‘นิติ-กรรณิกา’ และโอสถสภา

ข่าว “บมจ.โอสถสภา” ยื่นไฟลิ่งเพื่อจะเข้าตลาดหุ้นกำลังถูกกล่าวถึงอย่างมาก พร้อมกับการตั้งคำถามตามมาว่า กลุ่มโอสถสภาที่ก่อตั้งมากว่า 127 ปี ทำธุรกิจแบบครอบครัวมาโดยตลอด แล้ววันนี้เกิดอะไรขึ้นกับแผนเปลี่ยนเป็นบริษัทมหาชน


ลูบคมตลาดทุน : ธนะชัย ณ นคร

ข่าว “บมจ.โอสถสภา” ยื่นไฟลิ่งเพื่อจะเข้าตลาดหุ้นกำลังถูกกล่าวถึงอย่างมาก

พร้อมกับการตั้งคำถามตามมาว่า กลุ่มโอสถสภาที่ก่อตั้งมากว่า 127 ปี ทำธุรกิจแบบครอบครัวมาโดยตลอด

แล้ววันนี้เกิดอะไรขึ้นกับแผนเปลี่ยนเป็นบริษัทมหาชน

ทว่า หากเข้าไปศึกษาข้อมูลต่างๆ ของกลุ่มโอสถสภาแล้ว ก็จะพบว่า กลุ่มโอสถสภากับตลาดหุ้นนั้น ไม่ได้เป็นสิ่งที่ห่างไกลกัน

กลุ่มโอสถานุเคราะห์ ผู้ถือหุ้นใหญ่ในโอสถสภาที่นำโดย “นิติ โอสถานุเคราะห์” จัดเป็นนักลงทุนระดับ “เซียน” และเป็นเศรษฐีหุ้นอันดับ 5 ของประเทศไทย ด้วยมูลค่าพอร์ตลงทุนกว่า 2.89 หมื่นล้านบาท

นิติ ถือหุ้นอยู่กว่า 13-15 บริษัท ในตลาดหุ้นไทย เช่น CPN, MINT,  HMPRO, CENTEL, AMARIN, BKI,  และเคยถือหุ้นใน BIGC ด้วย

สไตล์การลงทุนในตลาดหุ้นของเขา ส่วนใหญ่เป็นการลงทุนระยะยาว หรือแนว VI อย่างแท้จริง เพราะแทบจะไม่มีการเปลี่ยนตัวหุ้น หรือลดสัดส่วนของหุ้นที่ถือมากนัก

ว่ากันว่า นิติ มีบุคลิกค่อนข้างโลว์โปรไฟล์

นิติ แทบไม่เคยให้สัมภาษณ์กับสื่อ หรือการออกมาให้ข่าว ทั้งๆ ที่เขาจัดเป็น “ฟันเฟืองสำคัญ” ของกลุ่มโอสถสภา

ปัจจุบัน นิติ มีตำแหน่งเป็นกรรมการบริหาร และถือหุ้นใหญ่สุดในกลุ่มโอสถสภา ด้วยจำนวน 624,250,000 หุ้น หรือคิดเป็น 25% (ภายหลังขายหุ้นไอพีโอจะเหลือ 20.78%)

ขณะที่ “เพชร โอสถานุเคราะห์” กลับคือบุคคลที่สื่อจะรู้จักมักคุ้นกันมากกว่า จากการเป็นประธานกรรมการของบริษัทฯ

และปัจจุบัน “เพชร” มีสัดส่วนการถือครองหุ้น 149,735,700 ล้านหุ้น คิดเป็น 6.00% (ภายหลังขายไอพีโอจะเหลือ 149,735,700 หุ้น คิดเป็น 4.98%)

มีข่าวว่า กลุ่มโอสถสภา เตรียมความพร้อมเข้าตลาดหุ้นมา 2-3 ปีแล้ว

โดยเริ่มขยับมาตั้งแต่ปี 2559  และมาเริ่มเปิดตัวในช่วงต้นปี 2560 ด้วยการปรับทัพใหม่ ทั้งการดึงอดีตผู้บริหารของยูนิลีเวอร์ ประเทศไทย และอดีตกรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารไทยพาณิชย์ หรือ SCB คือ “กรรณิกา ชลิตอาภรณ์” เข้ามาเป็นที่ปรึกษาของคณะกรรมการบริหาร

หรือเป็น 1 ในบอร์ดของกลุ่มโอสถสภา

บอร์ดของโอสถสภายังมีชื่อของ “ดร.เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ” ด้วย

ปัจจุบัน ดร.เศรษฐพุฒิ ยังมีตำแหน่งเป็นประธานกรรมการบริหาร สถาบันอนาคตไทยศึกษา , กรรมการในคณะกรรมการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.), กรรมการ คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ธนาคารแห่งประเทศไทย

และกรรมการอิสระ, ประธานกรรมการบริหารความเสี่ยง และกรรมการสรรหา บมจ.ปตท.สผ.

บุคคลที่น่าสนใจอีกคือ  “วรรณิภา ภักดีบุตร”

สำหรับเธอคนนี้อยู่ในแวดวงการตลาดคอนซูเมอร์ไทยมายาวนานมาก เพราะเคยเป็นรองประธานกรรมการบริหารกลุ่มผลิตภัณฑ์เครื่องใช้ส่วนบุคคลและอาหารของ ยูนิลีเวอร์ ประเทศไทย

กระทั่งถูกทาบทามเข้ามารับตำแหน่งกรรมการบริหาร และกรรมการผู้จัดการใหญ่ของโอสถสภา

ผลิตภัณฑ์ของโอสถสภา แบ่งออกเป็น 4 ประเภทหลัก คือ 1.เครื่องดื่มและลูกอม 2.ผลิตภัณฑ์ส่วนบุคคล 3.ผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพ และ 4.ผลิตภัณฑ์ในต่างประเทศ

ทว่าสินค้าที่เป็น Flagship หรือ “เรือธง” และคนทั่วไปรู้จักกันดี

นั่นคือ “เครื่องดื่มเอ็ม-150”

เอ็ม-150  สามารถสร้างรายได้ให้กับโอสถสภาคิดเป็น 50-55% ของรายได้รวมทั้งหมด

และจากข้อมูลของเครื่องดื่มบำรุงกำลังในปี 2560 พบว่ามีมูลค่าตลาดรวม 3.5 หมื่นล้านบาท โดย เอ็ม-150 มีส่วนแบ่งการตลาดอันดับ 1 หรือ 57% รองลงมา คือ คาราบาวแดง  21% กระทิงแดง 16% และอื่นๆ อีก 4-5%

โอสถสภายังมีสินค้า เช่น “ลิโพวิตัน-ดี” เป็นอีกแบรนด์สินค้าที่ได้รับความนิยมรองจาก เอ็ม-150

ส่วนสินค่าเครื่องดื่มอื่นๆ เช่น “เอ็ม-สตอร์ม”, “เครื่องดื่มฉลาม”, “โสมอิน-ซัม”, “เอ็มเกลือแร่” หรือชื่อเดิมคือ “เอ็ม-สปอร์ต”

และยังมีกาแฟพร้อมดื่ม “เอ็ม-เพรสโซ” และเครื่องดื่มชาร์ค เครื่องดื่มสูตรพิเศษสำหรับตลาดในเมียนมา

ส่วนแบรนด์เครื่องดื่มที่เหลือ เช่น เครื่องดื่มซี-วิต, เครื่องดื่มเปปทีน,  เครื่องดื่มคาลพิส และเครื่องดื่มคาวาอิ ที่เพิ่งเข้าสู่ตลาดในปี 2560

ขณะที่ผลิตภัณฑ์ของใช้ส่วนบุคคลส่วนใหญ่อยู่ภายใต้ตราสินค้า “เบบี้มายด์” และ “ทเวลฟ์พลัส”

ข้อมูลตามไฟลิ่งของโอสถสภามีการระบุแบบนี้ครับ

“เพื่อเป็นเงินทุนสำหรับการขยายธุรกิจทั้งในประเทศและต่างประเทศ รวมถึงการพัฒนาปรับปรุงการผลิต การจัดจำหน่ายสินค้า ประสิทธิภาพสินค้าและการดำเนินธุรกิจภายในของบริษัท และยังจะใช้ชำระคืนเงินกู้ยืมจากสถาบันการเงิน และใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนในการดำเนินงาน”

โอสถสภาเพิ่งจะมีการจัดระเบียบสินค้าของตนเองให้เป็นหมวดหมู่และง่ายต่อการทำตลาด

การได้ทีมงานมืออาชีพจากยูนิลีเวอร์ น่าจะช่วยทำให้โอสถสภา แปลงสภาพจากธุรกิจที่ดูแล้วมีความเป็นครอบครัว

และมาสู่การบริหารภายใต้มืออาชีพมากขึ้น

วัฒนธรรมองค์กรจะค่อยๆ ปรับเปลี่ยน รวมถึงระบบการบริหารจัดการต่างๆ จากการเป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ

วันนี้ของโอสถสภากำลังจะเปลี่ยนไป

Back to top button