KBANK ประกาศงบฯวันนี้ ลุ้นกำไร Q1/61 ทะลุหมื่นล้าน หลังตั้งสำรองหนี้สูญลดฮวบ

KBANK ประกาศงบฯวันนี้ ลุ้นกำไร Q1/61 ทะลุหมื่นล้าน หลังตั้งสำรองหนี้สูญลดฮวบ อีกทั้งยังไม่ได้รับผลกระทบจากการปรับลดค่าธรรมเนียมการโอน ฝากผู้บริหารมั่นใจปีนี้สินเชื่อโต 6-8% รับปัจจัยบวก EEC


“ข่าวหุ้นธุรกิจออนไลน์” ได้มีการสำรวจข้อมูลและบทวิเคราะห์บริษัทจดทะเบียน หลังเข้าสู่ช่วงประกาศผลประกอบการงวดไตรมาส 1/61 โดยนักวิคราะห์มีการคาดการณ์ว่า ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) หรือ KBANK จะประกาศผลประกอบการออกมาในวันนี้ (19 เม.ย.61)

ด้านนักวิเคราะห์ บล.ฟินันเซีย ไซรัส ระบุในบทวิเคราะห์ คาดแนวโน้มกำไรสุทธิไตรมาส 1/61 ของ KBANK จะอยู่ที่ราว 1.06 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้น 87% จากไตรมาสก่อน และเพิ่มขึ้น 5% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากยังไม่ได้รับผลกระทบจากการปรับลดค่าธรรมเนียมการโอน

โดยกำไรที่พุ่งขึ้นจากไตรมาสก่อนเกิดจากค่าใช้จ่ายในการตั้งสำรองค่าเผื่อหนี้สูญที่คาดว่าจะลดลง 26% และ 6%เทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน หรืออยู่ที่ 8.6 พันลบ. น้อยสุดในรอบ 5 ไตรมาส บนสมมติฐาน Credit cost ที่ 1.95% ลดลงจากค่าเฉลี่ยที่ 2.4% ในปีก่อนหน้า และ 2.6% ในไตรมาส 4/60

นอกจากนี้คาดว่าค่าใช้จ่ายที่ไม่ใช่ดอกเบี้ยจะลดลงตามฤดูกาล โดยคาดอัตราส่วนค่าใช้จ่ายต่อรายได้จะลดลงสู่ 40.6% จาก 49% ในไตรมาสก่อน และใกล้เคียงกับไตรมาส 1/60 เราคาดว่า NIM จะอ่อนตัวลงเล็กน้อยจากไตรมาสก่อนมาอยู่ที่ราว 3.45-3.47% จาก 3.5% ในไตรมาสก่อนโดยคาดว่า CoF จะเริ่มกดดันและคาดค่าใช้จ่ายดอกเบี้ยเพิ่มขึ้น 3% จากไตรมาสก่อน และปีก่อน

ด้านนายสุวัฒน์ เตชะวัฒนวรรณา รองกรรมการผู้จัดการ KBANK เปิดเผยว่า แนวโน้มการเติบโตของเศรษฐกิจในปี 61 ยังขยายตัวได้จากสัญญาณการฟื้นตัวของประเทศคู่ค้าของไทย การเติบโตของตัวเลขการส่งออก การขยายตัวของการท่องเที่ยวที่ดีเกินคาดต่อเนื่องจากปีที่แล้ว และยังมีปัจจัยสนับสนุนด้านเงินลงทุนจากภาครัฐที่มีความชัดเจนและเป็นรูปธรรมมากขึ้น โดยเฉพาะเม็ดเงินลงทุนในโครงการระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EEC) ที่เชื่อว่าจะเป็นตัวขับเคลื่อนสำคัญของการลงทุนในปี 2561

อีกทั้งโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) และ Digital Economy จะช่วยหนุนสินเชื่อรายใหญ่ปีนี้เติบโต 6-8% คิดเป็นสินเชื่อใหม่ 35,000-45,000 ล้านบาท ส่วนรายได้รวมปีนี้ เติบโต 8% โดยรายได้ค่าธรรมเนียมจะเติบโต 2-5% ผ่านอุตสาหกรรมหลักอย่างกลุ่มอสังหาริมทรัพย์ กลุ่มก่อสร้าง และกลุ่มอาหารและเครื่องดื่ม

นอกจากนี้ยอดสินเชื่อที่เติบโตได้เกินเป้าหมายนี้มีแรงสนับสนุนจากอุตสาหกรรมเด่นในกลุ่มอสังหาริมทรัพย์ ก่อสร้างอาหารและเครื่องดื่ม ส่วนแนวโน้มหนี้ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) ของธุรกิจสินเชื่อรายใหญ่ในปีนี้ มีแนวโน้มลดลงจากเศรษฐกิจขยายตัวดี และมีเงินหมุนเวียนเข้าสู่ระบบธุรกิจดีขึ้น จากปีก่อน NPL ธุรกิจสินเชื่อรายใหญ่น้อยกว่า 2% ต่ำกว่า NPL ภาพรวมของธนาคารที่ 3.3%

Back to top button