จัดทัพ 13 หุ้นแกร่งราคาถูก-ยีลด์สูง รับมือโบรกฯหั่นเป้าดัชนีปีนี้เหลือ 1,860 จุด

จัดทัพ 13 หุ้นแกร่งราคาถูก-ยีลด์สูง รับมือโบรกฯประสานเสียงหั่นเป้าดัชนีปีนี้เหลือ 1,860 จุด


ภาวะตลาดหุ้นไทยอยู่ในทิศทางที่มีความไม่แน่นอนสูงเกี่ยวกับสงครามทางการค้าจีน และสหรัฐฯ ส่งผลให้ตลาดหุ้นไทยยังคงผันผวน ซึ่งอาจส่งผลให้นักลงทุนมีแนวโน้มที่จะหลีกเลี่ยงสินทรัพย์เสี่ยง เช่น หุ้นทั่วโลก โดยพักเงินในที่ปลอดภัยจนกว่าสถานการณ์จะมีความชัดเจนมากขึ้น นอกจากนี้นักลงทุนอาจชะลอการลงทุนก่อนวันหยุดยาวในเทศกาลสงกรานต์ในวันที่ 13-16 เม.ย.2561 ที่จะถึงนี้

โดยทางทีมงาน ข่าวหุ้นธุรกิจออนไลน์ จึงได้ทำการสำรวจบทวิเคราะห์ของบริษัทหลักทรัพย์ต่างๆที่วิเคราะห์เกี่ยวกับทิศทางของตลาดหุ้นไทย ซึ่งพบว่าส่วนใหญ่แล้วนักวิเคราะห์ได้ปรับลดเป้าดัชนีท้ายปีลง ขณะที่แนะนำให้ลงทุนในหุ้นปลอดภัย อาทิ หุ้นปันผล หรือหุ้นที่ยังปรับตัวขึ้นไม่สูงมากนัก

ทั้งนี้ นายวิน อุดมรัชตวนิชย์ ประธานกรรมการบริหาร บล.เคทีบี (ประเทศไทย) หรือ KTBST เปิดเผยว่า บริษัทปรับเป้าหมายดัชนี SET Index ปี 2561 ลดลงเหลือ 1,860 จุด จากเดิมคาดการณ์ไว้ที่ระดับ 1,910 จุด หลังจากหุ้นกลุ่มธนาคารได้รับผลกระทบจากการยกเว้นค่าธรรมเนียมในการทำธุรกรรมผ่านช่องทางดิจิทัล ซึ่งเป็นปัจจัยหลักที่ส่งผลกระทบเชิงลบต่อกำไรสุทธิ ประกอบกับหุ้นกลุ่มลิสซิ่งก็ได้รับผลกระทบจากการออกประกาศจากคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) ในการการควบคุมธุรกิจเช่าซื้อรถยนต์และรถจักรยานต์ให้ปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงเพื่อคุ้มครองผู้บริโภค

โดย ปัจจัยกดดันจากทั้งกลุ่มธนาคารและกลุ่มลิสซิ่งจะส่งผลกระทบต่อภาพรวมกำไรของบริษัทจดทะเบียนในปีนี้ปรับตัวลดลงกว่าที่คาด โดยคาดว่าจะปรับตัวลดลงเหลือเติบโต 6.5% จากเดิมคาดเติบโตที่ระดับ 9.5%

ส่วนแนวโน้มการลงทุนไตรมาส 2/61 คาดว่าดัชนีตลาดหุ้นไทยจะปรับตัวได้ดีขึ้นจากแรงซื้อ หลังก่อนหน้านี้ราคาหุ้นปรับตัวลดลงมาค่อนข้างมาก ประกอบการอยู่ในช่วงการทยอยประกาศผลประกอบการไตรมาส 1/61 เข้ามาช่วยส่งเสริมบรรยากาศการลงทุน โดยคาดว่าดัชนีในเดือนเม.ย.2561 จะเคลื่อนไหวในกรอบ 1,700-1,800 จุด

อย่างไรก็ตาม บริษัทได้ประเมินกลุ่มที่น่าเข้าลงทุนคือ กลุ่มท่องเที่ยวที่มองว่าสามารถเติบโตได้ต่อเนื่องจากนโยบายท่องเที่ยวของภาครัฐ กลุ่มอิเล็กทรอนิกส์ ที่ได้รับปัจจัยบวกจากการส่งออกที่ดีขึ้น ส่วนกลุ่มที่แนะให้หลีกเลี่ยงในการเข้าลงทุนคือกลุ่มบริโภคที่ไม่ได้รับประโยชน์จากนโยบายภาครัฐ และกลุ่มขนส่งที่รับผลกระทบด้านราคาน้ำมัน

 

ด้าน นายประภาส ตันพิบูลย์ศักดิ์ ประธานเจ้าหน้าที่การลงทุน บลจ.ทาลิส (TALISAM)  เปิดเผยว่า บลจ.ทาลิสคาดการณ์กรอบดัชนีหุ้นไทยในปี 2561 อยู่ที่ประมาณ 1,700-1,900 จุด ถือเป็นการประเมินกรอบการปรับตัวของดัชนีที่กว้าง เนื่องจากในปีที่ผ่านมาดัชนีตลาดหุ้นไทยปรับตัวกว่า 200 จุด  และใน 4 ปีก่อนหน้าปรับตัวประมาณกว่า 300 จุด จึงคาดการณ์ว่าในปีนี้ดัชนีตลาดหุ้นไทยจะปรับตัวประมาณ 250-300 จุด ซึ่งถือเป็นกรอบการปรับตัวในสถานะที่ปกติของตลาดหุ้นไทยที่จะปรับตัวประมาณ 20%

สำหรับการปรับตัวของตลาดหุ้นทั่วโลก ยังคงมีปัจจัยภายนอกที่เข้ามารบกวนทั้งเรื่องของสงครามการค้าสหรัฐอเมริกา-จีน การปรับขึ้นดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ส่งผลให้ตลาดหุ้นทั่วโลกเริ่มปรับฐานมาตั้งแต่เมื่อช่วงต้นเดือนกุมภาพันธ์ โดยเป็นระยะเวลา 2 เดือนมาแล้ว ซึ่งปกติธรรมชาติของตลาดหุ้นหากปรับตัวขึ้นมาจากการปรับฐานนั้น ก็จะกินระยะเวลาประมาณ 3-6 เดือน ดังนั้น แนวโน้มการปรับตัวของตลาดหุ้นไทยในระยะจากนี้ยังถือว่าอยู่ในช่วงของการปรับฐานบวก-ลบ ดัชนีที่ประมาณ 1,800 จุด

สำหรับกลยุทธ์การลงทุนในช่วงที่สภาวะตลาดหุ้นมีความผันผวนและปรับฐานอยู่ขณะนี้ แนะนำลงทุนในกองทุนประเภทหุ้นปันผล ซึ่งถือเป็นการลงทุนที่มีความเสี่ยงน้อย และเหมาะกับช่วงสถานการณ์ที่บริษัทต่างๆ มีการจ่ายเงินปันผลออกมาของรอบผลประกอบการปี 2560 โดยอยู่ในช่วงตั้งแต่เดือนเมษายน-พฤษภาคมเป็นต้นไป

“ด้านความกังวลเรื่องสงครามการค้าสหรัฐอเมริกา-จีนท้ายที่สุดจะเป็นเพียงกลยุทธ์ในการเจรจาต่อกัน ส่วนเรื่องตัวเลขเศรษฐกิจของสหรัฐอเมริกา ยุโรป และไทยที่ผ่านมามีการปรับตัวดีขึ้นเรื่อย ๆ และมีการประมาณการในอนาคตว่าจะดีขึ้นเรื่อย ๆ เช่นกัน หากดูตัวอย่างย้อนหลังไปประมาณ 2 ปี ของประเทศสหรัฐอเมริกาตั้งแต่ในปี 2015 มีการปรับดอกเบี้ยขึ้นมา 6 ครั้ง ในด้านของตลาดหุ้นสหรัฐฯ ก็มีการปรับขึ้นมาประมาณ 30% ส่วนตลาดหุ้นไทยปรับขึ้นมาแล้วประมาณ 30% เช่นเดียวกัน”นายประภาส กล่าว

ทั้งนี้ในส่วนของการปรับดอกเบี้ยทั้งของสหรัฐอเมริกาและทั้งโลกขณะนี้ยังอยู่ในช่วงขาขึ้น และคาดว่าจะมีการทยอยปรับขึ้นอีก โดยขึ้นอยู่กับความพร้อมทางเศรษฐกิจของแต่ละประเทศ แต่สำหรับประเทศไทยคาดการณ์การปรับขึ้นดอกเบี้ยระยะเวลาอย่างเร็วน่าจะเป็นช่วงสิ้นปี 2561 หรือในปีหน้า ดังนั้น กลยุทธ์การลงทุนในกองทุนตราสารหนี้ระยะสั้น (Money market fund) ก็จะมีความปลอดภัยมากกว่า เพราะหากเป็นช่วงดอกเบี้ยขาขึ้นการลงทุนในตราสารหนี้แบบยาว ก็จะมีความเสี่ยงที่ตัวราคาตราสารหนี้ต่าง ๆ ที่อาจจะปรับตัวลดลงเพราะดอกเบี้ยมีการปรับตัวเพิ่มขึ้น ฉะนั้น กลยุทธ์การจัดสรรเงินลงทุนแบ่งเป็น สินทรัพย์ในหุ้น 50% ตราสารหนี้ระยะสั้น 50% หากผู้ลงทุนมองในระยะเวลา 3 ปี หรือ 5 ปี และรับความเสี่ยงได้ถือเป็นกลยุทธ์ที่ดี

“คาดว่าในปีนี้สหรัฐอเมริกาจะมีการปรับดอกเบี้ยขึ้นอีก 2 ครั้ง ในปีหน้าอีก 3 ครั้ง และในปี 2020 อีก 2 ครั้ง ซึ่งรวม ๆ กันแล้วประมาณ 7 ครั้ง ซึ่งถือเป็นสัญญาณว่าแนวโน้มเศรษฐกิจสหรัฐอเมริกาน่าจะอยู่ในแนวโน้มขาขึ้นต่อไป ดังนั้นสภาพเศรษฐกิจที่ดี ตลาดหุ้นอาจจะมีการผันผวนบ้างแต่ว่าเทรนในระยะยาวก็ยังมองว่าเป็นช่วงขาขึ้นอยู่เช่นกัน”นายประภาส กล่าว

 

นอกจากนี้ ผู้สื่อข่าว ยังได้ทำการสำรวจราคาหุ้นของบริษัทหลักทรัพย์จดทะเบียนในตลาดหุ้นไทย (SET) ที่นับตั้งแต่ต้นปี 2561 มีการปรับตัวขึ้นไม่เกิน 10% ขณะที่มีการจ่ายอัตราเงินปันผลตอบแทน (Yield) สูงเกิน 4% นอกจากนี้ยังมีค่าอัตราส่วนราคาปิดต่อกำไรต่อหุ้น (P/E) ต่ำกว่า 18 เท่า ซึ่งต่ำกว่าค่า P/E ของ SET ซึ่งล่าสุดอยู่ที่ 18.03 เท่า เพื่อให้นักลงทุนเห็นภาพและเลือกเข้าลงทุนในบริษัทดังกล่าวที่ยังถือว่ามีราคาถูก และราคาหุ้นมีโอกาสปรับตัวขึ้นได้อีก ขณะที่มีอัตราการจ่ายปันผลสูงรับมือภาวะตลาดหุ้นไทยที่ยังคงผันผวน

โดยบจ.ที่เข้าเกณฑ์ดังกล่าวมีทั้งหมด 24 บจ. ดังนี้

คลิกที่ตารางเพื่อขยายขนาดรูปภาพ

*อนึ่งข้อมูลที่มีการนำเสนอข้างต้น เป็นเพียงข้อแนะนำจากข้อมูลพื้นฐานเพื่อประกอบการตัดสินใจของนักลงทุนเท่านั้น และมิได้เป็นการชี้นำ หรือเสนอแนะให้ซื้อหรือขายหลักทรัพย์ใดๆ การตัดสินใจซื้อหรือขายหลักทรัพย์ใดๆ ของผู้อ่าน ไม่ว่าจะเกิดจากการอ่านบทความในเอกสารนี้หรือไม่ก็ตาม ล้วนเป็นผลจากการใช้วิจารณญาณของผู้อ่าน

 

Back to top button