บจ.กำไร 2.84 แสนล.

บริษัทจดทะเบียนแจ้งผลประกอบการงวดไตรมาส 1/2561 เกือบจะครบแล้ว ล่าสุดได้รายงานออกมาเกือบ 500 บริษัท หรือคิดเป็น 96% ของมาร์เก็ตแคป บจ.มีกำไรรวมกันกว่า 2.84 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้น 2.2% เมื่อเทียบกับงวดไตรมาส 1/2560


ลูบคมตลาดทุน : ธนะชัย ณ นคร

บริษัทจดทะเบียนแจ้งผลประกอบการงวดไตรมาส 1/2561 เกือบจะครบแล้ว

ล่าสุดได้รายงานออกมาเกือบ 500 บริษัท

หรือคิดเป็น 96% ของมาร์เก็ตแคป

บจ.มีกำไรรวมกันกว่า 2.84 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้น 2.2% เมื่อเทียบกับงวดไตรมาส 1/2560

ก็ถือว่าค่อนข้างสวยงาม และใกล้เคียงกับที่นักวิเคราะห์ได้คาดการณ์กันไว้

ส่วนตัวเลขกำไรที่ออกมานี้ เป็นการสรุปจาก บล.เอเซีย พลัส

ขณะที่ตัวเลขอย่างเป็นทางการ คงต้องรอตลาดหลักทรัพย์ฯทำสรุปมาอีกครั้ง และคาดว่าน่าจะแล้วเสร็จภายในสัปดาห์หน้า หรืออาจจะเป็นภายในวันศุกร์นี้ก็ได้

เพราะหลายช่วงหลัง ๆ ตลาดหลักทรัพย์ฯทำงานกันรวดเร็วครับ

มาดูรายละเอียดกันหน่อยว่า กลุ่มธุรกิจไหน กำไรเติบโต หรือลดลงกันอย่างไรกันบ้าง

เริ่มจากกลุ่มที่สามารถเติบโตได้ทั้งเมื่อเทียบกับงวดไตรมาส 1/2560 และงวดไตรมาส 4/2560

โดยพบว่า กลุ่มพลังงาน เติบโต 7.4% เมื่อเทียบกับงวดไตรมาส 1/2560 และพุ่งกว่า 24.0% เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า

จากข้อมูลพบว่า กำไรที่เพิ่มขึ้นนั้น หลัก ๆ มาจากการบันทึกกำไรพิเศษของ EGCO กว่า 1.8 หมื่นล้านบาท รวมทั้งกำไรสุทธิที่เพิ่มขึ้นเป็นของหุ้น PTTEP, GLOW และ EA

กลุ่มโรงพยาบาล เติบโต 38.9% เมื่อเทียบกับงวดไตรมาส 1/2560  และ 19.4% เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน

สาเหตุหลัก ๆ มาจากกำไรสุทธิที่เพิ่มขึ้นมากของหุ้น BDMS และโรงพยาบาลขนาดเล็กครับ

มาดูกลุ่มขนส่งกันบ้าง

พบว่ามีการเติบโตถึง 20.6% เมื่อเทียบกับงวดเดียวกันของปีก่อนหน้า และ 0.5% เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน มาจากกำไรที่เพิ่มขึ้นของพระเอกอย่าง AOT ส่วน AAV ก็มีกำไรเติบโตดีเช่นกัน

มาดูหุ้นในกลุ่มที่กำไรเติบโตเมื่อเทียบกับงวดไตรมาส 1/2560  แต่หดตัวเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้ากันบ้าง

เริ่มต้นที่กลุ่มค้าปลีก เติบโต 16.7% เมื่อเทียบกับปีก่อน แต่หดตัว 5.5% เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน โดยหุ้นที่โตเด่นเมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา เช่น BEAUTY, COM7, BJC และ MEGA

กลุ่มชิ้นส่วนยานยนต์ เติบโต 21.6% เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา แต่หดตัว 0.2% เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน

โดยหุ้นที่โดดเด่นกว่ากลุ่มฯ คือ AH (77.2% เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา, 5.6% เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน) และ PCSGH (33.1% เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา, 25.9% เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน)

กลุ่มอสังหาริมทรัพย์ เติบโต 26.5% เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา แต่หดตัว 31.1% เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน

หุ้นที่โดดเด่นกว่ากลุ่มฯ คือ LH (39% เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา, 26.1% เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน)

กลุ่มท่องเที่ยว-โรงแรม เติบโต 28.8% เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา แต่หดตัว 7.0% เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน

ส่วนหุ้นที่โดดเด่นกว่ากลุ่มฯ คือ CENTEL (12.8% เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา, 100% เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน) และ ERW (37.5% เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา, 77.3% เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน)

และกลุ่มปิโตรเคมี เติบโต 2.5% เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา แต่หดตัว 6.8% เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน

แนวโน้มผลประกอบการไตรมาส 2/2561 มีแนวโน้มที่จะชะลอตัวลงเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน

เหตุผลจากกลุ่มพลังงาน แม้ราคาหุ้นในกลุ่มฯมีอัพไซด์จำกัด แต่อานิสงส์จากราคาน้ำมันดิบโลกไตรมาส 2 ที่ทรงตัวในระดับสูง เฉลี่ย 69.97 เหรียญ (เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนอยู่ที่ 49.33 เหรียญ) ทำให้มีโอกาสการปรับสมมติฐานราคาน้ำมันขึ้นจากที่ทำไว้ในปี 2561 ที่ 65 เหรียญ และ 70 เหรียญในปี 2562  เนื่องมาจากปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ในตะวันออกกลาง ที่ช่วยลดความกังวลอุปทานน้ำมันดิบล้นตลาด

กลุ่มธนาคารพาณิชย์ ผลประกอบการในช่วงถัดจากนี้ มีโอกาสทรง-ชะลอตัวจากทั้งรายได้ค่าธรรมเนียมที่ลดลง และต้นทุนที่สูงขึ้นจากการพัฒนาเทคโนโลยี เพื่อรองรับการแข่งขันในอนาคต

รวมถึงมาตรฐานบัญชีใหม่ TFRS 9 ที่อาจส่งผลกระทบต่อธุรกิจสินเชื่อ หลังมาตรการเริ่มมีการบังคับใช้

โดยรวม บล.เอเซีย พลัส ยังคงประมาณการกำไรสุทธิปี 2561 ที่ 1.09 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้น 11% จากปี 2560 ที่มีกำไรสุทธิ 9.82 แสนล้านบาท

Back to top button