ราคาน้ำมันที่ชวนอึดอัด

จู่ ๆ ราคาน้ำมันดิบที่เพิ่งทำนิวไฮในรอบ 3 ปี ก็มีอันร่วงลงชนิดหาคำอธิบายได้ยาก ว่าเหตุใดขาขึ้นจึงกลายเป็นขาลง โดยไม่เกี่ยวข้องกับกลไกอุปสงค์-อุปทานของตลาด


พลวัตปี 2018 : วิษณุ โชลิตกุล

จู่ ๆ ราคาน้ำมันดิบที่เพิ่งทำนิวไฮในรอบ 3 ปี ก็มีอันร่วงลงชนิดหาคำอธิบายได้ยาก ว่าเหตุใดขาขึ้นจึงกลายเป็นขาลง โดยไม่เกี่ยวข้องกับกลไกอุปสงค์-อุปทานของตลาด

จากการคาดเดาว่า หากสหรัฐฯ คว่ำบาตรทางเศรษฐกิจต่ออิหร่านและเวเนซุเอลา ราคาน้ำมันอาจจะพุ่งขึ้นไปที่แถวเป้าหมาย 80 ดอลลาร์ต่อบาร์เรลที่ซาอุดีอาระเบียตั้งเอาไว้ หรือเกินนั้น

คำอธิบายอ้างถึง  2 ปัจจัยคือ 1) โดนัลด์ ทรัมป์ ขู่รัสเซียและซาอุดีอาระเบียว่าจะแทรกแซงตลาดที่บิดเบือน 2) โอเปกมีข้อตกลงลับว่าหากสหรัฐฯ คว่ำบาตรอิหร่านเมื่อใด จะเพิ่มการผลิตน้ำมันมากขึ้นจากข้อตกลงเดิมเมื่อปีก่อน

ที่ผ่านมา สหรัฐฯ ได้ประกาศถอนตัวจากข้อตกลงนิวเคลียร์ที่ทำไว้กับอิหร่านในสมัยบารัค โอบามา ซึ่งเท่ากับการเปิดทางให้สหรัฐฯ ใช้มาตรการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจต่ออิหร่านรอบใหม่ และจะกดดันต่ออุปทานน้ำมันตลาดโลก

กลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมัน (โอเปก) และประเทศนอกกลุ่มโอเปก นำโดยรัสเซีย มีมติขยายเวลาปรับลดกำลังการผลิตน้ำมัน 1.8 ล้านบาร์เรล/วันจนถึงสิ้นปีนี้เพื่อรักษาเสถียรภาพราคาน้ำมัน อย่างไรก็ดี ในเดือนที่แล้ว กลุ่มผู้ผลิตและส่งออกน้ำมันได้ให้ความร่วมมือในการปรับลดกำลังการผลิตน้ำมันมากถึง 152% ซึ่งหมายความว่ามีการปรับลดกำลังการผลิตรวมกันมากกว่า 1.8 ล้านบาร์เรล/วันที่ตกลงกันไว้ ทำให้ราคาพุ่งแรงเกือบทะลุแนวต้าน 70 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล

ตามปกติ โอเปกและผู้ผลิตน้ำมันนอกโอเปกจะทบทวนนโยบายการผลิตน้ำมันในการประชุมที่กรุงเวียนนาในวันที่ 22-23 มิถุนายนนี้ โดยอาจมีการปรับเพิ่มกำลังการผลิตเพื่อให้ตัวเลขความร่วมมือในการปรับลดกำลังการผลิตน้ำมันลดลงสู่ระดับ 100% จาก 152% ในขณะนี้ แต่สถานการณ์เกิดพลิกผันขึ้นมา ทำให้มีข่าวว่า ซาอุดีอาระเบียและรัสเซียได้หารือเกี่ยวกับการปรับเพิ่มกำลังการผลิตน้ำมันที่นครเซนต์ปีเตอร์สเบิร์กในสัปดาห์ที่ผ่านมา โดยมีสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์เข้าร่วมประชุมด้วยในฐานะประธานโอเปก

ข่าวดังกล่าว ทำให้สัญญาน้ำมันดิบล่วงหน้า WTI และเบรนท์ต่างทรุดตัวลงอย่างหนักนับแต่ 25 พฤษภาคมจนถึงวันนี้หลังมีรายงานว่า ซาอุดีอาระเบียและรัสเซียกำลังหารือกันในการเพิ่มกำลังการผลิตน้ำมันราว 1 ล้านบาร์เรล/วัน

ความพยายามในการปรับเพิ่มการผลิตน้ำมันดังกล่าว มีเหตุผลตามมาว่า ส่วนหนึ่งก็เพื่อชดเชยกับปริมาณน้ำมันที่จะขาดหายไปจากการที่อิหร่านและเวเนซุเอลาอาจถูกสหรัฐฯ คว่ำบาตร ถือเป็นความยืดหยุ่นทางนโยบาย เพราะหากราคาน้ำมันสูงเร็วเกินไป อาจสร้างความวุ่นวายระลอกใหม่ให้ชาติต่าง ๆ ทั่วโลกต้องรับมือทันควัน

คำอธิบายที่ค่อนข้างแปลก ของนักวิเคราะห์ด้านน้ำมันดิบ ระบุว่า ซาอุดีอาระเบียไม่เต็มใจลดราคาน้ำมันยามนี้มากนัก เพราะเป็นช่วงกอบโกยกำไรกลับคืนครั้งใหม่ ก่อนที่บริษัทน้ำมัน อารามโก ของรัฐบาลจะระดมทุนขายหุ้น 5% เพื่อระดมทุนมากกว่า 2 ล้านล้านดอลลาร์ แต่มีสนธิสัญญาลับนานมาแล้วว่าจะต้องเข้ามาช่วยรักษาเสถียรภาพราคาน้ำมันโลกไม่ให้พุ่งแรงเกินจนคนหันกลับไปหาพลังงงานทดแทนได้สะดวกกว่า แม้จะเคยแพงกว่า

เหตุผลที่ใช้อธิบายว่า เมื่อใดที่สหรัฐฯ ตัดสินใจว่าจะเล่นงานอิหร่านระลอกใหม่ ซาอุดีอาระเบียจะต้องเตรียมการปรับลดราคาลง ดูไม่สมเหตุสมผล แต่ความเป็นไปได้ก็ส่งสัญญาณมาชัดเจน

ถ้าคำอธิบายนี้ถูกต้องแสดงว่า สหรัฐฯ มีโอกาสสูงที่จะเล่นงานอิหร่านในเร็ววันนี้ ซึ่งไม่น่าจะสมเหตุสมผล

ปริศนาราคาน้ำมันขาลงระลอกใหม่ที่ยังไม่ชัดเจนว่าจะแค่พักฐาน หรือลงไปเลย ทำให้ตลาดค่อนข้างงงงวยพอสมควรกับความแปรปรวนที่เกิดขึ้น

สัญญาณขาขึ้นของราคาน้ำมันแรงในช่วงที่ผ่านมา เพราะว่านักลงทุนรายใหญ่กำลังโยกพอร์ตจากตลาดหุ้นและตลาดเงิน ไปสู่ตลาดสินค้าโภคภัณฑ์พื้นฐานคือ น้ำมันดิบและทองคำระลอกใหม่ แต่น้ำมันชัดเจนกว่า เพราะไม่อิงกับค่าดอลลาร์มากเกินควร แต่ ท่าทีเปลี่ยนไปของกองทุนและขาใหญ่ที่หนีตายจ้าละหวั่น ไม่ใช่ข่าวดีสำหรับตลาดน้ำมัน ตลาดทองคำ และตลาดหุ้น

อาการหนีตายนี้ คงจะเกิดขึ้นชั่วคราว เมื่อตลาดปรับฐานลงไประดับหนึ่ง แต่นักลงทุนจะทนได้หรือไม่ เป็นบททดสอบที่ดีอีกครั้ง แม้อาจจะต้องทนอึดอัดกันบ้าง

Back to top button