กองทุนยังถือ PTT

เมื่อวานนี้ราคาหุ้น PTT ลงมาต่ำสุดนับจากการใช้ราคาพาร์ใหม่ที่ 1 บาท ปตท. ราคาลงมาปิด 53.50 บาท (เท่าแนวรับพอดี) ลดลง 1.75 บาท เปลี่ยนแปลง -3.17% มูลค่าการซื้อขายกว่า 14,623 ล้านบาท หรือคิดเป็น 22-23% ของมูลค่าการซื้อขายรวมกว่า 64,209 ล้านบาท


ลูบคมตลาดทุน : ธนะชัย ณ นคร

เมื่อวานนี้ราคาหุ้น PTT ลงมาต่ำสุดนับจากการใช้ราคาพาร์ใหม่ที่ 1 บาท

ปตท. ราคาลงมาปิด 53.50 บาท (เท่าแนวรับพอดี) ลดลง 1.75 บาท เปลี่ยนแปลง -3.17% มูลค่าการซื้อขายกว่า 14,623 ล้านบาท หรือคิดเป็น 22-23% ของมูลค่าการซื้อขายรวมกว่า 64,209 ล้านบาท

ก่อนหน้านี้ที่มีข้อมูลว่า มีกองทุนประเภทต่าง ๆ เข้าถือหุ้นใน ปตท. อาจจะเกือบ 200 กองทุน

แต่เท่าที่ตรวจสอบเมื่อวานนี้ ยังไม่น่ามีแรงขายจากกองทุนออกมา

เพราะมูลค่าการซื้อขายฝั่งกองทุนมีน้อยมากเมื่อเทียบกับฝั่งของ “นักลงทุนต่างประเทศ” และ “รายย่อย”

เมื่อวานนี้นักลงทุนต่างประเทศขายสุทธิออกมา 4,960 ล้านบาท

และรายย่อยซื้อสุทธิ 4,857 ล้านบาท

แต่หากดูมูลค่าการซื้อขายรวมของนักลงทุนต่างประเทศ และรายย่อย รวมกัน จะมีมูลค่าถึง 5.21 หมื่นล้านบาท

ส่วนกองทุนมีมูลค่าการซื้อขายค่อนข้างน้อยมากเมื่อวานนี้

การขายหุ้น ปตท. ออกมาของต่างชาติ เริ่มขายออกมาตั้งแต่วันที่ 22 พ.ค. และเลยมาถึงวันที่ 23 พ.ค.หลังจากเมื่อวันก่อนหน้านี้ “เครดิตสวิส” ลดน้ำหนักการลงทุนหุ้น PTT จาก “เท่าตลาด” เป็น “ต่ำกว่าตลาด”

และให้ราคาเป้าหมาย 54 บาท

แม้เครดิตสวิส จะปรับหุ้น ปตท.ต่ำกว่าตลาด แต่ก็ปรับราคาเป้าหมายขึ้นมาจาก 48 บาท เป็น 54 บาท

พร้อมกับปรับเพิ่มประมาณการกำไรสุทธิปีนี้ขึ้น 6%

เครดิตสวิส มองว่า ราคาหุ้น ปตท.จะขึ้นไปอย่างจำกัดครับ

หุ้นปตท. ช่วงที่บอร์ดมีมติให้แตกพาร์ในวันที่ 20 ก.พ. 2561 ราคาหุ้นอยู่ 48-49 บาท (หรือ 480-490 บาท : พาร์ 10 บาท)

หลังจากนั้น ราคาหุ้นปรับขึ้นมาต่อเนื่อง และขึ้นไปสูงสุด 59.50 บาท หรือในช่วงเวลา 3 เดือนนับจากข่าวแตกพาร์ราคาหุ้นขึ้นมาแล้ว 22-23% ถือว่าค่อนข้างสูง

ราคาหุ้นที่ปรับขึ้นมาเป็นการเข้ามาไล่ราคาของนักลงทุนรายย่อยเป็นหลัก

ระดับราคา 57/59 บาท ถือว่า เป็นช่วงราคาที่ใกล้เคียงกับราคาเป้าหมายของโบรกฯ ที่เป็น IAA Consensus

ทำให้มีคำแนะนำระวังการเข้าลงทุนในหุ้นปตท.

โดยเฉพาะนักลงทุนที่ “เล่นสั้น” เพราะว่าราคาหุ้นที่ปรับขึ้นมาอย่างเร็ว (อาจ) จะมีความผันผวนสูง

และก็เป็นเช่นนั้นจริง ๆ

ยิ่งปตท.ต้องมาเผชิญข่าวเกี่ยวกับที่ทางการอาจจะเข้ามาแทรกแซงราคาน้ำมัน รวมถึงก๊าซแอลพีจี ยิ่งเป็นตัวบั่นทอนความเชื่อมั่น จึงเกิดการเทขายกันออกมา

แต่ที่น่าแปลกใจคือ นักลงทุนสถาบัน หรือกองทุนต่าง ๆ ยังคงถือหุ้น ปตท.

และไม่ได้มีการปรับพอร์ตโดยการขายหุ้นออก

ก่อนหน้านี้ มอนิ่งสตาร์รายงานว่า กองทุนหุ้นของบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) หลายแห่ง ที่มีกองทุนหุ้นกลุ่มบิ๊กแคปนั้น

ทั้งหมดต่างสามารถทำผลตอบแทนได้ค่อนข้างสูงมาก หรือเฉลี่ยย้อนหลัง 1 ปี มีผลตอบแทน 20-25%

และหากนับจากสิ้นปีมาถึงต้นเดือนพฤษภาคม มีผลตอบแทนแทนเฉลี่ย 5-8%

และที่น่าสนใจคือ ทุกกองทุน ต่างมีหุ้น ปตท.อยู่ในพอร์ต และมีสัดส่วนการลงทุนมากสุด

ราคาเป้าหมายของหุ้น ปตท. หลังจากแจ้งงบไตรมาส 1/2561 เท่าที่สำรวจดูจากโบรกฯ ต่าง ๆ พบว่า ราคาต่ำสุดอยู่ที่ 47.60 บาท ให้ไว้โดย บล.กรุงศรี

ส่วนราคาสูงสุดอยู่ที่ 64.30 บาท โดย บล.ทรีนีตี้

และรองลงมาคือ 63.00 บาท เป็นราคาที่ บล.บัวหลวง ดีดลูกคิดออกมา

ทว่าโดยเฉลี่ยแล้ว ราคาเป้าหมายของโบรกฯ ส่วนใหญ่จะอยู่ระหว่าง 54–58 บาทต่อหุ้น

บล.เมย์แบงก์ กิมเอ็ง ระบุว่า หุ้น ปตท.ยังไม่น่าสนใจหากเป็นการลงทุนระยะสั้น

ส่วน บล.ทิสโก้ บอกว่า ปตท.ไม่ได้รับผลกระทบจากการควบคุมราคาน้ำมันดีเซล แต่ที่น่ากังวลมากกว่าคือ ราคาแอลพีจี ที่เป็นความเสี่ยงสำคัญของปตท. และแนะนำ “ถือ”

ทว่า แม้จะมีการปรับลดน้ำหนักลงทุนของหุ้นปตท.กันบ้าง

แต่ก็ยังไม่มีโบรกฯ แห่งไหนที่แนะนำ “ขาย” หุ้น ปตท.

Back to top button