ภารกิจหยุด “ออร์เคสตรา (ผจญภัย)” SCB

ถือเป็นข่าวใหญ่ชิ้นหนึ่งในวงการธนาคารและแวดวงตลาดทุน กรณีการแต่งตั้ง "บุญทักษ์ หวังเจริญ" ขึ้นดำรงตำแหน่งใหม่แกะกล่องของ ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) หรือ SCB ซึ่งตำแหน่งนั้นคือ ประธานคณะกรรมการบริหารความเสี่ยง


แฉทุกวันทันเกมหุ้น

ถือเป็นข่าวใหญ่ชิ้นหนึ่งในวงการธนาคารและแวดวงตลาดทุน กรณีการแต่งตั้ง “บุญทักษ์ หวังเจริญ” ขึ้นดำรงตำแหน่งใหม่แกะกล่องของ ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) หรือ SCB ซึ่งตำแหน่งนั้นคือ ประธานคณะกรรมการบริหารความเสี่ยง

แม้ขณะนี้ยังไม่มีการประกาศออกมาอย่างเป็นทางการ แต่ทีมข่าว “ข่าวหุ้นธุรกิจ” ได้รับการยืนยันจากแหล่งข่าวระดับสูงที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับกรณีดังกล่าวอย่างน้อย 2 รายว่า “คอนเฟิร์ม!” จากนี้รอเพียงสัญญาณไฟเขียวจากแบงก์ชาติเพื่อให้เริ่มปฏิบัติงานได้เท่านั้น

ด้านโปรไฟล์ของบุญทักษ์ เป็นที่ทราบกันดีว่ามีความเพียบพร้อมสามารถขึ้นรับตำแหน่งบริหารในสถาบันการเงินได้ทุกแห่งหากว่าต้องการ แต่ก่อนหน้านี้ก็ได้ประกาศเกษียณอายุการทำงานไปเป็นที่เรียบร้อยแล้ว โดยตำแหน่งท้ายสุดเป็น “ซีอีโอ” ของแบงก์ทหารไทย

ก็ต้องบอกว่าชื่อชั้นของอดีตนายแบงก์ใหญ่รายนี้ไม่ธรรมดา และถือเป็นที่ประจักษ์ว่า ขึ้นชื่อในเรื่องการ “ตั้งการ์ดสูง” มาโดยตลอด

ซึ่งการเข้ามารับตำแหน่งของบุญทักษ์ครั้งนี้ ถูกเปิดเผยว่าเพื่อเป็นการรองรับมาตรฐานบัญชีใหม่ IFRS 9 ซึ่งขณะนี้ยังไม่ชัดเจนว่าจะเลื่อนการบังคับใช้ที่จากเดิมกำหนดไว้ช่วงเปิดศักราชหน้าหรือไม่อย่างไร โดยจะต้องทำการกลั่นกรองและเสนอแนะความเหมาะสมต่อการดำเนินนโยบายการปล่อยสินเชื่อแก่คณะกรรมการชุดใหญ่ บนความมุ่งหวังที่จะลดปัญหาหนี้เสียของ SCB ให้น้อยลง

เช่นนั้น คงไม่ต้องพูดอะไรกันอีกแล้วในเรื่องคุณสมบัติที่เหมาะสม เพราะความเป็นตัวตนของบุญทักษ์ถือเป็นเครื่องหมายการันตีคุณภาพได้ในตัว แต่แน่นอนความสงสัยยังไม่หมดสิ้นลง พร้อมกับมีการตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับกรณีนี้เกิดขึ้น

โดยเป็นที่น่าสนใจว่า เหตุใด “แบงเกอร์” ที่เกษียณตัวเองไปแล้วอย่างบุญทักษ์จึงยอมกลับมาทำงานในสายงานที่คุ้นเคยมาทั้งชีวิตอีกครั้ง…อะไรคือสาเหตุ? มีความจำเป็นอย่างไร? หรือ SCB อยู่ในสถานการณ์สุ่มเสี่ยง จนถึงขั้นตั้งตำแหน่งใหม่นี้ขึ้นมาทั้งที่ไม่เคยปรากฏพบมาก่อน?

เหล่านี้ล้วนแล้วแต่เป็นคำถามที่เกิดขึ้น ซึ่งแน่นอนว่าจึงเกิดการเบนเข็มและพุ่งเป้าไปยังหัวเรี่ยวหัวแรงใหญ่ชุดปัจจุบันของ SCB ประกอบด้วย “วิชิต สุรพงษ์ชัย” ประธานกรรมการบริหาร และ “อาทิตย์ นันทวิทยา” ประธานเจ้าหน้าที่บริหารแบงก์ใบโพธิ์แห่งนี้

ซึ่งจะว่าไป ก็อาจถือเป็นเรื่องปกติธรรมดา เพราะหากถามว่า แบงก์ไหนสามารถสร้างปรากฏการณ์ที่มีสีสัน หรือสามารถระบายสีฉูดฉาดให้กับวงการสถาบันสินเชื่อในประเทศไทยได้มากที่สุด นาทีนี้คงหนีไม่พ้น “แบงก์ใบโพธิ์” หรือที่นักลงทุนหลายคนมักจะเรียกกันติดปากว่า “แบงก์ม่วง”

แน่นอนว่า หนึ่งใน “อภิมหาดีล” ระหว่าง SCB กับลูกหนี้รายใหญ่รายหนึ่งที่เพิ่งจะมีประเด็นกรณี “ศึกสายเลือด” เกิดขึ้นไปหมาด ๆ คงเป็นตัวอย่างของการสร้างสีสันหรือการระบายสีฉูดฉาดได้เป็นอย่างดี ส่วนเรื่องอื่นที่หัวแรงใหญ่ทั้ง 2 คนเคยแสดง “อภินิหารวิศวกรรมการเงิน” ให้เป็นที่ประจักษ์แก่สายตาชาวโลกแล้วนั้น คงไม่ต้องพูดถึงกันก่อนในตอนนี้

แต่แน่นอนเช่นเดียวกัน เมื่อพูดถึงเรื่อง “วิศวกรรมการเงิน” หรือ Financial Engineering ที่ปรากฏพบว่า SCB ครองตำแหน่งผู้นำด้านนี้ในปัจจุบัน ชนิดมาแรงทิ้งโค้งไม่มีใครได้เห็นแม้แต่ฝุ่น ก็คงต้องถือเป็นความรู้สึกหวาดเสียวของใคร อยู่หลายต่อหลายคน

เพราะแม้วันนี้ ผู้บริหาร SCB ทั้ง 2 รายข้างต้น ได้พิสูจน์ให้เห็นถึงคุณประโยชน์ของวิศวกรรมเชิงประยุกต์ไปบ้างแล้วว่า สามารถสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่อุตสาหกรรมการเงินได้มากเพียงใด แต่ความรู้สึกของผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง โดยเฉพาะผู้ถือหุ้น คงยังมองว่าสุ่มเสี่ยงเสียจนเกินประมาณ!

ซึ่งนั่นคือที่มาของการที่บุญทักษ์ต้องเข้ามารับตำแหน่ง ประธานคณะกรรมการบริหารความเสี่ยง หรือไม่? และการเข้ามาครั้งนี้คือการเคลื่อนไหวเพื่อรักษาไว้ซึ่ง “จารีตอันดีงามแห่งสถาบันสินเชื่อหลักของประเทศไทย” หรือเปล่า?…คงเป็นความอยากรู้ของใครหลายคนต่อไป

ที่แน่ ๆ การเข้ามาของ “บุญทักษ์ หวังเจริญ” คงจะไม่ธรรมดา เพราะเสมือนหนึ่งก้าวขึ้นมาเป็นผู้กำกับดูแลพฤติกรรมของผู้มีบารมีในแวดวงธนาคาร

ซึ่งแน่นอนว่าอาจมีผลต่อความความเคลื่อนไหวของ SCB หลังจากนี้…ก็เป็นได้

ป.ล. “อภิมหาดีล” ระหว่าง SCB กับ ลูกหนี้รายใหญ่ที่มีประเด็นเรื่อง “ศึกสายเลือด” จะมีรายละเอียดน่าสนใจอย่างไร? มีการเบิกเงินจากวงเงินสินเชื่อออกไปแล้วเท่าไหร่? หรือแท้จริงแล้วจะไม่มีการเบิกเงินออกแม้แต่บาทเดียว เพราะทั้งหมดเป็นเพียง “มันนี่เกม” เพื่อสร้างความไฉไลให้กับราคาหุ้น IPO? ได้โปรดติดตามต่อไปในคอลัมน์แฉฯ หน้า 5 แห่งนี้!

อิ อิ อิ

Back to top button