เปิด 8 หุ้นไม่หวั่น SET ผันผวน! ชี้ 3 เดือนนักลงทุนฟันกำไรเกิน 50%

เปิด 8 หุ้นไม่หวั่น SET ผันผวน! ชี้ 3 เดือนนักลงทุนฟันกำไรเกิน 50% นำโดย EMC,AEONTS,NPP,LRH, KTC,TRITN, VNT และ SOLAR


ข่าวหุ้นธุรกิจออนไลน์” ได้ทำการสำรวจราคาหุ้นของบริษัทจดทะเบียน (บจ.) ในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย(SET) ในรอบ 3 เดือนที่ผ่านมา โดยเทียบราคาปิด ณ วันที่ 29 ธ.ค.60-30 มี.ค.61 โดยในช่วง 3 เดือนที่ผ่านมาดัชนีตลาดหลักทรัพย์ SET ปรับตัวขึ้น1.29% โดยเทียบจากดัชนียืนอยู่ที่ระดับ 1753.71 จุด (29 ธ.ค.60) มาอยู่ที่ระดับ 1,776.26 จุด ( 30 มี.ค.61) บวกไป 22.55 จุด

ทั้งนี้ในช่วง 3 เดือนที่ผ่านมาดัชนีเริ่มอ่อนตัวในเดือนมีนาคมอย่างมาก เห็นได้จากดัชนีไม่สามารถยืนเหนือระดับ 1800 จุด เนื่องจากภาวะตลาดมีปัจจัยลบเข้ามากระทบหนักในเดือนมีนาคมที่ผ่านมา อาทิ ความไม่แน่นอนต่อปัจจัยการเมือง (โรดแมปการเลือกตั้ง)และกลุ่มธนาคารมีแรงกดดันต่อเนื่องจากนโยบายยกเลิกเก็บค่าธรรมเนียม ที่ธนาคารขนาดใหญ่ทยอยประกาศ รวมไปถึงภาครัฐอยู่ระหว่างพิจารณาปรับโครงสร้างราคาน้ำมันหน้าโรงกลั่น และราคาขายปลีก กดดันราคาหุ้นในกลุ่มพลังงานและเป็นช่วงที่หุ้นประกาศจ่ายปันผล (XD) เป็นจำนวนมาก

นอกจากนี้ยังมีปัจจัยความวิตกกังวลเกี่ยวกับสงครามการค้าระหว่างสหรัฐและจีน หลังจากประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ได้ลงนามในคำสั่งให้เรียกเก็บภาษีนำเข้าสินค้าจากจีนส่งผลให้ตลาดผันผวนอย่างหนักและกดดันให้ดัชนีก่อนปิดงบไตรมาส 1/61ไม่สดใสเหมือน 2 เดือนแรกปีนี้

อย่างไรก็ตามยังมีหุ้นที่ปรับตัวขึ้นอย่างโดดเด่นและเอาชนะภาวะตลาดฯได้อย่างสดใสดังนั้นครั้งนี้จะขอเลือกนำเสนอราคาหุ้นที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นแรงเกิน 50% เป็นหลัก โดยหุ้นที่เข้าเกณฑ์ดังกล่าวมีทั้งหมด 8 ตัว คือ EMC,AEONTS, NPP,LRH,KTC,TRITN,VNT และ SOLAR โดยการนำเสนอข้อมูลประกอบการปรับตัวขึ้นแรงจะขอเลือกนำเสนอเพียง 5 ตัวแรกตามตารางดังนี้

อันดับ 1 บริษัท อีเอ็มซี จำกัด (มหาชน) หรือ EMC  ราคาหุ้นปรับตัวขึ้น 88.89% โดยราคาหุ้นปรับตัวจากระดับ 0.09 บาท (29 ธ.ค.60) มาอยู่ที่ระดับ 0.17 บาท (30 มี.ค.61) คาดนักลงทุนเก็งกำไรหุ้นเล็ก อีกทั้งที่ประชุมคณะกรรมการบริษัทในวันนี้ (14 มี.ค.) อนุมัติให้ลดทุนจดทะเบียนโดยตัดหุ้นที่ยังไม่ได้ออกและเสนอขาย หลังจากนั้นให้เพิ่มทุนจดทะเบียนเป็น 1.52 หมื่นล้านบาท จากเดิมที่ 8.43 พันล้านบาท โดยออกหุ้นใหม่จำนวน 6.75 พันล้านหุ้น พาร์หุ้นละ 1 บาท แบ่งเป็นการเพิ่มทุนแบบอำนาจทั่วไป (General Mandate) จำนวนไม่เกิน 2.53 พันล้านหุ้น ที่จะจัดสรรให้กับผู้ถือหุ้นเดิม

ส่วนหุ้นเพิ่มทุนที่เหลือไม่เกิน 4.22 พันล้านหุ้น จะใช้รองรับการแปลงสภาพใบสำคัญแสดงสิทธิที่จะซื้อหุ้นสามัญ (วอร์แรนต์) EMC-W6  ที่บริษัทจะออก EMC-W6 จำนวนไม่เกิน 4.22 พันล้านหน่วย จัดสรรให้ฟรีแก่ผู้ถือหุ้นเดิมในอัตราส่วน 2 หุ้นเดิมต่อ 1 หน่วย อายุไม่เกิน 5 ปี มีอัตราการใช้สิทธิ 1 หน่วย ต่อ 1 หุ้นใหม่ ที่ราคาหุ้นละ 0.15 บาท

สำหรับวัตถุประสงค์ในการเพิ่มทุนครั้งนี้ จะช่วยทำให้มีสภาพคล่องและมีเงินทุนหมุนเวียนเพิ่มขึ้น รวมทั้งช่วยให้บริษัทมีฐานะทางการเงินที่แข็งแกร่งยิ่งขึ้น รองรับการขยายลงทุนในอนาคต ส่งผลให้นักลงทุนเข้ามาไล่ราคาหุ้นในเดือนมีนาคมอย่างต่อเนื่อง

 

อันดับ 2 บริษัท อิออน ธนสินทรัพย์ (ไทยแลนด์) จำกัด (มหาชน) หรือ AEONTS ราคาหุ้นปรับตัวขึ้น 72.46% โดยราคาหุ้นปรับตัวจากระดับ 103.50 บาท (29 ธ.ค.60) มาอยู่ที่ระดับ 178.00 บาท (30 มี.ค.61) เนื่องจากนักลงทุนมั่นใจพื้นฐานธุรกิจบวกกับนักวิเคราะห์ปรับราคาเป้าหมายทำให้นักลงทุนเข้ามาไล่ราคาในช่วง 3 เดือนที่ผ่านมา

บล.ดีบีเอส วิคเคอร์ส (ประเทศไทย) ระบุในบทวิเคราะห์ แนะนำ “ซื้อ” ราคาเป้าหมาย 202 บาท/หุ้น โดยคาดว่าปี 60/61 และ 61/62 มีแนวโน้มเติบโตดีขึ้น เนื่องจากบริษัทค่อยๆปรับวงเงินเครดิตลูกค้าดี (Good customers) เพิ่มเป็น 1.5 เท่า จากเดิมที่ให้ 1.0 เท่าของเงินเดือน และกำหนดวงเงินเครดิตสูงสุดสำหรับลูกค้าใหม่ไว้ไม่เกิน 1.5 เท่าของเงินเดือน ซึ่งการปรับนี้ช่วยให้ธุรกิจบัตรเครดิต และสินเชื่อส่วนบุคคลขยายตัวได้เพิ่มขึ้น ส่งผลให้รายได้ดอกเบี้ยเติบโตมากขึ้นตั้งแต่ไตรมาส 2/60 (สิ้นสุดส.ค.60)

อีกทั้งคุณภาพสินทรัพย์แข็งแกร่ง ในช่วงที่เศรษฐกิจไทยซบเซา คุณภาพสินทรัพย์ด้อยลง และมีปัญหาหนี้ครัวเรือนสูง ทาง AEONTS ก็ดำเนินธุรกิจอย่างระมัดระวังเพื่อดูแลสถานะของบริษัทให้มั่นคง ยังผลให้ Yield และ ROE ต่ำลง แต่ระดับ NPL ratio ก็ต่ำที่ 2.2% ในสิ้นไตรมาส 3/60/61 (สิ้นสุดพ.ย.60) และเชื่อว่าจะทรงๆ ในระดับนี้ไปในปี 61/62 เนื่องจากสภาวะเศรษฐกิจไทยฟื้นตัวดีขึ้น สำหรับ Coverage ratio อยู่ในระดับสูง ทำให้ไม่ต้องตั้งสำรองสูงกว่าเพื่อรองรับมาตรฐานบัญชีใหม่ IFRS9

พร้อมทั้งเศรษฐกิจที่ดีขึ้นหนุนความเชื่อมั่นผู้บริโภคและบรรยากาศการจับจ่ายใช้สอย จึงคาดว่าสินเชื่อรายย่อยบริษัทจะเติบโตได้มากขึ้นในปีนี้ และเข้าสู่ธุรกิจสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์มือสอง โดยใช้ประสบการณ์ของ AEON มาเลเซียมาช่วย โดยวงเงินปล่อยสินเชื่ออยู่ที่ 3 แสนบาทถึง 1 ล้านบาทต่อราย อัตราดอกเบี้ย 3.5-4.0% ต่อปี (Flat rate) สำหรับรถอายุไม่เกิน 5 ปี และอัตรา 9-10%

สำหรับรถที่อายุมากกว่า 5 ปี ขณะนี้มีดีลเลอร์ที่เป็นพันธมิตรกับบริษัท 50 แห่งในกรุงเทพ สำหรับลูกค้าเป้าหมายอยู่ในกลุ่มเดียวกันกับลูกค้าบัตรเครดิต บริษัทตั้งเป้าหมายพอร์ตสินเชื่อเช่าซื้อรถมือสองไว้ที่ 500-1,000 ล้านบาท

ด้านธุรกิจต่างประเทศจะทำรายได้ดีขึ้น ปัจจุบัน AEONTS ถือหุ้น 80% ในธุรกิจที่กัมพูชา (แต่จะลดเป็น 50% หลังจากมีการเพิ่มทุนในเดือนมี.ค.61 แต่ AEONTS ไม่ใช้สิทธิซื้อหุ้นเพิ่มทุนครั้งนี้เพื่อเปิดทางให้ผู้ถือหุ้นอีกราย คือ AEON Financial Service (AFS) ซึ่งเชี่ยวชาญด้านไอทีของไฟแนนซ์ได้ถือหุ้นเพิ่ม เป็นแรงจูงใจในการพัฒนาธุรกิจต่อไป) และ 100% ที่เมียนมาร์ & ลาว ซึ่งธุรกิจทั้ง 3 ประเทศมีกำไร แต่ยังทำรายได้เป็นสัดส่วนน้อยเพียง 3% และทำกำไร 2% ของทั้งหมด บริษัทคาดว่าจะเพิ่มสัดส่วนรายได้เป็น 10% ภายในปี 63 เพราะความต้องการใช้ไฟแนนซ์ของทั้ง 3 ประเทศเติบโตสูง

ทั้งนี้ปรับเพิ่มคาดการณ์กำไรปี 60/61 และปี 61/62 ขึ้น 5% และ 11% ตามลำดับ โดยบริษัทคาดว่าการใช้จ่ายลูกค้าจะเติบโต 10% ในปี 60/61 ซึ่งไปชดเชยกับอัตราดอกเบี้ยบัตรเครดิตที่ลดลงจาก 20% เป็น 18% ได้ ส่งผลให้กำไรปี 60/61-61/62 จะขยายตัว 16% และ 15% ตามลำดับ

อย่างไรก็ตาม หุ้น AEONTS ซื้อขายที่ P/E ปี 60/61 (สิ้นสุดก.พ.61) ต่ำเพียง 12.4 เท่า และ P/BV 2.3 เท่า ซึ่งต่ำกว่าเฉลี่ยของกลุ่มไฟแนนซ์มาก สำหรับราคาพื้นฐาน 202 บาท เทียบเท่ากับ P/BV ปี 60/61 ที่ 2.9 เท่า และเทียบเท่ากับ P/E ที่ 15.8 เท่า (PEG 1.0 เท่า, CAGR ของ EPS ปี 60/61 & 61/62 ที่ 15.4%)

 

อันดับ 3 บริษัท นิปปอน แพ็ค (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) หรือ NPP ราคาหุ้นปรับตัวขึ้น 68.49% โดยราคาหุ้นปรับตัวจากระดับ 0.73 บาท (29 ธ.ค.60) มาอยู่ที่ระดับ 1.23 บาท (30 มี.ค.61) คาดนักลงทุนเก็งกำไรหุ้นเล็ก และประเด็นเพิ่มทุน PP เสนอขาย Asia Alpha Equity Fund 1 ซึ่งเป็นกองทุนย่อยของ Asia Alpha Equity Master Fund ที่จดทะเบียนในประเทศสิงคโปร์ทำให้นักลงทุนมั่นใจและเข้ามาไล่ราคาหุ้นต่อเนื่อง

โดยเมื่อวันที่ 22 ม.ค.61 บริษัทอนุมัติการเพิ่มทุนจดทะเบียนเป็น 2.06 พันล้านบาท จากเดิมที่ 1.66 พันล้านบาท โดยออกหุ้นใหม่จำนวน 400 ล้านหุ้น พาร์หุ้นละ 1 บาท เสนอขายหุ้นละ 0.70 บาท รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 280 ล้านบาท จัดสรรให้แก่บุคคลในวงจำกัด (PP) คือ Asia Alpha Equity Fund 1 ซึ่งเป็นกองทุนย่อยของ Asia Alpha Equity Master Fund ที่จดทะเบียนในประเทศสิงคโปร์ โดยมี Banjaran Asset Management Pte.Ltd. เป็นผู้จัดการกองทุน และเน้นการลงทุนในธุรกิจอาหารและเครื่องดื่ม เกษตรกรรม เภสัชภัณฑ์ และอุตสาหกรรมการผลิตในภูมิภาคเอกเชียตะวันออกเฉียงใต้

โดยภายหลังการเสนอขายหุ้นดังกล่าวต่อ Asia Alpha Equity Fund 1 แล้วจะทำให้ Asia Alpha Equity Fund 1 เข้ามาถือหุ้นคิดเป็น 24.9% ของทุนจดทะเบียน โดย Asia Alpha Equity Fund 1 จะไม่ส่งตัวแทนเข้าเป็นกรรมการ และ/หรือผู้บริหารของบริษัท ดังนั้น จึงยังไม่มีหน้าที่ต้องทำคำเสนอซื้อหุ้นทั้งหมดของบริษัท ขณะที่จะต้องปฏิบัติตามเกณฑ์ห้ามขายหุ้น (silent period) โดยมีกำหนดระยะเวลาห้ามขายหุ้นเพิ่มทุนทั้งหมดภายใน 1 ปี

ทั้งนี้บริษัทมีแผนนำเงินที่ได้จากการระดมทุนไปใช้เป็นเงินทุนสำหรับการขยายกิจการ อีกทั้งยังมีเครือข่ายพันธมิตรทางธุรกิจเพิ่มมากขึ้น ซึ่งจะช่วยต่อยอดธุรกิจในอนาคตของบริษัท นอกจากนี้คณะกรรมการบริษัทยังอนุมัติให้เสนอต่อที่ประชุมผู้ถือหุ้นเพื่อพิจารณาอนุมัติการเปลี่ยนแปลงชื่อและตราประทับของบริษัท โดยจะเปลี่ยนชื่อบริษัทเป็น บมจ.เอ็นพีพี (ประเทศไทย)

 

อันดับ 4 บริษัท ลากูน่า รีสอร์ท แอนด์ โฮเท็ล จำกัด (มหาชน) หรือ LRH  ราคาหุ้นปรับตัวขึ้น 65.00% โดยราคาหุ้นปรับตัวจากระดับ 23.50บาท (29 ธ.ค.60) มาอยู่ที่ระดับ 39.50 บาท (30 มี.ค.61)ราคาหุ้นปรับตัวแรงเนื่องจากบริษัท บันยัน ทรี รีสอร์ท แอนด์ สปา(ไทยแลนด์) จำกัด โดยแจ้งความประสงค์ที่จะเข้าทำเสนอซื้อ LRH ที่จำหน่ายได้แล้วและจำนวนสิทธิ์ออกเสียงทั้งหมดโดยสมัครใจ ที่ราคา 40 บาทต่อหุ้นทำให้นักลงทุนเข้ามาไล่ราคาในระดับดังกล่าวและส่งผลให้ราคาหุ้นปรับตัวแรงโดดเด่นในช่วงที่ผ่านมา

อนึ่งในวันที่ 26 ก.พ. LRH ได้รับหนังสือแจ้งความประสงค์ในการเข้าซื้อหุ้น จากบริษัท บันยัน ทรี โฮลดิ้งส์ จำกัด และบริษัท บันยัน ทรี รีสอร์ท แอนด์ สปา (ไทยแลนด์) จำกัด ซึ่งปัจจุบันถือหุ้นรวมคิดเป็นสัดส่วน 54.22% ของหุ้นที่จำหน่ายได้แล้วและจำนวนสิทธิออกเสียงทั้งหมดของบริษัท โดยแจ้งความประสงค์ที่จะเข้าทาเสนอซื้อหลักทรัพย์โดยสมัครใจในหุ้นสามัญของบริษัทจานวน 76,312,552 หุ้น คิดเป็น 45.78% ของจำนวนหุ้นที่จำหน่ายได้แล้วและจำนวนสิทธิออกเสียงทั้งหมดของบริษัท ที่ราคาเสนอซื้อ 40 บาทต่อหุ้น

 

อันดับ 5 บริษัท บัตรกรุงไทย จำกัด (มหาชน) หรือ KTC ราคาหุ้นปรับตัวขึ้น 65.05% โดยราคาหุ้นปรับตัวจากระดับ 186.00 บาท (29 ธ.ค.60) มาอยู่ที่ระดับ 307.00 บาท (30 มี.ค.61) เนื่องจากนักลงทุนเข้ามาเก็งกำไรแผนงานบริษัทที่โดดเด่น บวกกับแนวโน้มผลงานปี 61 สดใส ขณะที่นักวิเคราะห์ปรับราคาเป้าหมายใหม่ทำให้ราคาหุ้นปรับตัวแรงและทุบสถิตินิวไฮต่อเนื่อง

บล.เคทีบี (ประเทศไทย) ระบุแนะนำ “ซื้อ” KTC โดยปรับราคาเป้าหมายเป็น 350 บาท จากเดิม 285 บาท พร้อมมองแนวโน้มสินเชื่อปีนี้จะขยายตัวเร่งขึ้นจากปีก่อน ขณะที่ต้นทุนทางการเงินอยู่ในระดับต่ำ คาดรายได้ดอกเบี้ยสุทธิปี 2561 เพิ่มขึ้น 3% เทียบกับปีก่อน แม้มีผลกระทบจากเกณฑ์ปรับลดอัตราดอกเบี้ยบัตรเครดิตจาก 20% เป็น 18% เต็มปีก็ตาม

ทั้งนี้ เนื่องด้วยสินเชื่อคาดขยายตัวแข็งแกร่ง 10% เทียบกับปีก่อน ตามแผนขยายฐานลูกค้าบัตรเครดิตในทุกกลุ่มลูกค้า และโปรโมชั่นที่หลากหลายเหนือคู่แข่ง และการออกหุ้นกู้ชุดใหม่ที่ดอกเบี้ยต่ำกว่าหุ้นกู้เก่าที่มีต้นทุนสูงราว 4.3-5.0% มูลค่ารวมทั้งสิ้น 4.8 พันล้านบาท

นอกจากนี้ยังคาดรายได้ที่ไม่ใช่ดอกเบี้ย ปี 2560-2561 เติบโตปีละ 11% YoY ผลักดันจาก KTC ใช้นโยบายบริหารหนี้เสีย (NPL) ด้วยการ write-off ต่อเนื่อง และการติดตามหนี้ที่มีประสิทธิภาพ ส่งผลให้รายได้หนี้สูญรับคืนดีขึ้นต่อเนื่อง และค่าธรรมเนียมร้านค้ารับบัตร ค่าธรรมเนียมกดเงินสด และค่าธรรมเนียมติดตามหนี้ เพิ่มขึ้นตามการขยายตัวของสินเชื่อ

ด้านนายระเฑียร ศรีมงคล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร KTC เปิดเผยว่า ปีนี้บริษัทมีแผนออกหุ้นกู้มูลค่าราว 1.2-1.5 หมื่นล้านบาท ซึ่งจะใช้ในการชดเชยหุ้นกู้ชุดเดิมที่จะครบกำหนดไถ่ถอน และใช้รองรับการขยายธุรกิจ รวมไปถึงเป็นการบริหารต้นทุนการเงินให้อยู่ในระดับต่ำ

ภาพรวมธุรกิจในปีนี้ มองว่ายอดการใช้จ่ายผ่านบัตรจะเติบโต 15% พอร์ตลูกหนี้เติบโตไม่ต่ำ 10% รวมไปถึงการรักษาระดับของหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ ให้ใกล้เคียงกับปีก่อนที่ 1.30% ซึ่งส่งผลให้การตั้งสำรองปีนี้จะลดลงจากปีที่ผ่านมา โดยพบว่าคุณภาพลูกหนี้ของบริษัทดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง จากการที่บริษัทเจาะกลุ่มที่มีฐานรายได้ที่สูงขึ้น

*ทั้งนี้ข้อมูลที่มีการนำเสนอข้างต้น เป็นเพียงข้อแนะนำจากข้อมูลพื้นฐานเพื่อประกอบการตัดสินใจของนักลงทุนเท่านั้น และมิได้เป็นการชี้นำ หรือเสนอแนะให้ซื้อหรือขายหลักทรัพย์ใดๆการตัดสินใจซื้อหรือขายหลักทรัพย์ใดๆ ของผู้อ่าน ไม่ว่าจะเกิดจากการอ่านบทความในเอกสารนี้หรือไม่ก็ตาม ล้วนเป็นผลจากการใช้วิจารณญาณของผู้อ่าน

Back to top button