เศรษฐศาสตร์ไม่การเมืองทายท้าวิชามาร

นักเศรษฐศาสตร์นี่ก็แปลกนะครับ เงินเฟ้อติดลบ 5 เดือนติดต่อกัน ลบมากที่สุดในรอบ 5 ปี 8 เดือน แทนที่จะดี ชาวบ้านได้ซื้อสินค้าราคาถูก กลับกลัวภาวะเงินฝืด


นักเศรษฐศาสตร์นี่ก็แปลกนะครับ เงินเฟ้อติดลบ 5 เดือนติดต่อกัน ลบมากที่สุดในรอบ 5 ปี 8 เดือน แทนที่จะดี ชาวบ้านได้ซื้อสินค้าราคาถูก กลับกลัวภาวะเงินฝืด

มูดี้ส์ไม่ลดเครดิตไทย ยืนยันว่าเศรษฐกิจไทยยังแข็งแกร่ง แต่นักเล่นหุ้นกลับเชื่อว่าเศรษฐกิจฟื้นตัวช้า ไม่จูงใจนักลงทุนต่างชาติ จนหุ้นตกไป 19 จุด

ทำไมไม่เชื่อกันมั่ง นายกฯ ยังปลื้มอกปลื้มใจ มูดี้ส์ชมรัฐประหารฟื้นเสถียรภาพการเมือง ลดความผันผวนทางเศรษฐกิจ

มูดี้ส์พูดถูกหลายอย่าง การส่งออกหดตัวก็ทดแทนด้วยท่องเที่ยว สินค้าเกษตรตกต่ำหรือ ภาคเกษตรมีสัดส่วนจีดีพีน้อยมาก แค่ 8% แถมรัฐบาลนี้ยังอยู่ในกรอบวินัยการเงินการคลัง ลดความเสี่ยงประชานิยม

แต่หลายวันก่อนฟัง อ.ธนวรรธน์ พลวิชัย พูดทางวิทยุ ว่าเศรษฐกิจรอบนี้เป็นอะไรที่ไม่เคยเจอใน 50 ปี คือตัวเลขดูดีอยู่หรอกแต่คนไม่มีรายได้ ทั้งแรงงานในภาคเกษตร 20 ล้านคน ทั้งแรงงานในภาคส่งออกที่แม้ไม่ตกงานก็ลดกำลังการผลิต ซึ่งกระทบขึ้นมาถึงพ่อค้าแม่ขาย SME ตลอดจนบะหมี่สำเร็จรูป

สาเหตุที่มาไม่มีใครโทษ คสช.หรอก เพราะมีทั้งเศรษฐกิจโลกทั้งผลงานหลายรัฐบาล คสช.จัดการปัญหาบางเรื่องได้ดีด้วยซ้ำ แต่การจัดการบางเรื่องประกอบปัจจัยทางการเมือง ก็จะก่อคลื่นใต้น้ำแม้ยังบอกไม่ได้ว่าส่งผลเพียงไร แต่ก็เป็นคลื่นลูกใหญ่กว่าถอนพาสปอร์ตถอดยศแน่นอน

ปัจจัยทางการเมืองคือคนชั้นนำ คนชั้นกลางระดับบนในสังคมไทย พึงพอใจกับรัฐประหาร เศรษฐกิจจะเป็นไงก็ช่างมัน ขอให้ปราบคอร์รัปชั่นให้ดู เพราะคนชั้นนี้มีอันจะกินอยู่แล้ว ขณะที่คนชนบทคนระดับล่างเดือดร้อน นโยบายประชานิยมหดหาย (แม้มันจะผิด) การจัดการหลายเรื่อง เช่น จัดระเบียบแท็กซี่ แมงไซค์ หาบเร่ แผงลอย ไปจน “ทวงคืนผืนป่า” ที่ไล่ตัดยางพาราอยู่ตอนนี้ ก็กระทบคนชายขอบอย่างกว้างขวางโดยไม่มีความต่างสี

ขณะที่รัฐบาลขึ้นเงินเดือนข้าราชการ กำลังจะปรับบัญชีเงินเดือนทหาร และกำลังจะสร้างทางจักรยานให้ออกกำลังกาย

ปัจจัยทางการเมืองจะส่งผลต่อเศรษฐกิจไทยในอนาคตอันใกล้เพียงไร ถึงวันนี้ยังไม่มีกูรูคนไหนบอกได้ เพียงบอกว่า “ไม่มีความแน่นอน”

เพราะรัฐประหารในโลกนี้มีทางลง 2 ทางเท่านั้น หนึ่ง เปลี่ยนผ่านสู่การเลือกตั้งโดยสันติ กับสอง ไม่สันติ ซึ่งถึงวันนี้ก็ยังไม่มีใครมั่นใจว่าจะลงทางไหน ได้แต่พยายามยืด “ความไม่แน่นอน” ออกไป โดยหวังว่าสังคมไทยจะหาทางลงดีๆ ได้ ทั้งๆ ที่เห็นอยู่ว่ายิ่งเพิ่มความขัดแย้ง

เตือนไว้ว่าถ้าครั้งนี้สังคมไทยหาทางลงดีๆ ไม่ได้ก็ลงแรงนะครับ เพราะเล่นกันแรงไปแล้ว กลุ่มธุรกิจทั้งหลายที่เอาตัวไปผูกขั้ว ระวังไว้ให้ดี

มูดี้ส์บอกว่าปัจจัยที่จะทำให้ต้องปรับลดความน่าเชื่อถือคือเกิดการเผชิญหน้าทางการเมืองอีกจนส่งผลกระทบต่อการผลิตและการท่องเที่ยว แต่ก็เห็นว่าที่ผ่านมา คสช.ประสบความสำเร็จในการฟื้นฟูความสงบเรียบร้อย การแบ่งขั้วทางการเมืองแม้ส่งผลต่อเศรษฐกิจบ้างแต่ก็ไม่ส่งผลต่ออันดับความน่าเชื่อถือ

แหม…ตอนลงท้ายนี่ไม่เข้าใจการเมืองไทยเอาเสียเลย ปี 53 ก็ทีหนึ่งแล้วหลังปราบม็อบก็อัพเกรดเศรษฐกิจไทยมีเสถียรภาพ แล้วเป็นไงล่ะ การเมืองไทยยังมีปัจจัยอีกเยอะที่จะเขย่าเศรษฐกิจ

                                                                                                ใบตองแห้ง

Back to top button