พาราสาวะถี

คงต้องทำความเข้าใจกันเสียใหม่กระมังสำหรับองคาพยพว่าด้วยการปฏิรูปของรัฐบาลเผด็จการ เพราะพลันที่ บวรศักดิ์ อุวรรณโณ โยนเผือกร้อนตั้งปุจฉาว่า ปฏิรูปประเทศกันมา 4 ปีไม่มีอะไรคืบหน้าและถ้าตั้งเป้าว่าจะต้องปฏิรูปกันทั้งชาติคงไม่ได้ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ก็ออกมากระตุกคนที่เตือนว่าให้ระวังคำพูด พร้อมสะกิดต่อมความจำว่าหากทำงานร่วมกันต้องเข้าใจกัน


อรชุน

คงต้องทำความเข้าใจกันเสียใหม่กระมังสำหรับองคาพยพว่าด้วยการปฏิรูปของรัฐบาลเผด็จการ เพราะพลันที่ บวรศักดิ์ อุวรรณโณ โยนเผือกร้อนตั้งปุจฉาว่า ปฏิรูปประเทศกันมา 4 ปีไม่มีอะไรคืบหน้าและถ้าตั้งเป้าว่าจะต้องปฏิรูปกันทั้งชาติคงไม่ได้ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ก็ออกมากระตุกคนที่เตือนว่าให้ระวังคำพูด พร้อมสะกิดต่อมความจำว่าหากทำงานร่วมกันต้องเข้าใจกัน

แต่คนที่ฟังคำอธิบายเรื่องปฏิรูประยะที่ 1 จากปากท่านผู้นำแล้ว ก็ไม่แน่ใจว่าสิ่งที่ทำอยู่นั้นเขาเรียกว่าปฏิรูปหรือแค่แก้งานทำให้สิ่งที่เคยมีอุปสรรคจากปัญหาข้อกฎหมายในรัฐบาลเลือกตั้ง มาใช้อำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาดกระทุ้งให้มันลื่นไหลเท่านั้นเอง ไม่ว่าจะเป็น การแก้ไขปัญหารถไฟฟ้า รถไฟทางคู่ การทำประปากว่า 9 พันหมู่บ้าน

ส่วนพวกที่จัดให้อยู่ในระยะที่ 2 เช่น เกษตรมีผลผลิตดีขึ้น คนยากจนมีรายได้เพิ่มขึ้น รวมถึงการรื้อโครงเดิมมาปรับปรุงให้ดีขึ้น เช่น กองทุนหมู่บ้าน การปรับปรุงทีโอที เป็นต้น สิ่งเหล่านี้ก็ทำมากันทุกรัฐบาลแล้วแต่ว่าใครจะใช้วิธีการแบบไหน ที่สำคัญท่านผู้นำเป็นคนประกาศเองไม่ใช่หรือว่าจะทำ 5 เรื่องให้สำเร็จภายใน 8 เดือน

พอฟังสิ่งที่ท่านพูดมา อย่าว่าแต่ 8 เดือนเลย 8 ปีหรือ 80 ปียังไม่รู้ว่าจะแก้ได้หรือเปล่า เอาแค่ลดความเหลื่อมล้ำและทะลายกำแพงความยากจน เพราะสิ่งที่เห็นนับวันช่องว่างระหว่างคนจนคนรวยมีแต่จะถ่างออกห่างกันมากขึ้นเรื่อย ๆ โดยเฉพาะในยุคของรัฐบาลเผด็จการคสช.ที่มีเสียงค่อนขอดมาตลอด 4 ปีว่าทำให้เกิดภาวะรวยกระจุกจนกระจาย

ไม่ใช่เรื่องแปลกที่คนขายฝันวางแผนปฏิรูปถึงขั้นไปบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญจะต้องออกมาปกป้องสิ่งที่ตัวเองได้ทำไป รวมไปถึงการโอบอุ้มจุดอ่อนที่ถูกบวรศักดิ์ตี กรณีให้ข้าราชการเป็นผู้เขียนแผนและต้องปฏิบัติเอง ซึ่งเป็นเรื่องที่ทำให้การปฏิรูปเกิดความล่าช้าไม่คืบหน้าไปไหน อย่างไรก็ตาม เมื่อเกิดการหว่านแห แฉข้อบกพร่อง

จึงไม่ใช่แค่เพียงบิ๊กตู่เท่านั้นที่เป็นเดือดเป็นแค้น มีชัย ฤชุพันธุ์ ในฐานะที่ถูกเนติบริกรในคาถาพาดพิงก็ยืนยันถึงกระบวนการปฏิรูปว่า การปฏิรูปจริงไม่มีวันเสร็จ เมื่อทำส่วนหนึ่งแล้วจะกระทบอีกส่วนหนึ่งต้องปฏิรูปต่อ หรือปฏิรูปไปแล้วไม่ออกผลต้องทำใหม่ ตามแผนปฏิรูปกำหนดเวลาไว้ 5 ปี ซึ่งเป็นไปตามสิ่งที่ สปช.และสปท.ได้ทำไว้

ส่วนในรัฐธรรมนูญกำหนดกรอบไว้กว้าง ๆ แต่ครอบคลุมทุกส่วน ต้องทำหลัก ๆ ก่อน จึงทำให้กฎหมายและแผนการปฏิรูปต้องเจาะจงมากกว่าปกติ ต้องกำหนดให้ชัดหนึ่งสองสามสี่ภายในกี่ปี แต่ประสามีชัยจะให้ตัวเองถูกตีกินฟรี ๆ ไม่ได้ จึงมีการย้อนกลับไปว่า การปฏิรูปจะเห็นผลหรือไม่คณะกรรมการปฏิรูปทั้ง 11 ด้านต้องลงมือทำด้วย

เหมือนจะบอกเป็นนัยไปถึงบวรศักดิ์ว่าอย่าดีแต่พูดอย่างเดียว ก่อนที่จะยกตัวอย่างการปฏิรูปตำรวจที่ตัวเองนั่งเป็นประธานคณะกรรมการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติตำรวจแห่งชาติ โดยบอกว่าได้ลงพื้นที่โรงพัก เพิ่งรู้ว่ามีการแบ่งเกรดเอบีซีเหมือนกระทรวง เมื่อเอาแผนไปคุยพบว่า โรงพักเกรดเอไม่เห็นด้วย จึงว่าจะลองไปคุยกับเกรดดีดูบ้าง

นี่คือท่วงทำนองของคนที่ได้ชื่อว่าเป็นเนติบริกรชั้นครู ไม่ว่าใครจะเข้าใจหรือเห็นด้วยหรือไม่อย่างไร ก็ต้องถูลู่ถูกังกันไปเพื่อให้บรรลุเป้าหมายที่วางไว้เบื้องต้นเสียก่อน จากนั้นหากมีปัญหาค่อยมาตามล้างตามเช็ดกันอีกที ก็เหมือนอย่างกรณีกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญนั่นปะไร กว่าจะมองเห็นปัญหาต้องใช้วิธีส่งจดหมายน้อยให้สนช.ไปยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย

ไหน ๆ ก็พูดถึงมีชัยกันแล้ว อีกเรื่องที่เจ้าตัวแสดงความเห็นน่าสนใจไม่แพ้กัน ปมบางพรรคการเมืองเสนอให้ยกเว้นการทำไพรมารีโหวตในการเลือกตั้งที่จะมาถึง ซึ่งประธานกรธ.ยืนยันเสียงแข็ง ขณะนี้งดเว้นไม่ได้ รัฐธรรมนูญกำหนดให้การดำเนินกิจกรรมของพรรคการเมืองประชาชนต้องมีส่วนร่วม กรธ.ร่างกฎหมายลูกให้มีส่วนร่วมระดับหนึ่ง พอถึงสนช.ก็เพิ่มอีกระดับหนึ่งมีไพรมารีโหวตด้วย

เมื่อเขียนไพรมารีโหวตแบบนี้ก็ต้องใช้ เพียงแต่ว่ากระบวนการทำไพรมารีโหวตไม่ได้เข้มข้นต้องลงคะแนนแบบอเมริกา แค่พรรคการเมืองเรียกสมาชิกมา 100 คนก็ทำได้แล้ว อย่างไรก็ตาม มีชัยบอกให้รอดูการที่หัวหน้าคสช.จะให้พรรคการเมืองร่วมหารือด้วยในวันที่ 1 มิถุนายนนี้เป็นสำคัญ เปรยมาแบบนี้สงสัยถ้าจะต้องยกเว้นคงหนีไม่พ้นต้องใช้ยาวิเศษที่ชื่อมาตรา 44 เสียแล้วกระมัง

นั่นเป็นอีกมุมที่เกี่ยวกับเลือกตั้ง ส่วนมุมสำคัญที่ต้องอาศัยการตัดสินใจของผู้มีอำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาดแต่เพียงผู้เดียวคือ การปลดล็อกให้พรรคการเมืองทำกิจกรรม เท่าที่ฟังเสียงเมื่อวันอังคารก็ไม่ได้อยู่นอกเหนือสิ่งที่เคยบอกมาโดยตลอดว่า หากผู้มีอำนาจเกรงว่าปลดล็อกแล้วจะเป็นปัญหากระทบต่อเสถียรภาพของตัวเอง ก็ปลดล็อกแบบมีเงื่อนไขก็ได้ พรรคการเมืองคงไม่มีปัญหา

การที่ท่านผู้นำบอกว่าต้องปลดล็อกเป็นขั้นเพราะขนาดยังไม่ปลดล็อกยังมีการโจมตีกันไปมา ที่สำคัญคือโจมตีรัฐบาลด้วยนั้น หากท่านคิดจะเล่นการเมืองในระบบ คงต้องหัดเป็นคนใจกว้างและยอมรับเสียงวิจารณ์ ข้อทักท้วงต่าง ๆ ได้ ส่วนที่ท่านอ้างว่าอยากให้ประชาชนเข้าใจประชาธิปไตยที่ดีที่ถูกต้อง และรัฐบาลที่เข้ามาจะต้องสานต่อสิ่งที่รัฐบาลนี้ทำ ถ้าอย่างนั้นเขาไม่เรียกว่าประชาธิปไตยแล้ว

ง่าย ๆ เลยกับคำว่าประชาธิปไตยอันเป็นสากล ต้องไม่บังคับให้คนเชื่อ ต้องไม่บังคับให้คนทำ และต้องไม่ใช่การขีดเส้นให้คนเดินตามที่ตัวเองต้องการ ถ้าเช่นนั้นคงต้องสั่งให้คนเลือกพรรคและผู้สมัครที่ผู้มีอำนาจอยากให้ได้รับเลือกตั้งไปด้วย มันจึงจะเป็น (เผด็จการ) ประชาธิปไตยที่สมบูรณ์ ฟังไปฟังมาแม้ท่านผู้นำจะอ้างว่าไม่ได้อยากจะเลื่อนเลือกตั้งหรือไม่เคยคิดจะไม่เลือกตั้ง ก็พอฟังได้ แต่สิ่งที่อธิบายหากเลือกตั้งแล้ว มันเป็นเพียงแค่พิธีกรรมที่หวังจะสร้างความชอบธรรมให้เผด็จการ ก็อย่าไปเลือกตั้งให้อายชาวโลกเลยดีกว่า

Back to top button