเป็นกลางไม่ได้ ก็อย่าหวังว่าการขายฝันที่เป็นตัวหนังสือนั้นจะเป็นจริงได้ในทางปฏิบัติ

อีแค่เรื่องรถไฟความเร็วสูงซึ่งผ่านการวินิจฉัยในยุครัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร กับความเห็นที่กลายเป็นประวัติศาสตร์อันอัปยศอดสูเรื่องถนนลูกรังยังไม่หมดไปจะมาพัฒนาอะไรเทือกนี้ไม่ได้ เท่านี้ก็เห็นได้แล้วว่า องค์กรที่ต้องชี้ขาดความเป็นไปของบ้านเมือง ยึดหลักการ ปฏิบัติตามข้อกฎหมายอย่างเคร่งครัด หรือใช้ความรู้สึกและอคติส่วนตัวเป็นที่ตั้งกันแน่

แผนปฏิรูปประเทศที่มาสำเร็จกันในช่วงนี้หลังจากดำเนินการกันมาเกือบ 4 ปี มีบางเสียงค่อนขอดว่า มันปะเหมาะพอดีกับจังหวะที่คนในรัฐบาลเกี่ยวข้องต่อการเตรียมการจัดตั้งพรรคเพื่อรับศึกเลือกตั้งที่ขีดเส้นกันไว้ในเดือนกุมภาพันธ์ปีหน้าหรือเปล่า เพราะถ้าจะหาจุดขายในแง่ผลงานของรัฐบาลยังคลำเป้าไม่เจอ ถ้ายกเอาแผนปฏิรูปมาโชว์ก็ยังพอจะพูดได้ว่าเริ่มจะเป็นรูปเป็นร่างบ้างแล้ว

สักพักคงจะตามมาโดยยุทธศาสตร์ชาติที่จะต้องคลอดออกมาให้เป็นที่ฮือฮา ส่วนจะจำกัด ขีดเส้นให้รัฐบาลใหม่เดินหน้าประเทศได้ยากหรือไม่นั่นอีกเรื่อง แต่ในเมื่อวางแผนกันไว้แยบยลและมั่นใจว่า รัฐบาลหน้าก็คนหน้าเดิม จึงไม่น่าจะเป็นอุปสรรคใดๆ ใครเขียนกฎหมายก็เป็นไปเพื่อคนพวกนั้น ส่วนจะเป็นชนวนขัดแย้งรอบใหม่หรือเปล่า ค่อยไปวัดดวงกันเอา ที่เบาใจกันได้คือขุมกำลังในส่วนของกองทัพที่จะเข้ามากระชับพื้นที่ยุติความวุ่นวายถ้าเกิดขึ้นจริง ก็คนกันเองพวกเดียวกันทั้งนั้น

สำหรับพรรคใหม่ภายใต้สมคิดคอนเน็คชั่น วันนี้คงไม่ต้องปิดกันอีกต่อไปแล้ว นอมินีที่จะไปนั่งบัญชาการในพรรคแทน สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ ที่หลบอยู่หลังฉาก หนีไม่พ้น อุตตม สาวนายน รัฐมนตรีอุตสาหกรรม กับ สนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ เด็กในคาถาของเฮียกวง ส่วนแนวร่วมก็หนีไม่พ้นนักการเมืองอดีตคนชายคาเดียวกันกับพรรคนายใหญ่ทั้งสิ้น

ไม่ว่าจะเป็น สมศักดิ์ เทพสุทิน แกนนำกลุ่มมัชฌิมาที่มาถึงวันนี้ยังไม่มีทีท่าว่าจะนำลิ่วล้อตั้งพรรคใหม่ เช่นเดียวกับตระกูลสะสมทรัพย์แห่งนครปฐม ภาพถ่ายคู่ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ครั้งนั้นไม่ว่าจะปฏิเสธกันอย่างไรก็น่าจะเป็นใบเสร็จตีตั๋วร่วมองคาพยพของคณะรัฐประหารคสช.แน่นอน แม้มีข่าวว่าแกนนำพรรคเพื่อไทยจะแต่งตัวไปสู่ขอกลับบ้านหลังเดิมก็ตาม

สูตรสำเร็จทางการเมืองว่าด้วยการระดมพลตั้งพรรคของคณะเผด็จการ คงเข้าอีหรอบเดียวกันกับที่ ทักษิณ ชินวัตร เคยใช้ในคราวเรืองอำนาจ ความเป็นจริงอีกประการของการเมืองบ้านเราขึ้นชื่อว่านักการเมืองย่อมไม่มีใครอยากจะไปนั่งในสภาฐานะฝ่ายค้านและยิ่งไม่รู้ว่าต้องต่อสู้กันอีกกี่ยกจึงจะกลับมากุมอำนาจได้ บรรดาเสือโหยเสือหิวทั้งหลาย ย่อมแสวงหาก้อนเนื้อหรือเศษอาหารเพื่อความอยู่รอดของตัวเอง

ส่วนซีกเพื่อไทยกับข่าวการประกาศวางมือทางการเมืองของ “เจ๊แดง” เยาวภา วงศ์สวัสดิ์ ตามคำยืนยันของสมชายผู้เป็นสามี โดยโยนให้ไปถามเหตุผลจากเจ้าตัวเอง คงไม่ต้องรอคำตอบใดๆ ชะตากรรมของพี่ชายและน้องสาวที่เป็นอดีตนายกฯซึ่งต้องเร่ร่อนในต่างประเทศเป็นวิสัชนาที่เด่นชัดที่สุด มูลเหตุข้อกล่าวหาและการนำมาซึ่งคดีติดตัวของสองพี่น้องคนส่วนใหญ่ต่างรู้ดีว่ามีที่มาที่ไปอย่างไร การไม่ไปต่อของเจ๊แดงแทนที่จะทำให้คนในพรรคเสียขวัญ บางทีอาจจะเป็นเรื่องตรงข้าม เว้นแต่ลิ่วล้อที่เคยร่วมหัวจมท้ายกันมา

Back to top button