พาราสาวะถี

ถ้าเป็นภาษาวัยรุ่นคงต้องบอกว่าเพราะความเว่อร์วังอลังการกระมัง ถึงทำให้การลงพื้นที่จังหวัดบุรีรัมย์ของ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ถูกพูดถึงไม่หยุด โดยเฉพาะการโต้ตอบกันไปมาระหว่างพรรคคนคุ้นเคยอย่าง ภูมิใจไทย กับ ประชาธิปัตย์ คงเป็นเพราะต่างก็รู้ทางกันดี ยิ่ง อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ น่าจะซาบซึ้งถึงอ้อมกอดของ เนวิน ชิดชอบ ได้เป็นอย่างดี


อรชุน

ถ้าเป็นภาษาวัยรุ่นคงต้องบอกว่าเพราะความเว่อร์วังอลังการกระมัง ถึงทำให้การลงพื้นที่จังหวัดบุรีรัมย์ของ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ถูกพูดถึงไม่หยุด โดยเฉพาะการโต้ตอบกันไปมาระหว่างพรรคคนคุ้นเคยอย่าง ภูมิใจไทย กับ ประชาธิปัตย์ คงเป็นเพราะต่างก็รู้ทางกันดี ยิ่ง อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ น่าจะซาบซึ้งถึงอ้อมกอดของ เนวิน ชิดชอบ ได้เป็นอย่างดี

ด้วยเหตุนี้ไม่ว่าจะกล่าวหากันอย่างไร แต่ก็พอจะเข้าใจกันได้ สิ่งที่อภิสิทธิ์ถาม ถ้าจังหวัดอื่นอยากจะได้งบประมาณแบบนี้บ้างต้องทำอย่างไร จะต้องมีอดีตส.ส. นักการเมือง มาต้อนรับแบบนี้หรือไม่ ซึ่งถ้าเป็นอย่างนั้น ก็ย้อนกลับไปเหมือนเดิมว่า มันจะกระทบแนวความคิดที่พูดกันถึงเรื่องหลักที่เกี่ยวข้องกับการบริหารราชการแผ่นดินว่า เป็นระบบการเมืองที่ดีหรือไม่

เป็นแค่การอุ้มลูกพรรคที่ออกมาด่าพรรคของเนวินและ อนุทิน ชาญวีรกูล เท่านั้น เพราะบทสัมภาษณ์ดังกล่าวหัวหน้าพรรคเก่าแก่ยังปกป้องหัวหน้าพรรคภูมิใจไทยโดยยกเอายิ่งที่ได้พูดคุยกันว่า อนุทินค่อนข้างหนักแน่นว่าพรรคของเขาก็คือพรรคของเขาและจุดยืนทางการเมืองเป็นเรื่องที่ต้องไปว่ากันในช่วงของการเลือกตั้ง แต่ว่า เมื่อรัฐบาลบอกว่าจะสัญจรไปในพื้นที่ซึ่งเป็นฐานเสียงสำคัญของเขา แล้วติดต่อให้เขาไปต้อนรับ มันก็ต้องว่ากันตามมารยาท

เรื่องถ้อยทีถ้อยอาศัยหรือใครจะมองเป็นประเภทตบหัวแล้วลูบหลังก็ตาม ไม่มีใครเกินคนพรรคเก่าแก่อยู่แล้ว แต่จะว่าไปไม่ว่าจะด้วยเหตุผลกลใด คนส่วนใหญ่ก็ยังมองว่าครม.สัญจรโดยเลือกเป้าหมายก็คือหนึ่งในเกมเดินหน้าดูด และเข้าเค้าใกล้กับสิ่งที่ นิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ ว่าไว้วันวาน สถานีต่อไปของผู้มีอำนาจคือกลุ่มวังน้ำเย็นของ เสนาะ เทียนทอง ที่ครม.สัญจรจะไปเยือนจังหวัดสระแก้วในเร็ว ๆ นี้

ท่านผู้นำเขาบอกแล้วว่าดูดคือครรลองของประชาธิปไตย อยู่ที่ว่าจะทำได้เนียนไร้รอยต่อหรือไม่นั่นก็อีกเรื่อง หรือแม้จะไม่เนียนออกลูกทะเล่อทะล่าอย่างไรใครก็ไม่กล้าวิจารณ์ อย่างไรก็ตาม ว่าด้วยการดูดที่มีความพยายามจะทำให้เป็นสิ่งที่ไม่น่าเกลียดนั้น บทความล่าสุดของ สุรพศ ทวีศักดิ์ อธิบายได้อย่างน่าสนใจ โดยเริ่มต้นให้คำนิยามของนักการเมืองก่อนว่า หมายถึงบุคคลที่ทำกิจกรรมทางการเมืองที่สังกัดพรรคการเมือง หรือบุคคลที่แสวงหาตำแหน่ง อำนาจทางการเมืองการปกครอง

ในประเทศประชาธิปไตย นักการเมืองคือผู้เข้าสู่อำนาจรัฐผ่านการเลือกตั้ง แต่ในประเทศไม่ประชาธิปไตย นักการเมืองเข้าสู่อำนาจรัฐโดยการแต่งตั้งหรือโดยการปฏิวัติรัฐประหาร พูดอย่างกว้าง นักการเมืองหมายรวมถึงบุคคลที่ได้มาซึ่งอำนาจทางการเมืองโดยอาศัยกลไกของสถาบันราชการหรืออำมาตยาธิปไตยด้วย

มันจึงไม่จริงอย่างที่พูดกันในบ้านเราปัจจุบันนี้ว่า นักการเมืองคือพวกที่แข่งขันกันเข้าสู่อำนาจรัฐผ่านการเลือกตั้งเท่านั้น เพราะในความหมายอย่างกว้าง คสช.ก็ย่อมเป็นนักการเมืองประเภทหนึ่งที่เข้าสู่อำนาจรัฐด้วยวิธีรัฐประหาร ฉีกและเขียนกติกาการปกครองขึ้นมาใหม่แล้วบริหารประเทศบนกติกาที่เขียนขึ้นเอง ฉะนั้น ถ้าเราบอกว่านักการเมืองที่แข่งขันเข้าสู่อำนาจรัฐผ่านการเลือกตั้งคือนักการเมืองในระบบ คสช.ที่เข้าสู่อำนาจรัฐด้วยวิธีรัฐประหารก็คือนักการเมืองนอกระบบ

การบอกว่าการดูดนักการเมืองคือครรลองประชาธิปไตย แต่ที่จริงแล้วถ้าการดูดหมายถึงการหาสมัครพรรคพวกเพื่อเพิ่มอำนาจต่อรองทางการเมือง หรือเพื่อชัยชนะในการต่อสู้ทางการเมืองมันก็ไม่ใช่ครรลองของประชาธิปไตยโดยเฉพาะแต่อย่างใด หลังทำรัฐประหารคสช.นอกจากจะดูดบรรดานายทหารด้วยกันมาเป็นพรรคพวกแล้ว ยังดูดนักวิชาการ เทคโนแครต สื่อมวลชน นักธุรกิจ เอ็นจีโอกลุ่มต่างๆมาเป็นพวก

ส่วนกลุ่มบุคคลอื่น ๆ ที่ดูดมาเป็นพวกเดียวกันไม่ได้ก็ใช้อำนาจปืนควบคุมอย่างเข้มงวด ดังนั้น การดูดจึงไม่ใช่ครรลองประชาธิปไตย จริงอยู่การเมืองในระบอบประชาธิปไตยมันมีการย้ายพรรคของบรรดานักการเมืองอยู่จริง ซึ่งการย้ายพรรคอาจจะเป็นผลดีหรือผลเสียต่อการพัฒนาประชาธิปไตยก็ได้ ขึ้นอยู่กับเงื่อนไขอื่นๆ

เช่นในประเทศที่ระบบหรือโครงสร้างทางการเมืองเป็นประชาธิปไตยเข้มแข็งแล้ว การย้ายพรรคของบรรดานักการเมืองย่อมเป็นไปตามเงื่อนไขทางอุดมการณ์และนโยบายพรรคที่เป็นเสรีนิยมอนุรักษนิยม หรือซ้าย-ขวา มากกว่าจะเป็นเรื่องของทุนหนา-ทุนบาง หรือแรงกดดันจากอำนาจการเมืองนอกระบบ แต่ถ้าการดูดเป็นไปด้วยเงื่อนไขเรื่องทุนและอำนาจนอกระบบ วัฒนธรรมการดูดเช่นนี้ก็ย่อมไม่เกี่ยวกับครรลองประชาธิปไตยและไม่เป็นผลดีต่อการพัฒนาประชาธิปไตย

มันเป็นเพียงวัฒนธรรมการดูดบนความจริงทางประวัติศาสตร์ที่ว่า ประเทศไทยมีรัฐประหารเฉลี่ย 4 ปี 8 เดือนต่อครั้ง และกติกาการปกครองประเทศก็ถูกฉีกทิ้งและเขียนขึ้นใหม่ภายใต้อำนาจเผด็จการ มันจึงเป็นวัฒนธรรมการดูดภายใต้ครรลองเผด็จการมากกว่า เราจึงจำเป็นต้องตั้งคำถามกับนักการเมืองและพรรคการเมืองมากขึ้น

ภายใต้ประวัติศาสตร์การปฏิวัติรัฐประหารซ้ำซากที่มีนักศึกษาและประชาชนสละชีวิตและอิสรภาพครั้งแล้วครั้งเล่าในการต่อสู้กับเผด็จการเพื่อคืนสู่การเลือกตั้ง บรรดานักการเมืองและพรรคการเมืองได้เสนออุดมการณ์ แนวคิด นโยบายรูปธรรมอะไรบ้างในการสร้างประชาธิปไตย ถ้าหากบรรดานักการเมือง พรรคการเมืองยังคงรักษาวัฒนธรรมการดูด หรือยินดีเล่นไปตามกติกาที่อำนาจไม่เป็นประชาธิปไตยเขียนให้เท่านั้น

การต่อสู้เสียสละของประชาชนตลอดประวัติศาสตร์ที่ผ่านมา ก็ไม่สามารถสร้างการเปลี่ยนแปลงในเชิงระบบโครงสร้างได้ หากไม่มีนักการเมือง พรรคการเมืองรับเอาเจตนารมณ์ของประชาชนไปแปรเป็นนโยบายขับเคลื่อนต่อให้กลายเป็นจริง เมื่อเป็นเช่นนี้ วงจรการเมืองน้ำเน่าและการปฏิวัติรัฐประหารก็ไม่มีวันสิ้นสุด แน่นอนว่าแม้เผด็จการยุคใหม่จะอ้างเรื่องของปฏิรูปและยุทธศาสตร์ชาติ แต่สิ่งเหล่านั้นก็คือการพาประเทศถอยหลังย้อนยุค หาใช่การเดินทางไปสู่อนาคตและเป็นไทยแลนด์ 4.0 อย่างที่คุยโวไม่

Back to top button