ราคาน้ำมัน และเวเนซุเอลา

การเมืองในเวเนซุเอลา หลังการเลือกตั้งที่ทำให้นานาชาติเสียงแตกว่าควรจะยอมรับ หรือคว่ำบาตรนายนิโคลัส มาดูโร (อดีตเคยเป็นคนขับรถบัสวัย 55 ปี) ในการขึ้นสู่อำนาจสมัยที่สอง มีคำถามหลายด้าน


พลวัตปี 2018 : วิษณุ โชลิตกุล

การเมืองในเวเนซุเอลา หลังการเลือกตั้งที่ทำให้นานาชาติเสียงแตกว่าควรจะยอมรับ หรือคว่ำบาตรนายนิโคลัส มาดูโร (อดีตเคยเป็นคนขับรถบัสวัย 55 ปี) ในการขึ้นสู่อำนาจสมัยที่สอง มีคำถามหลายด้าน

แรกเริ่มสุด สหรัฐฯ ไม่ต้องรีรอ ประกาศคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจห้ามการซื้อสินค้าและซื้อตราสารหนี้ทุกชนิดจากเวเนซุเอลา ในขณะที่ชาติอื่นอีก 14 ชาติ รวมถึงอาร์เจนตินา บราซิล และแคนาดา ที่ใช้มาตรฐานตามรอยอเมริกันก็ทำตามเช่นกัน ด้วยข้อกล่าวหาว่า เป็นการเลือกตั้งที่ไม่ชอบธรรม 

จะมียกเว้นก็จีน รัสเซีย และอีกหลายชาติที่แหวกมาตรฐานอเมริกัน ประกาศแสดงความยินดีกับนายมาดูโร

คำถามเรื่องความชอบธรรมในการเลือกตั้ง ยังเป็นปริศนาที่ท้าทายคำตอบว่าคะแนนเสียงเท่าใดถึงชอบธรรม แต่มีคำถามที่สำคัญกว่าล่วงหน้าคือ นายมาดูโร ในฐานะทายาททางการเมืองของนายอูโก้ ชาเวซที่ล่วงลับไปแล้ว จะพาประเทศไปสู่นรกขุมไหน หลังจากสถานการณ์ในเวเนซุเอลา เลวร้ายอย่างรุนแรง แต่หลายคนเชื่อว่ายังไม่ถึงที่สุด

อูโก้ ชาเวซ อดีตนายทหารที่ทำรัฐประหารล้มเหลว เปลี่ยนมาชูนโยบายประชานิยมที่ผสมสังคมนิยมที่เรียกว่า “ปฏิวัติโบลิวาร์” ด้วยการทุ่มงบประมาณที่มาจากรายได้ขายน้ำมันดิบในประเทศที่มีสำรองใต้ดินมากเป็นอันดับสองในโอเปก ลงทุนทางสังคมมากมายหลายโครงการ โดยอ้างว่าจะลดความยากจนของประชาชนได้ จากการที่ชนชั้นล่าง มีโอกาสเข้าถึงที่อยู่อาศัย การศึกษาและการสาธารณสุขทั่วถึง ทั้งมีการเพิ่มงานในภาครัฐ มีรายงานว่าอัตราความยากจนในเวเนซุเอลาลดลงจาก 48.6% ในปี ค.ศ. 2002 เหลือ 29.5% ในปี ค.ศ. 2011 แต่นั่นเป็นแค่มายาภาพ

เวลาผ่านไป นโยบายการปฏิวัติโบลิวาร์ นอกจากไม่สร้างความเข้มแข็งอย่างยั่งยืน เพราะเน้นจ่ายเงินอุดหนุน โดยไม่แก้ปัญหาโครงสร้างแล้ว ยังมีการเลือกปฏิบัติให้เฉพาะคนที่เลือกพรรครัฐบาล แต่ที่สำคัญคือ การจ่ายเงินที่ไม่ทำให้ผลิตภาพโดยรวมของประเทศเพิ่มขึ้น หมายถึงการใช้จ่ายเกินตัวทำให้ประเทศเป็นหนี้มากเกิน รายจ่ายมาก ขณะที่รายได้จากการผลิตน้ำมันก็น้อยกว่าที่ควร จากนโยบายต่างประเทศที่ขายน้ำมันถูก ๆ ให้ชาติพันธมิตรที่ร่วมต่อต้านสหรัฐฯ 

ที่ร้ายกว่านั้น การยินยอมให้ราคาขายปลีกน้ำมันสำเร็จรูปทุกชนิดมีราคาถูกมากที่สุดในโลก บางช่วงเพียง 3 เซนต์/ลิตร ซึ่งถือเป็นค่าใช้จ่ายและกำไรของสถานีบริการที่รับน้ำมันจากบรรษัทน้ำมันแห่งชาติ PDVSA มาฟรี ๆ เพราะไม่คุ้มที่ PDVSA จะทำบิล-เก็บเงิน 

หายนะจากการที่รัฐบาลเวเนซุเอลาเพิ่มบทบาทแทรกแซงภาคเศรษฐกิจมากขึ้นเรื่อย ๆ ส่งผลให้เศรษฐกิจด้อยประสิทธิภาพลงไปต่อเนื่อง 

อูโก้ ชาเวซ เสียชีวิตก่อนทันเห็นหายนะเบ็ดเสร็จ และมาดูโร มารับมรดกบาปดังกล่าวแทน พร้อมกับต้องจมปลักในนรกที่ยากจะตอบได้ว่าจะฟื้นเมื่อใด

มาดูโร เผชิญหน้ากับปัญหาใหญ่หลังปี ค.ศ. 2014 ที่ราคาน้ำมันดิบ ซึ่งเป็น 40% ของรายได้รัฐ และ 96% ของการส่งออกทั้งหมด ทำให้ไม่มีรายได้เข้างบประมาณมาอุดหนุนสินค้าได้เหมือนเดิม ผลลัพธ์คือ สินค้าขาดแคลนและเงินเฟ้อรุนแรง

เงินเฟ้อที่พุ่งแรงในอัตราเลข 3 หลัก ถูกกองทุนการเงินระหว่างประเทศประเมินว่า ในปี 2016 มีอัตรา 159% และ 204% ในปี 2017 สวนทางกับ GDP จะหด 10% และ 6% ตามลำดับ แม้จะมีความพยายามใช้มาตรการการควบคุมราคาสินค้าหลายอย่าง เช่น นม เนื้อสัตว์ กาแฟ แป้ง เนย รวมทั้งเพิ่มมาตรการมีการทวงคืนหรือยึดธุรกิจอื่น ๆ เช่น อาหาร กระดาษชำระ ก็ไม่ช่วยอะไรเลย

การขาดแคลนสินค้าทั้งที่คุมราคาและไม่คุม เช่น ยา-เวชภัณฑ์ กระดาษชำระ ผงซักฟอก ทำให้รายได้ประชากรเลวร้ายไม่พอยาไส้ เกิดความอลหม่านไปทั่วประเทศ 

คอร์รัปชันเป็นอีกปัญหา ในการจัดอันดับขององค์กรเพื่อความโปร่งใสปี 2014 เวเนซุเอลาอยู่ในกลุ่มที่แย่ที่สุด อันดับ 161 จาก 174 ประเทศ ตระกูลชาเวซถูกกล่าวหาว่าฉ้อฉล แม้มีการปฏิเสธแต่ไม่เคยมีการสืบสวนจริงจัง มีแต่คนฝ่ายค้านที่ถูกเอาผิดคอร์รัปชันด้วยระบบศาลที่ไม่เป็นอิสระ 

ชัยชนะของนายมาดูโร จึงมีคำถามว่านอกจากช่วยให้ราคาน้ำมันดิบพุ่งสูงต่อไป เพราะมาตรการคว่ำบาตรของสหรัฐฯ แล้วประชาชนเวเนซุเอลาจะได้อะไรบ้าง

คำตอบไม่ชัดเจน แม้ในสายลมก็ยังไม่มี

Back to top button