ย้อนรอยข่าวดังต้นปี 61 “เสี่ยกำพลกับธุรกิจสีเทา”

ย้อนรอยข่าวดังต้นปี 61 "เสี่ยกำพลกับธุรกิจสีเทา"


ย้อนรอยข่าวร้อนข่าวดังต้นปี 61 วันนี้ จะนำเสนอกรณีข่าวฉาวของนักลงทุนรายใหญ่ในตลาดหุ้นไทยที่มีชื่อเข้าไปเกี่ยวข้องกับธุรกิจสีเทา ในประเด็นของ “เสี่ยกำพลกับอาบอบนวด วิคตอเรียซีเครท”

ซึ่งในวันนี้ “ข่าวหุ้นธุรกิจออนไลน์” จะนำเรื่องราวดังกล่าวมานำเสนออีกครั้ง โดยเหตุการณ์นี้สืบเนื่องมาจากวันที่ 12 ม.ค.61 กรมสอบสวนคดีพิเศษ หรือ DSI นำหมายค้นและหมายจับของศาลอาญา เข้าตรวจค้นสถานอาบอบนวดวิคตอเรียซีเครท หลังได้รับการร้องเรียนจาก “มูลนิธิพิทักษ์สตรี” ให้เข้าช่วยเหลือเหยื่อที่เป็นเด็กหญิงชาวเมียนมาร์ ที่อาจถูกพาเข้ามาค้าประเวณีในประเทศไทย

ขณะที่ในวันที่ 13 ม.ค.61 เจ้าหน้าที่ DSI ได้สอบปากคำ นายบุญทรัพย์ อมรรัตนาศิริ หรือ ป๋ากบ เจ้าหน้าที่เชียร์ลูกค้าให้มาซื้อบริการสถานบันเทิง อาบอบนวด วิคตอเรียซีเครท ซึ่งเป็นผู้ต้องหาตามหมายจับข้อหาค้ามนุษย์ โดยเจ้าหน้าที่ได้หาความเชื่อมโยงไปถึงผู้ร่วมขบวนการรายอื่นๆ กระทั่งพบว่า นายกำพล วิระเทพสุภรณ์ หรือ เสี่ยกำพล นักลงทุนพอร์ตพันล้าน ซึ่งในขณะนั้นถือหุ้นในบริษัท อควา คอร์เปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ AQUA, บริษัท โรงพิมพ์ตะวันออก จำกัด (มหาชน) หรือ EPCO, บริษัท เบตเตอร์ เวิลด์ กรีน จำกัด (มหาชน) หรือ BWG, บริษัท มั่นคงเคหะการ จำกัด (มหาชน) หรือ MK เป็นต้น เป็นเจ้าของสถานบริการอาบอบนวด วิคตอเรียซีเครท

นอกจากนี้ นายชูวิทย์  กมลวิศิษฎ์ อดีตเจ้าของอาบอบนวด วิคตอเรีย ซีเครท ได้เปิดเผยผ่านรายการเรื่องเล่าเช้านี้ ช่วง “ชูวิทย์มีเรื่องเล่า” ทางสถานีโทรทัศน์ไทยทีวีสีช่อง 3 ระบุถึงกรณีอาบอบนวด วิคตอเรีย ซีเครท ว่า “ตนขายวิคตอเรีย ซีเครทให้นายกำพล วิระเทพสุภรณ์ เมื่อเกือบ 15 ปีที่แล้ว ขณะที่สถานบริการดังกล่าวถูกข้อหาไม่ทำประวัติของพนักงานนั่นเป็นเพราะว่ามีบุคคลต่างด้าวและพนักงานต่ำกว่าอายุ 18 ปี

ส่วนเงินรายได้ของสถานบริการนั้น ได้นำเข้าสู่บัญชีธนาคารของบริษัทแห่งหนึ่ง ก่อนที่จะย้ายไปยังบัญชีอื่น เพื่อโอนเข้าสู่พอร์ตหุ้นบริษัทหนึ่งในตลาดหลักทรัพย์ที่มีนายกำพล เป็นผู้ถือหุ้นอันดับหนึ่ง”

ทั้งนี้ จากการนำเสนอข่าวข้อมูล AQUA ได้ดำเนินการทางกฏหมายเพื่อเรียกร้องให้มีการรับผิดชอบต่อการกระทำของผู้ดำเนินรายการ เรื่องเล่าเช้านี้ ช่วง “ชูวิทย์มีเรื่องเล่า”  เนื่องจากผู้ดำเนินรายการได้เผยแพร่ข้อมูลที่เป็นความเท็จและเป็นการใส่ความหมิ่นประมาทบริษัทฯ ทำให้บริษัทฯ ได้รับความเสียหายอย่างร้ายแรง ไม่ว่าจะเป็นราคาหุ้นที่ตกลงอย่างมาก ชื่อเสียง ภาพลักษณ์ ความน่าเชื่อถือ ความนับถือและความไว้วางใจในการประกอบอาชีพและการติดต่อธุรกิจได้รับความกระทบกระเทือน รวมถึงถูกดูหมิ่นเกลียดชัง ซึ่งบริษัทฯ ยื่นฟ้องทั้งในส่วนของผู้ที่กล่าวข้อความและผู้ควบคุมดูแลการออกอากาศ ซึ่งบริษัทเห็นว่ามีหน้าที่ต้องพิจารณากลั่นกรองเนื้อหาการนำเสนอข่าวก่อนแพร่ภาพและเสียง แต่กลับไม่ระงับยับยั้งการออกอากาศ ทั้งนี้ AQUA ในเบื้อต้นได้เรียกร้องค่าเสียหายเป็นเงินราว 333 ล้านบาท

โดย AQUA ได้ยื่นฟ้องเป็นคดีอาญา 10 ราย ประกอบด้วยจำเลยที่ 1 คือ บริษัท บางกอกเอ็นเตอร์เทนเม้นต์ จำกัด พร้อมพวกอีก 9 รายประกอบด้วย นายประวิทย์ มาลีนนท์, นายประชุม มาลีนนท์, นางสาวรัตนา มาลีนนท์, นางสาวนิภา มาลีนนท์, นางสาวอัมพร มาลีนนท์, นางรัชนี นิพัทธกุศล, นายชูวิทย์ กมลวิศิษฏ์, นางสาวพิชญทัฬห์ จันทร์พุฒ และ นายภาษิต อภิญญาวาท

รวมทั้งคดีแพ่งยื่นฟ้อง 15 ราย โดยมี บริษัท บีอีซี เวิลด์ จำกัด (มหาชน) หรือ BEC เป็นจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 2 คือ บริษัท บางกอกเอ็นเตอร์เทนเม้นต์ จำกัด ส่วนจำเลยที่เหลือ ได้แก่ นายประวิทย์ มาลีนนท์, นายประชุม มาลีนนท์, นางสาวรัตนา มาลีนนท์, นางสาวนิภา มาลีนนท์, นางสาวอัมพร มาลีนนท์, นางรัชนี นิพัทธกุศล, นายสมประสงค์ บุญยะชัย, นายแมทธิว กิจโอธาน, นายวรวรรธน์ มาลีนนท์, นายทศพล มาลีนนท์, นายชูวิทย์ กมลวิศิษฏ์, นางสาวพิชญทัฬห์ จันทร์พุฒ และ นายภาษิต อภิญญาวาท

ต่อมาเมื่อวันที่ 19 ม.ค.61 ศาลอาญาอนุมัติหมายจับ นายกำพล วิระเทพสุภรณ์ และนางนิภา ธีระตระกูลวัฒนา ในความผิดฐานรวมทั้งสิ้น 12 ข้อหาในความผิดฐานกระทำความผิดร่วมกันค้ามนุษย์ โดยเป็นผู้แสวงหาประโยชน์โดยมิชอบจากบุคคล และเด็กอายุต่ำกว่า 18 ปีแม้บุคคลนั้นจะยินยอมก็ตาม

ทั้งนี้ จากประเด็นดังกล่าวข้างต้นได้ส่งผลกระทบต่อราคาหุ้นบริษัท อควา คอร์เปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ AQUA และราคาหุ้นบริษัท โรงพิมพ์ตะวันออก จำกัด (มหาชน) หรือ EPCO ปรับตัวลงค่อนข้างมาก เนื่องจาก นายกำพล วิระเทพสุภรณ์ นั้นเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่รายใหญ่ของทั้งสองบริษัท และมีการรายงานว่าบริษัทจดทะเบียนทั้ง 2 อาจมีส่วนเกี่ยวข้องธุรกรรมการฟอกเงินอีกด้วย

อย่างไรก็ตาม ผู้บริหารทั้งจาก AQUA และ EPCO ต่างออกมายืนยันชัดเจนว่า ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องในธุรกรรมการฟอกเงิน และ นายกำพล วิระเทพสุภรณ์ นั้นเป็นเพียงผู้ถือหุ้นรายใหญ่เท่านั้น ไม่มีอำนาจหน้าที่ในการบริหารบริษัทแต่อย่างใด ทั้งนี้ ในระหว่างกระบวนการพิจารณาคดีดังกล่าวได้มีกระแสข่าวออกมาว่า เสี่ยกำพลได้หลบหนีออกจากประเทศไทยไปแล้ว

ขณะที่ เมื่อวันที่ 2 เม.ย.61 พ.ต.ท.สุภัทร ธรรมธนารักษ์ ผู้อำนวยการกองคดีการค้ามนุษย์ กรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) นำเอกสารหลักฐานพร้อมสำนวนการสอบสวนคดีค้ามนุษย์สถานบริการอาบอบนวดวิคตอเรียซีเครท ส่งให้กับอัยการคดีค้ามนุษย์ เพื่อพิจารณาและมีความเห็นสั่งฟ้องตามขั้นตอนต่อไป

ส่วนการติดตามตัวนายกำพล วิระเทพสุภรณ์ ซึ่งเชื่อว่าเดินทางออกนอกประเทศผ่านช่องทางธรรมชาติแล้วนั้น อยู่ระหว่างการสืบสวนติดตามหากพบที่อยู่ชัดเจนจะเร่งประสานอัยการต่างประเทศเพื่อติดตามตัวตามขั้นตอน

ดังนั้น จึงน่าจับตามองว่า คดีนี้จะสิ้นสุดอย่างไร รวมทั้งนายกำพล ได้หลบหนีออกนอกประเทศไปแล้วจริงหรือไม่ หากมีความคืบหน้า “ข่าวหุ้นธุรกิจออนไลน์” จะรายงานให้ทราบในเวลาต่อไป

Back to top button