ต้องทั้งเก่งและเฮง

ต้นปี 2559 มีรายงานสรุปเกี่ยวกับธุรกิจจัดส่งสินค้า หรือ ลอจิสติกส์ โดยสำนักงานพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หรือ สภาพัฒน์ ระบุว่า ในสิ้นปี 2558 ขนาดของธุรกิจนี้ของไทยมีมูลค่ารวม 1.912 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 1.9 จากปี 2557 หรือคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 14.0 ของผลิตภัณฑ์มวลรวม ในประเทศ ณ ราคาประจำปี โดยสัดส่วนต้นทุนค่าขนส่งสินค้าต่อ GDP ยังคงที่ร้อยละ 7.5 ต่อ GDP ซึ่งถือว่าสูง เพราะความนิยมจัดส่งสินค้ายังเน้นไปที่ใช้การขนส่งทางถนนที่มีต้นทุนค่าขนส่งต่อหน่วยสูงเป็นหลัก ในขณะที่สัดส่วนต้นทุนการเก็บรักษาสินค้าคงคลังอยู่ที่ร้อยละ 5.2 ต่อ GDP หากตัดเอาการขนส่งหรือธุรกิจลอจิสติกส์ด้านอื่นออกไป จะพบว่าตลาดลอจิสติกส์ที่ใช้การขนส่งทางถนนเป็นหลักนี้ในปัจจุบันน่าจะมีมูลค่าขั้นต่ำที่ระดับ 1.5 ล้านล้านบาท และความเฟื่องฟูของอีคอมเมิร์ซก็น่าจะทำให้ธุรกิจนี้เติบใหญ่รุนแรงขึ้น


พลวัตปี 2018 : วิษณุ โชลิตกุล

ต้นปี 2559 มีรายงานสรุปเกี่ยวกับธุรกิจจัดส่งสินค้า หรือ ลอจิสติกส์ โดยสำนักงานพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หรือ สภาพัฒน์ ระบุว่า ในสิ้นปี 2558 ขนาดของธุรกิจนี้ของไทยมีมูลค่ารวม 1.912 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 1.9 จากปี 2557 หรือคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 14.0 ของผลิตภัณฑ์มวลรวม ในประเทศ ณ ราคาประจำปี โดยสัดส่วนต้นทุนค่าขนส่งสินค้าต่อ GDP ยังคงที่ร้อยละ 7.5 ต่อ GDP ซึ่งถือว่าสูง เพราะความนิยมจัดส่งสินค้ายังเน้นไปที่ใช้การขนส่งทางถนนที่มีต้นทุนค่าขนส่งต่อหน่วยสูงเป็นหลัก ในขณะที่สัดส่วนต้นทุนการเก็บรักษาสินค้าคงคลังอยู่ที่ร้อยละ 5.2 ต่อ GDP

หากตัดเอาการขนส่งหรือธุรกิจลอจิสติกส์ด้านอื่นออกไป จะพบว่าตลาดลอจิสติกส์ที่ใช้การขนส่งทางถนนเป็นหลักนี้ในปัจจุบันน่าจะมีมูลค่าขั้นต่ำที่ระดับ 1.5 ล้านล้านบาท และความเฟื่องฟูของอีคอมเมิร์ซก็น่าจะทำให้ธุรกิจนี้เติบใหญ่รุนแรงขึ้น

การเติบใหญ่ชนิดน่าตื่นตาของบริษัทลอจิสติกส์จากฮ่องกง เคอรี่ เอกซเพรส (ไทย) ทั้งรายได้และกำไร โดยอาศัยจุดอ่อนของบริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด ผสมกับขาขึ้นของอีคอมเมิร์ซ ที่ทำท่าจะแซงขึ้นเป็นอันดับหนึ่งของธุรกิจนี้ได้ไม่ยาก เพราะมีเครือข่ายข้ามชาติด้วย

ยิ่งกว่านั้น การมารุกธุรกิจในไทยของอาลีบาบากรุ๊ป (โดยความพร้อมใจของรัฐบาลไทย) ก็เท่ากับเปิดช่องให้ตลาดนี้เร่งโตมากขึ้นมากกว่าสถิติเก่า ๆ ของสภาพัฒน์ที่เคยประเมินว่าจะเติบโตในระดับ 3% ต่อปี

ปัจจุบัน ผู้ประกอบการบริการขนส่งและลอจิสติกส์ที่จดทะเบียนนิติบุคคลในไทย กับกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ มีจำนวน 2.16 หมื่นราย คิดเป็นลำดับที่ 6 จากจำนวนผู้ประกอบการใน ภาคธุรกิจบริการทั้งหมดที่แยกหมวดหมู่ตามหมวดธุรกิจ (TSIC) โดยธุรกิจนี้กระจุกตัวในกำมือรายใหญ่ เพราะถ้าจำแนกออกละเอียดขึ้น จะพบว่าผู้ประกอบการขนาดเล็ก และขนาดกลางมีสัดส่วนถึงร้อยละ 99 แต่สร้างรายได้ประมาณร้อยละ 52 ของรายได้จากผู้ประกอบการทั้งหมด

หากลงลึกไปอีกจะพบว่ารูปแบบของธุรกิจนี้จำแนกออกเป็นหลายรูปแบบทั้ง B2B B2C และ C2C มีมูลค่ารวมกันมากกว่าล้านล้านบาท เติบโตตาม GDP ของประเทศ เป็นธุรกิจที่มีการแข่งขันกันสูงและมีเจ้าตลาดอยู่ชัดเจน

ในธุรกิจรูปแบบ B2B เป็นธุรกิจขนาดใหญ่สุดที่มีมูลค่ามากกว่าล้านล้านบาท แบ่งเป็นการขนส่งของผู้ผลิตสินค้าเองน้อยกว่า 50% ของตลาด โดยบริษัทขนาดใหญ่กำกับตลาด เช่น เอสซีจี หรือไทยเบฟ และธุรกิจรับขนส่งรูปแบบ เอาท์ซอร์ซ เช่น นิ่ม ซี่ เส็ง ค่ายรถยนต์ และอื่น ๆ มากกว่า 50% ซึ่งอย่างหลังนี้แม้จะมีการแข่งขันสูงในการให้บริการ แต่ก็ยังเป็นตลาดขาขึ้นที่โตเร็ว เนื่องจากโรงงานผู้ผลิตที่เคยขนส่งเองเริ่มหันมาใช้บริการโลจิสติกส์แบบเอาท์ซอร์ซมากขึ้น เพื่อควบคุมค่าใช้จ่ายในการขนส่ง ที่ต้องมีทั้งค่าดูแลรักษารถ ค่าน้ำมัน เงินเดือนคนขับ และน้ำมันที่ต้องเสียไปจากการตีรถเปล่ากลับมาโรงงาน

สำหรับธุรกิจลอจิสติกส์รายย่อยแบบ B2C และ C2C ถือว่าเป็นตลาด เดิมมีขนาดเล็กและถูกควบคุมโดยบริษัทไปรษณีย์ไทย กลายเป็นตลาดที่โตด้วยเลขเกิน 2 หลักมาทุกปี และดึงดูดคนเข้ามาแข่งขันมากขึ้นเพราะอุปสงค์โตก้าวกระโดด ในปีที่ผ่านมามีมูลค่าตลาดที่ระดับ 30,000 ล้านบาท

ปัจจุบันวัสดุมากกว่า 1.5 ล้านชิ้นใช้ช่องทางหลังนี้ในการส่งจากต้นทางถึงปลายทาง โดยมีคู่แข่งในตลาดที่เชือดเฉือนนำเสนอบริการ มากกว่า 5 รายที่ช่วงชิงการให้บริการ ด้วยจุดแข็งที่แตกต่างในแต่ละบริษัท

การแข่งขันของธุรกิจในหลายระดับและหลายช่องทาง และหลายบริษัทก็มองเห็นโอกาสเข้าในธุรกิจหลังสุดนี้มากขึ้น

กรณีของค่ายเอสซีจี ที่เดิมทำธุรกิจลอจิสติกส์เพื่อกลุ่มตนเองเป็นหลัก ได้เริ่มหันมาจับตลาดหลังสุด ด้วยการจับมือกับค่ายแมวดำ หรือ ยามาโตะ ของญี่ปุ่น เพื่อจับตลาดแข่งกับไปรษณีย์ไทย และเคอรี่ เอกซเพรส รวมทั้ง นิ่มซี่เส็ง จนกระทั่งเติบโตอย่างเงียบ ๆ เป็นธุรกิจที่มีรายได้ระดับปีละมากกว่า 2 หมื่นล้านบาทเข้าไปแล้ว เป็นตัวอย่างที่ดีว่ามีโอกาสรออยู่ข้างหน้า

เพียงแต่การแข่งขันในธุรกิจลอจิสติกส์ในประเทศอย่างเดียว ไม่เพียงพอสำหรับอนาคต เป้าหมายของกลุ่มเอสซีจี ในการผลักดันเป็นผู้เล่นรายสำคัญของอาเซียน แบบเดียวกันกับกลุ่มไทยเบฟที่มี F&N เป็นตัวแทนอยู่ จึงมีการเรียนรู้สร้างพันธมิตรเครือข่ายข้ามประเทศเพื่อเพิ่มศักยภาพในอนาคต

เส้นทางเช่นนี้ กลุ่มเคอรี่ของฮ่องกง อาลีบาบากรุ๊ปของจีน หรือ ไทยเบฟในสิงคโปร์ล้วนทำมาก่อนแล้วทั้งสิ้น

คำถาม คือ ความสามารถในการเติบโตและอยู่รอดของการเป็นผู้เล่นในสงครามการแข่งขันด้านลอจิสติกส์นี้ จะสามารถยึดโอกาสแสดงตัวอย่างไร และอยู่รอดอย่างไร เป็นโจทย์ที่ท้าทาย สำหรับทุกฝ่าย

การเติมพลังในการให้บริการลูกค้า เพิ่มช่องทางให้บริการใหม่ที่มีมาร์จิ้นสูง และการบริหารการเงิน ล้วนแล้วแต่มีความหมายในอนาคตทั้งสิ้น มากกว่าแค่ความสนใจ และความเชื่อมั่น ของผู้บริหาร

ธุรกิจลอจิสติกส์ขาขึ้นนั้น ไม่ได้การันตีว่าทุกคนที่เข้ามาในธุรกิจนี้จะประสบความสำเร็จเสมอไป  ความสามารถทำกำไร ขึ้นกับรายละเอียดขององค์ประกอบทางธุรกิจของแต่ละราย

จะบอกว่าต้องเก่งและเฮงด้วย คงไม่ผิดอะไร

Back to top button