เกาหลีเหนือที่เป็นปริศนา

คิม จ็อง อึน เป็นคนในตระกูลคิมรุ่นสามที่ยึดอำนาจครอบงำเหนือสังคมเกาหลีเหนือผิดประหลาดจากรัฐสังคมนิยมทั่วไป แต่บทบาทของเขาในปีนี้ มีแนวโน้มเปลี่ยนไปมากจากที่เคยเป็น “ผู้ร้ายนอกกติกาชาวโลก” ตลอดมา 


พลวัตปี 2018 : วิษณุ โชลิตกุล

คิม จ็อง อึน เป็นคนในตระกูลคิมรุ่นสามที่ยึดอำนาจครอบงำเหนือสังคมเกาหลีเหนือผิดประหลาดจากรัฐสังคมนิยมทั่วไป แต่บทบาทของเขาในปีนี้ มีแนวโน้มเปลี่ยนไปมากจากที่เคยเป็น “ผู้ร้ายนอกกติกาชาวโลก” ตลอดมา

เพียงแต่ท่าทีและบทบาทใหม่ที่แสดงโดยคิมรุ่นที่สามนี้ก็ยังมีกลยุทธ์เชิงรุกไม่เปลี่ยนแปลงจากคิมรุ่นปู่และพ่อมากนัก

ล่าสุด ก่อนเวลาที่คิมจะพบปะกับนายมูน แจ อิน ประธานาธิบดีเกาหลีใต้ในสัปดาห์หน้า และพบปะกับนายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐ (คาดว่าจะมีขึ้นในช่วงต้นเดือนมิถุนายน) เขาได้ประกาศข่าวช็อกโลกในทางบวกในที่ประชุมคณะกรรมการกลางของพรรคแรงงานเกาหลีเหนือ (WPK) ซึ่งจัดขึ้นเมื่อวันศุกร์ว่า “จะระงับการทดสอบนิวเคลียร์ และขีปนาวุธ ICBM ตั้งแต่วันที่ 21 เมษายนเป็นต้นไป ส่วนฐานทดสอบนิวเคลียร์ซึ่งตั้งอยู่ทางตอนเหนือของประเทศก็จะถูกปิดการดำเนินการด้วยเช่นกัน เพื่อแสดงให้เห็นถึงความโปร่งใสว่า เกาหลีเหนือจะไม่เดินหน้าทดสอบนิวเคลียร์

เหตุผลในการยกเลิกที่ดูแปลกพิกล (ไม่ได้บอกว่ายกเลิกชั่วคราวหรือถาวร) อยู่ที่อ้างว่า เกาหลีเหนือได้บรรลุเป้าหมายการพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์แล้ว (หลังจากปีที่ผ่านมา ทดลองไปมากถึง 2 ครั้งไล่เลี่ยกัน) จึงไม่มีความจำเป็นที่จะเดินหน้าแผนการทดสอบนิวเคลียร์หรือขีปนาวุธข้ามทวีปอีกต่อไป

ท่าที “แสวงหาสันติภาพกะทันหัน” ของผู้นำเกาหลีเหนือ ดูขัดแย้งกับท่าทีในอดีตอย่างกลับขั้วชนิด “เอาหัวเดินต่างตีน”  มีเสียงขานรับเชิงบวกพอสมควร แม้จะยังไม่ชัดเจนว่าขานรับจริงจังแค่ไหน หรือแค่เล่นเกมชั่วคราว

ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ได้ระบุผ่านทวิตเตอร์ว่า “นี่เป็นข่าวดีมากสำหรับเกาหลีเหนือและโลก เป็นความคืบหน้าที่ยิ่งใหญ่” แล้วเสริมว่า “ยังมีหนทางสว่างให้เกาหลีเหนือ หลังจากปลดอาวุธนิวเคลียร์สำเร็จแล้ว”

ในวันเดียวกัน ประธานาธิบดีมูนของเกาหลีใต้ ได้เรียกร้องให้เกาหลีเหนือ “ใช้จินตนาการอย่างกล้าหาญ และหาทางออกอย่างสร้างสรรค์” เพื่อให้มั่นใจได้ว่าการประชุมสุดยอดระหว่างสองเกาหลี และการประชุมระหว่างผู้นำสหรัฐฯกับผู้นำเกาหลีเหนือจะประสบผลสำเร็จ

เท่าที่ผ่านมา เกาหลีเหนือได้ต่อต้านมาตรการคว่ำบาตรจากนานาชาติ ในประเด็นโครงการนิวเคลียร์มาโดยตลอด และเมื่อเดือนพฤศจิกายนปีที่ผ่านมา ได้ประกาศว่าประสบความสำเร็จในการทดสอบขีปนาวุธข้ามทวีปรุ่นใหม่ที่สามารถยิงได้ไกลถึงทุกพื้นที่บนแผ่นดินใหญ่สหรัฐฯ ซึ่งทำให้ถูกนานาชาติประณาม รวมถึงนายอันโตนิโอ กูเตอร์เรส เลขาธิการสหประชาชาติ ที่ระบุว่า รัฐบาลเกาหลีเหนือ “ไม่สนใจมุมมองอันเป็นหนึ่งเดียวกันของประชาคมนานาชาติ”

หากท่าทีของเกาหลีเหนือ ไม่ใช่แค่เกมลวงโลกเช่นที่เคยเล่นมายาวนาน แต่สามารถนำไปสู่การบรรลุสันติภาพได้จริง คำถามหลักซึ่งทุกชาติที่เกี่ยวข้องกังวลคือ ดุลอำนาจที่เปลี่ยนไปเหนือเอเชียตะวันออก ซึ่งดำรงอยู่บนรากฐาน “สถานะกึ่งสงคราม” มายาวนานนับแต่สิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่สอง

ที่ผ่านมา การที่เกาหลีเหนือเล่นบทบาทผู้ร้ายมาโดยตลอดได้ เพราะอาศัยช่องโหว่จากการที่ชาติสมาชิก UNSC โดยเฉพาะ สหรัฐฯ จีน ญี่ปุ่น (รวมทั้งเกาหลีใต้ที่รับผลกระทบโดยตรงเต็มที่) ต่างพากันหวาดกลัวว่า การตอบโต้บทบาทผู้ร้ายด้วย  การบังคับใช้มาตรการของ UNSC อาจนำไปสู่ “สถานการณ์ที่เกินเลย” และยากจะควบคุมได้ โดยเฉพาะดุลอำนาจในคาบสมุทรเกาหลี และเอเชียตะวันออก

โจทย์จากสมมติฐานเดิมที่ยากจะพบคำตอบ คือ หากรัฐบาลหรือประเทศเกาหลีเหนือล้มลงไปอย่างสิ้นเชิง อะไรจะเกิดขึ้นต่อเสถียรภาพที่จะสั่นคลอนอย่างยิ่งทั้งภายใน และระหว่าง จีน-เกาหลีใต้-ญี่ปุ่น เพราะมีคำถามตามมาว่า ชาติอื่นในภูมิภาคจะมีทางเลือกว่าด้วย “เกราะกำบังนิวเคลียร์” ของสหรัฐฯ ของจีน หรือของแต่ละประเทศกันดี

ความไม่ลงตัวในคำตอบ ทำให้มาตรการของ UNSC ที่ออกมาถูกบังคับใช้หย่อนยาน เนื่องจากสาเหตุที่ทุกชาติรู้ดี ในขณะที่สหรัฐฯเองก็ปฏิเสธที่จะเดินหน้าเปิดเกมรุกทางการเมืองระหว่างประเทศ ด้วยการเปิดเจรจาโดยตรงกับเกาหลีเหนืออย่างซึ่งหน้า โดยไม่ผ่าน “พหุภาคี UNSC” (ซึ่งทำงานล้มเหลวมาโดยตลอดกว่า 60 ปี)

วันนี้ เมื่อเกาหลีเหนือพลิกเล่นบทบาทอันไม่คุ้นเคย ชาติที่เกี่ยวข้องก็คงต้องเริ่มทำความคุ้นเคยกันใหม่ แต่ก็คงทำตัวไม่ถูกกันพอสมควร

ความไม่คุ้นเคยนี้น่าจะส่งอิทธิพลต่อเกาหลีเหนือด้วยเช่นกัน เพราะที่ผ่านมาบทบาทในฐานะผู้ร้ายในสายตาชาวโลก ได้สร้างกรอบให้เกิดลัทธิบูชาบุคคลรอบตัวของ คิม จ็อง-อึน ที่มีอายุเพียงแค่ 35 ปี ถึงขั้นยกย่องสรรเสริญว่าเป็นผู้สืบทอดอุดมการณ์ยิ่งใหญ่ของการปฏิวัติจูเช รวมทั้งเป็นผู้นำอันโดดเด่นของพรรค กองทัพ แล้วบางทีก็เลยเถิดถึงขั้นเป็นบุคคลยิ่งใหญ่จุติจากสวรรค์ อันเป็นนิยามโฆษณาชวนเชื่อซึ่งเคยใช้เฉพาะกับพ่อและปู่ของเขา

เกาหลีเหนือในอนาคตเมื่อไร้สถานะกึ่งสงคราม ย่อมหมายถึงความจำเป็นต้องพึ่งพาผู้นำอันเข้มแข็งแบบเดิมจะหมดไปโดยปริยาย ฐานะของตระกูลคิมที่ยาวนาน 3 ชั่วคน ย่อมมีโอกาสถูกสั่นคลอนได้

ปริศนานี้ยากจะตอบได้ในทันที

Back to top button