ค้าปลีกอภิวัฒน์

ในขณะที่หุ้นบริษัท ธุรกิจค้าปลีกแบบอี-คอมเมิร์ซ และเอ็ม-คอมเมิร์ซของอเมริกาได้รับการประเมินในทางบวกจากนักวิเคราะห์และกองทุนสารพัด โดยอ้างถึงสาเหตุจากความเชื่อมั่นผู้บริโภคที่แข็งแกร่งในปีนี้ อีกด้านหนึ่งของธุรกิจค้าปลีกแบบดั้งเดิมที่เคยรุ่งเรืองมาก่อน กำลังเดินมาสู่ทางตัน


พลวัตปี 2018 : วิษณุ โชลิตกุล

ในขณะที่หุ้นบริษัท ธุรกิจค้าปลีกแบบอี-คอมเมิร์ซ และเอ็ม-คอมเมิร์ซของอเมริกาได้รับการประเมินในทางบวกจากนักวิเคราะห์และกองทุนสารพัด โดยอ้างถึงสาเหตุจากความเชื่อมั่นผู้บริโภคที่แข็งแกร่งในปีนี้ อีกด้านหนึ่งของธุรกิจค้าปลีกแบบดั้งเดิมที่เคยรุ่งเรืองมาก่อน กำลังเดินมาสู่ทางตัน

คำว่า ช่วงเวลาล้างบางธุรกิจค้าปลีก หรือ Retail Apocalypse ได้กลายเป็นประโยคที่อธิบายสถานการณ์ยามนี้ได้ชัดเจน

ปีนี้มีสถิติเชิงลบชัดเจนระบุว่า เมื่อผ่านมาแล้ว 3 เดือน อาการของค้าปลีกในสหรัฐฯยังไม่ดีนัก นับเป็นการล่มสลายที่ลากยาวมาตั้งแต่ปีที่แล้ว (หรือว่ากันตามจริงแล้ว นานมากกว่า 6 ปีด้วยซ้ำ)

ปีก่อนวงการค้าปลีกสหรัฐฯ (และเครือข่ายทั่วโลก) จำพวกศูนย์การค้า หรือเครือข่าย พากันสร้างกระแสทยอยปิดตัวร้านค้าไปมากกว่า 3,500 สาขาทั่วสหรัฐฯ มาถึงปีนี้ กระแสดังกล่าวกลับรุนแรงขึ้น เพราะการล่มสลายของวงการค้าปลีกในรูปแบบเดิมยังดำเนินไปอย่างต่อเนื่อง เท่าที่ประกาศเป็นทางการมาแล้ว จะมีค้าปลีกประมาณ 3,000 สาขาที่ปิดตัวลงในปีนี้

ไม่เพียงแต่ในสหรัฐฯ ที่ยุโรปก็มีสถานการณ์ใกล้เคียงกัน ดังตัวเลขรายงานจากอังกฤษ ยังระบุไว้ว่า การปิดสาขาของร้านค้าปลีกในตลาดช่วง 3 เดือนแรกของปี 2018 ทำให้มีคนตกงานไปแล้วประมาณ 21,413 คน

การปิดตัวเองแบบยอมรับสภาพที่สั่นสะเทือนวงการมาก และเป็นข่าวใหญ่ที่สุด คงหนีไม่พ้นการปิดตัวของร้านขายของเล่นรายใหญ่อย่าง Toys “R” Us ที่เคยเป็นต้นแบบร้านค้าปลีกเฉพาะกลุ่มที่โดดเด่น สรุปตัวเลขแล้วจะปิดไปทั้งหมด 800 แห่งในปีนี้ ส่วนตัวเลขของค้าปลีกรายอื่นๆ ที่ทยอยปิดตัวกันอย่างต่อเนื่อง ก็ยังคงเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ

การทยอยปิด มีหลากรูปแบบ ที่เป็นทั้งปิดสาขาบางแห่งลงให้เกิดตัวเบาขึ้น ปิดเกือบทั้งหมดเพื่อลดหนี้ ปิดบางส่วนแล้วปรับลดต้นทุน หันไปบุกตลาดอี-คอมเมิร์ซ และเอ็ม-คอมเมิร์ซแทน หรือปิดกิจการไปเลยเพราะกิจการเข้าข่ายล่มสลาย จากภาระหนี้ท่วม

แม้ว่าในเชิงสถิติ ธุรกิจค้าปลีกแบบจารีตจะยังไม่ล่มสลายเหมือนนิยามทันทีทันใดเพราะยังมีการเปิดเครือข่ายสาขาใหม่กันเรื่อยๆ แต่ข้อมูลที่ยืนยันชัดเจนว่ายุคทองค้าปลีกจะไม่หวนคืนมาอีกอยู่ที่ว่าจำนวนหรือประเภทร้านค้าปลีกที่ทยอยปิดตัวมีมากขึ้นกว่าร้านค้าปลีกที่เกิดใหม่ (ดูตารางประกอบ)

ร้านค้าปลีกที่ล่มสลายมากที่สุดคือร้านค้าปลีกประเภทศูนย์การค้า (โดยเฉพาะแถบชานเมือง) ที่เคยคึกคักเมื่อหลายทศวรรษก่อน และเป็นโมเดลของเครือข่ายพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ที่สุดฮิตนานกว่า 30 ปี ปัจจุบันมีต้นแบบ “มอลล์ร้าง” (ghost malls) ให้เห็นมากมายทั่วสหรัฐฯ

ร้านค้าปลีกที่ต้องดิ้นรนมากกว่าใครอื่นเพราะยอดขายตกต่ำรุนแรงได้แก่ร้านค้าปลีกจำพวกเสื้อผ้าสำเร็จรูป และร้านบันเทิงทุกรูปแบบ ซึ่งมีสาเหตุสำคัญทั้งจากการแข่งขันกันเอง และการถูกอี-คอมเมิร์ซ และเอ็ม-คอมเมิร์ซแย่งส่วนแบ่งไป

ที่น่าสนใจคือร้านอาหารประเภท “แดกด่วน” และร้านกาแฟ ทั้งเครือข่ายหรือร้านเดี่ยวอยู่ในข่ายที่ไม่ได้รับผลกระทบมากมายจากกระแสนี้

ผลพวงจากเครือข่ายขายสินค้าออนไลน์ อย่างหลังสุดนี้ น่าจะเป็นตัวแปรที่มีพลังเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ

ล่าสุดการปรับตัวของยักษ์ใหญ่ในวงการอุปกรณ์กีฬาอย่าง Adidas ที่ประกาศแผนที่จะให้ความสำคัญกับช่องทาง Online มากขึ้น พร้อมกับเตรียมปิดหน้าร้านบางสาขา เพื่อชดเชยการลงทุนดังกล่าวเป็นแนวโน้มที่ชัดเจน

ผู้บริหารร้านค้าปลีกแบบจารีต เริ่มยอมรับกันแล้วว่า ปัจจุบันหน้าร้านบนเว็บไซต์และแอปพลิเคชันต่างๆ ของบริษัท คือ หน้าร้านที่สำคัญที่สุดในโลกเท่าที่เคยมีมา จึงไม่แปลกที่หน้าร้านตามโลก Offline จะถูกลดความสำคัญลง และเตรียมทยอยปิดตามสถานการณ์ แม้จะยังไม่มีจำนวนที่แน่นอน

ประสบการณ์ใหม่ๆ ในการซื้อขายสินค้าผ่านช่องทางออนไลน์มากขึ้น กลายเป็นสถานการณ์ใหม่ที่บอกให้รู้ว่า แม้ค้าปลีกจะไม่ใช่ธุรกิจตะวันตกดิน แต่ช่องทางและแพลตฟอร์มเดิมๆ จะถูกแทนที่ในอัตราเร่งที่สำคัญ มีความจำเป็นต้องเร่งปรับและทบทวนรูปแบบร้านค้าปลีกแบบเดิมให้สนองตอบประสบการณ์ใหม่ของผู้บริโภคไปด้วย

ตัวเลขที่น่าสนใจของบริษัทเอเจนซี่สายอสังหาริมทรัพย์ในสหรัฐฯ ระบุว่า การหาจุดสมดุลระหว่าง การมีหน้าร้านแบบออฟไลน์ ตามสูตรจารีต ร่วมกับการขายของแบบออนไลน์ ยังไม่ลงตัวดีนัก แม้ว่าในระยะยาวจะเกิดขึ้น แต่ในระยะเฉพาะหน้า การทยอยปิดตัวสาขาของค้าปลีกอีกหลายรายยังจะเป็นกระแสที่เลี่ยงได้ยาก

เหตุผลสำคัญมาจาก 2 ปัจจัยหลัก คือ

  1. ฐานะทางการเงินโดยเฉพาะสภาพคล่องของร้านค้าปลีกตามจารีตที่เข้าข่ายยอบแยบ ไม่ใช่แค่กำไรลดเท่านั้น แต่ยังมีหนี้สินล้นพ้นตัว อาจจะเข้าข่ายชำระหนี้ไม่ตามกำหนด
  2. มาตรฐานทางบัญชีของสถาบันการเงินเจ้าหนี้ที่เข้มงวดรุนแรงขึ้น ทำให้โอกาสจะมีหนี้สินมากมายเหมือนยุคทองค้าปลีก ทำได้ยากกว่าเดิมหลายเท่า

หุ้นค้าปลีกในสหรัฐฯจึงเป็นหุ้นที่ถูกนักวิเคราะห์ประเมินยามนี้เป็น “ซื้อแบบคัดสรรรายตัว” ไม่ใช่ยกเข่งอีกแล้ว

ปรากฏการณ์ของธุรกิจค้าปลีกในสหรัฐฯอาจจะไม่เหมือนในเมืองไทยเสียทีเดียว แต่ความเหลื่อมเรื่องเวลาไม่ใช่ประเด็นที่หาเหตุมาอ้างกัน

Back to top button