เส้นทางเงินเฟ้อ-ดอกเบี้ยขาขึ้น

ไม่ว่าผลประชุมเฟดคืนนี้จะออกมาอย่างไร แนวโน้มของดอกเบี้ยขาขึ้นเพื่อสกัดเงินเฟ้อขาขึ้นเช่นเดียวกันจะต้องเกิดขึ้นทั่วทั้งโลก


พลวัตปี 2018 : วิษณุ โชลิตกุล

ไม่ว่าผลประชุมเฟดคืนนี้จะออกมาอย่างไร แนวโน้มของดอกเบี้ยขาขึ้นเพื่อสกัดเงินเฟ้อขาขึ้นเช่นเดียวกันจะต้องเกิดขึ้นทั่วทั้งโลก

รวมทั้งในเศรษฐกิจไทยด้วย เพราะมีสัญญาณชัดเจนจากทั้งตลาด หน่วยงานกระทรวงพาณิชย์ และคณะกรรมการการเงิน (กนง.)

เริ่มต้นตั้งแต่กระทรวงพาณิชย์ น.ส.พิมพ์ชนก วอนขอพร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ในเดือนเมษายน 2561 ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไป (CPI) อยู่ที่ 101.57 ขยายตัว 1.07% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน และหากเทียบเดือน มีนาคม 2561 ขยายตัว 0.45% ส่วนอัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน (Core CPI) อยู่ที่ 101.78 ขยายตัว 0.64% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน และขยายตัว 0.03 % จากเดือน มีนาคม 2561

ตัวเลขดังกล่าวมีความหมายว่า ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปที่ปรับตัวสูงถึง 1.07% เป็นการเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 10 และเป็นอัตราที่สูงที่สุดในรอบ 14 เดือน โดยมีสาเหตุสำคัญจากการปรับตัวสูงขึ้นของราคาพลังงาน, การลดลงของผลผลิตสินค้าเกษตรบางตัว และกำลังการบริโภคเฉลี่ยของประชาชนที่ยังอยู่ในเกณฑ์ดี ในขณะที่ต้นทุนราคาสินค้าอุตสาหกรรมโดยรวมยังชะลอตัว สอดคล้องกับเครื่องชี้วัดด้านการใช้จ่าย การลงทุน และต้นทุนการผลิต ซึ่งชี้ว่าการเพิ่มขึ้นของเงินเฟ้อที่ผ่านมาเป็นผลจากปัจจัยด้านความต้องการใช้จ่ายและการลงทุน (อุปสงค์) มากกว่าผลด้านต้นทุนและการผลิต (อุปทาน)

สำหรับการเปลี่ยนแปลงของราคาสินค้าในเดือนเมษายน พบว่าจากรายการสินค้าทั้ง 422 รายการที่นำมาคำนวณดัชนีราคาผู้บริโภค หรืออัตราเงินเฟ้อทั่วไป พบว่าสินค้า 239 รายการมีราคาสูงขึ้น เช่น ข้าวสารเจ้า, ขนมปังปอนด์, ผักสด, ผลไม้สด, กุ้งขาว, ก๊าซหุงต้ม, ค่ากระแสไฟฟ้า และน้ำมันเชื้อเพลิง เป็นต้น ส่วนสินค้าที่ราคาลดลงมี 112 รายการ เช่น เนื้อสุกร, ไก่สด, ไข่ไก่, ข้าวสารเหนียว, น้ำยาล้างห้องน้ำ, สบู่ และน้ำปลา เป็นต้น ในขณะที่มีสินค้าอีก 71 รายการที่ราคาไม่เปลี่ยนแปลง

แม้การเพิ่มขึ้นของอัตราเงินเฟ้อที่พุ่งแรง ส่วนหนึ่งจะมีปัจจัยสนับสนุนจากการเพิ่มขึ้นของราคาพลังงาน และการปรับตัวของราคาสินค้าเกษตรที่สำคัญบางชนิด แต่เครื่องชี้วัดต่างๆ โดยรวมยังสะท้อนว่าการบริโภคและการใช้จ่ายของภาครัฐและเอกชนยังอยู่ในระดับที่ดี ประกอบกับการจ้างงาน การจัดเก็บรายได้ การผลิตภาคอุตสาหกรรม และการหมุนเวียนของปริมาณเงินในระบบยังอยู่ในระดับที่เอื้อต่อการบริโภค

ที่สำคัญยังพบอีกว่าการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำทั่วประเทศตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน ไม่ส่งผลกระทบต่ออัตราเงินเฟ้อแต่อย่างใด

สำหรับแนวโน้มในอนาคต สนค. คาดว่าอัตราเงินเฟ้อในระยะต่อไปจะเพิ่มสูงขึ้น เนื่องจากผู้บริโภคบางส่วนเริ่มคาดการณ์สถานการณ์ด้านราคาสินค้าและบริการว่าจะเพิ่มสูงขึ้นตามราคาพลังงาน ประกอบกับโครงการลงทุนของภาครัฐและเอกชนเริ่มดำเนินการได้เป็นรูปธรรม ส่งผลให้ความต้องการและราคาสินค้าและบริการเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยกระทรวงพาณิชย์ประเมินว่าอัตราเงินเฟ้อในช่วงไตรมาส 2 ของปีนี้จะอยู่ในกรอบเป้าหมายนโยบายการเงินที่รัฐบาลตั้งไว้ที่ 1-4% และคาดว่าทั้งปีนี้เงินเฟ้อทั่วไปจะอยู่ในกรอบที่กระทรวงพาณิชย์คาดการณ์ไว้ที่ 0.7-1.7% ได้

ทิศทางของเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้น แม้จะยังต่ำติดดิน หากมองย้อนกลับไปจะพบว่า อัตราเงินเฟ้อของไทยได้พ้นจุดต่ำสุดมาตั้งแต่ปลายปีที่แล้ว และจะไม่หวนกลับไปสู่ภาวะเงินเฟ้อติดลบ (disinflation) อีก รวมทั้งอาจจะทำให้พ้นภาวะกับดักสภาพคล่อง ไม่เป็น “บัวปริ่มน้ำ” อีกต่อ ไป

เหตุผลหลัก คือ อัตราดอกเบี้ยนโยบายของ กนง.ไทยปัจจุบันต่ำกว่าอัตราดอกเบี้ยนโยบายของเฟดมาหลายเดือนแล้วนั่นเอง เพียงแต่ความกล้าหาญที่ กนง.จะปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายยังคงต่ำ ด้วยข้ออ้างสารพัดเท่าที่สรรหามาอ้าง โดยเฉพาะคำว่า “ยังมีปัจจัยเสี่ยงหลายประการที่ต้องเฝ้าระวัง”

ที่สำคัญยามนี้ ขณะที่ฟันด์โฟลว์เริ่มถอนตัวจากตลาดไทยทั้งตลาดหุ้นและตราสารหนี้ ส่งผลให้ธนาคารแห่งประเทศไทยส่งสัญญาณชัดเจนมากขึ้นว่าอาจจะจบยุคดอกเบี้ยขาลงหรือดอกเบี้ยทรงตัวต่ำเสียที ด้วยการเพิ่มวงเงินประมูลพันธบัตร 2 รุ่น อายุ 3 และ 6 เดือน ในรอบการประมูลของวันที่ 15 พฤษภาคมนี้ เป็นรุ่นละ 35,000 ล้านบาท จากเดิมที่ระดับ 30,000 ล้านบาท ซึ่งอาจส่งผลให้ Yield ในตราสารระยะสั้นปรับตัวเข้าสู่สมดุลตามเดิม ที่ส่งผลให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตร ธปท. หรือ บอนด์ยีลด์เพิ่มขึ้น

ผลพวงจากสัญญาณดังกล่าว ทำให้ตลาดเงินคาดการณ์ว่าการประชุม กนง.ในวันที่ 16 พฤษภาคมนี้ อาจมีมติที่ไม่เป็นเอกฉันท์ให้เห็นอีกครั้ง หลังจากที่ในครั้งก่อนมีมติคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายด้วยเสียง 6:1 มาแล้ว

ทางด้านผู้ว่าการ ธปท. นายวิรไท สันติประภพ ก็ออกมาส่งสัญญาณด้วยภาษาที่ต้อง “ปีนกระไดถอดรหัส” ว่า ภาวะเจเคิร์ฟทยอยหายไป ลดการบิดเบือนตลาดตราสารหนี้ โดยไม่ยอมบอกว่ามีการบิดเบือนตั้งแต่เมื่อใด

นั่นหมายความว่า ถึงที่สุดแล้ว จะช้าหรือเร็ว สถานการณ์บังคับให้ กนง.ต้องปรับขึ้นดอกเบี้ย ทำนองเดียวกับเฟดอย่างเลี่ยงไม่พ้น

เพียงแต่ยิ่งขึ้นดอกเบี้ยนโยบายช้า และน้อยเท่าใด ฟันด์โฟลว์จะยิ่งเร่งถอนตัวออกจากตลาดไทยเร็วและมากเป็นสัดส่วนผกผันกัน

ข้อดี 2 ประการของฟันด์โฟลว์ไหลออก คือ 1) ค่าบาทอ่อนลง ช่วยให้ธุรกิจส่งออกมีกำไรมากขึ้นทั้งกำไรปกติจากยอดขายที่เพิ่มขึ้น และกำไรพิเศษจากอัตราแลกเปลี่ยน 2) ฐานะการเงินของ ธปท.ที่มีตัวเลขขาดทุนจากค่าบาทแข็งเมื่อปีก่อน 71,816 ล้านบาท และตัวเลขผลขาดทุนสะสมอยู่ที่ 879,419 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2559 ที่ขาดทุนสะสมจำนวน 807,603 ล้านบาท จะได้กลับมาดีขึ้น แม้ว่าอาจจะทำให้ทุนสำรองเงินตราระหว่างประเทศลดลง จากระดับล่าสุดที่เกินจำเป็น

ส่วนดัชนี SET ของตลาดหุ้นไทยจะเป็นอย่างไร คงคาดเดาไม่ยาก

Back to top button