พาราสาวะถี

ลงทุนแต่งกลอน ออดอ้อนพ่อยกแม่ยกทั้งประเทศ ผ่านรายการของตัวเอง แต่ปัญหามันก็คือ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้ยอมรับที่มาของตัวเองแห่งการขึ้นสู่อำนาจบริหารประเทศว่าไม่ได้มาจากการเลือกของประชาชน ดังนั้น พอมีบทพรรณนาถึงประชาธิปไตยมันจึงไม่เนียน ยิ่งปิดท้ายด้วยไทยนิยมยั่งยืน จึงเป็นได้แค่เพียงการโฆษณาชวนเชื่อของพวกเผด็จการ


อรชุน

ลงทุนแต่งกลอน ออดอ้อนพ่อยกแม่ยกทั้งประเทศ ผ่านรายการของตัวเอง แต่ปัญหามันก็คือ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้ยอมรับที่มาของตัวเองแห่งการขึ้นสู่อำนาจบริหารประเทศว่าไม่ได้มาจากการเลือกของประชาชน ดังนั้น พอมีบทพรรณนาถึงประชาธิปไตยมันจึงไม่เนียน ยิ่งปิดท้ายด้วยไทยนิยมยั่งยืน จึงเป็นได้แค่เพียงการโฆษณาชวนเชื่อของพวกเผด็จการ

วันนี้ ภาพความพยายามจะตั้งพรรคการเมืองเพื่อใช้เป็นฐานในการอุ้มท่านผู้นำเผด็จการกลับมาสู่ตำแหน่งตามช่องทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญที่ชงเองกินเอง ด้วยวิธีการดูดนักการเมืองจากสารพัดกลุ่ม สารพัดมุ้ง กำลังเป็นประเด็นที่ทำให้เกิดข้อกังขากับคนที่ประกาศจะปฏิรูปประเทศ โดยวางแผนยุทธศาสตร์ชาติไว้ยาวถึง 20 ปี แต่กลับใช้วิธีแบบนักการเมืองชั่วนักการเมืองเลว

มันจึงเข้าอีหรอบว่าแต่เขาอิเหนาเป็นเอง ด้วยเหตุนี้มันจึงเป็นเหตุให้บิ๊กตู่ไม่ยอมตอบคำถามของนักข่าวเมื่อวันศุกร์เรื่องยกเลิกกำหนดการลงพื้นที่จังหวัดสระแก้ว ที่เกิดขึ้นพร้อม ๆ กับข่าวการดูดกลุ่มวังน้ำเย็นของ เสนาะ เทียนทอง พอจะเข้าใจภาพแห่งความยิ่งใหญ่ของการต้อนรับที่บุรีรัมย์มันยังไม่จางหาย ท่านผู้นำก็จะไปยังกลุ่มเป้าหมายอีกชุด นั่นจึงย่อมทำให้คนมองเห็นภาพการกุลีกุจอไล่กวาดต้อนนักการเมืองเข้าสังกัด

ไม่เพียงแค่เท่านั้น การไปในแต่ละพื้นที่ในฐานะพระยาเหยียบเมืองมันจะไปมือเปล่าไม่ได้ ต้องพกเอางบประมาณไปหว่านไปสร้างขวัญและกำลังใจให้กับคนที่ยื่นมือไปผูกมิตรด้วย เมื่อมันเกิดขึ้นอย่างถี่ยิบ ก็จะเกิดคำถามต่อมาเรื่องวินัยการเงินการคลัง สุดท้ายก็หนีไม่พ้นปมการใช้เงินแผ่นดินไปหาเสียงสร้างคะแนนนิยมให้กับตัวเอง ซึ่งมันจะขัดกับคำประกาศของหัวหน้าเผด็จการที่บอกว่าเข้ามาเพื่อประโยชน์ของบ้านเมือง

จึงจำเป็นที่จะต้องเว้นระยะไว้บ้าง ยิ่งช่วงนี้ใกล้ที่จะครบรอบ 4 ปีการรัฐประหาร หากยิ่งไปเปิดแผลสร้างจุดอ่อนไว้เรื่อย ๆ ก็จะถูกฝ่ายตรงข้ามอย่างกลุ่มคนอยากเลือกตั้งนำไปเป็นประเด็นขยายผล เพราะคนกลุ่มดังกล่าวประกาศไว้ล่วงหน้านานแล้ว นัดชุมนุม 19 พฤษภาคมนี้ลากยาวไปจนถึงวันที่ 22 พฤษภาคมภายใต้คำขู่เคลื่อนพลไปเยือนทำเนียบรัฐบาล

ดังนั้น ท่วงท่าของท่านผู้นำในห้วงเวลานี้ยังต้องพยายามสงบเพื่อหลีกเลี่ยงการยั่วยุทำให้ตบะแตก แต่อีกด้านก็สั่งการให้มีการตรวจสอบท่อน้ำเลี้ยง สายสัมพันธ์รวมถึงการหาเบื้องหลังของกลุ่มคนเหล่านี้ว่ามีใครชักใย ถือเป็นสูตรสำเร็จของทุกรัฐบาล แต่ก็อย่าลืมจุดแข็งของกลุ่มอยากเลือกตั้งคือการมีคนรุ่นใหม่ที่ไร้ภาพอิงแอบการเมืองเป็นจุดขาย

จึงไม่ใช่เรื่องง่ายที่จู่ ๆ ฝ่ายความมั่นคงจะมาปูดข้อมูลกล่าวหาว่า รับเงินและรับงานจากใคร โดยไร้หลักฐานมาแสดง เมื่อเป็นเช่นนั้นคำขู่ดังกล่าวจึงเป็นเพียงการกระทืบเท้าเพื่อให้ฝ่ายตรงข้ามออกอาการกลัว แต่เมื่อไปดูแกนนำที่เป็นคนรุ่นใหม่เหล่านี้แล้ว ต้องยอมรับประการหนึ่งว่า หาบาดแผลที่จะทำให้ฝ่ายกุมอำนาจทำลายล้างได้ยากเหลือเกิน

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่น่าติดตามสำหรับม็อบใหญ่ตามที่ได้ประกาศกันไว้นั้นคือ หากมีคนจำนวนมากเข้าร่วมแล้วเคลื่อนพลจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ไปยังทำเนียบรัฐบาล ฝ่ายความมั่นคงที่มีคู่มือปราบม็อบตามบัญญัติ 7 ประการที่อ้างว่าใช้หลักการสากลเป็นตัวตั้งนั้น จะถูกงัดขึ้นมาใช้ในทันทีหรือไม่ แน่นอนว่า สิ่งที่หนีไม่พ้นคือการใช้กำลังสลายการชุมนุม

หากพิจารณาจากคำพูดของ พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ เหมือนเห็นถึงคำสั่งการไปในตัวคือ ไม่อยากให้มีการเคลื่อนพลและไม่ต้องมาทำเนียบรัฐบาล ด้วยอำนาจเบ็ดเสร็จที่มีและการไม่ยอมเสียหน้า จึงน่าจับตาว่า จะมีการปล่อยผ่านให้ทุกอย่างเป็นตามที่กลุ่มผู้ชุมนุมร้องขอหรือไม่ ถ้าเกิดภาพนั้นขึ้นจริงก็เป็นเรื่องที่น่าคิด คิดทั้งในมุมการโชว์ความใจกว้างของผู้นำเผด็จการที่เตรียมความพร้อมเพื่อจะกลับมาหลังเลือกตั้ง

อีกด้านคงเป็นมุมที่แกนนำทั้งหมดจะถูกดำเนินคดียาวเป็นหางว่าว กระนั้นก็ตาม ก่อนจะถึงวันที่ 19 พฤษภาคมนี้ ฝ่ายเตรียมการชุมนุมเองก็ออกอาการหวั่นใจอยู่ไม่น้อยว่า ระดับนำจะถูกดำเนินการอะไรหรือไม่ เพราะเวลานี้แม้กระทั่งสถานที่หลาย ๆ แห่งที่เคยจองไว้เพื่อหารือเตรียมการ ก็ถูกเจ้าของสถานที่ปฏิเสธและยกเลิกการจองไว้หมดแล้ว เป็นธรรมดาของคนที่ไม่มีใครอยากจะให้ตัวเองเดือดร้อน ภายใต้การปกครองที่ไม่เป็นประชาธิปไตย

บทสรุปสุดท้ายเป็นอย่างไรยังไม่มีใครกล้าตอบ ที่แน่ ๆ ผลการเลือกตั้งของมาเลเซียซึ่ง มหาเธร์ โมฮัมหมัด อดีตผู้นำประเทศวัย 92 ปี ได้กลับคืนสู่บัลลังก์นายกรัฐมนตรีแดนเสือเหลืองอีกรอบนั้น ถูกนักการเมืองและนักวิชาการในบ้านเราหยิบยกมาเป็นตัวอย่าง อ้างกันไปในทิศทางที่เห็นว่าคนพูดและองคาพยพที่ตัวเองสังกัดหรือกุมบังเหียนจะได้ประโยชน์

เห็นได้ชัดคงเป็นรายของ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ที่บอกว่า สิ่งที่ตัวเองมองเห็นจากผลเลือกตั้งของมาเลย์เที่ยวนี้คือ การที่ประชาชนใช้สิทธิในการเลือกตั้งต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชันของรัฐ แม้จะต้องต่อสู้กับการใช้อำนาจรัฐเอาเปรียบคู่แข่งขันหลายเรื่อง รวมทั้งการอัดฉีดนโยบายประชานิยมอย่างเต็มที่ งานนี้วาทกรรมที่เกิดขึ้นผลที่หวังคือยิงกระสุนนัดเดียวได้นกสองตัว

ทั้งพูดถึงรัฐบาลปัจจุบันและพาดพิงไปถึงพรรคคู่แข่ง แต่ทันทีทันใดนั้น เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ อาจารย์คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ก็ได้โพสต์เฟซบุ๊กแสดงความคิดเห็นถึงท่าทีของอภิสิทธิ์ว่า ด้วยความเคารพ เมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2557 ตนและคนไทยจำนวนหนึ่งซึ่งน่าจะไม่น้อยทีเดียว ได้ตัดสินใจใช้สิทธิในการเลือกตั้ง ต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชันเช่นเดียวกับคนมาเลเซีย

ขณะที่พรรคประชาธิปัตย์กลับใช้วิธีบอยคอตการเลือกตั้ง ประดุจดังให้ท้ายกลุ่มกปปส.ที่ขัดขวางการเลือกตั้ง แล้วนำไปสู่ข้ออ้างให้คสช.ออกมาปฏิวัติรัฐประหารในที่สุด นี่หรือคือการต้องเลือกตั้งสู้โกง นี่แหละบทพิสูจน์ที่ว่า การเมืองยุคใหม่ไม่ได้เหมือนเดิมแล้ว ทุกคำพูด ทุกการกระทำ อดีตคนไทยอาจลืมง่ายหรือไม่ได้จดจำ แต่ปัจจุบันทุกการกระทำถูกบันทึกและพร้อมที่จะนำมาประจานคนที่คิดว่าคนไทยยังกินหญ้าได้ตลอดเวลา

Back to top button