ดอลลาร์แข็งอีกครั้ง

พอตัวเลขภาวะจ้างงานนอกภาคเกษตรสหรัฐฯ ดีเกินคาดในเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา และตัวเลขอัตราว่างงานก็ต่ำกว่าคาดการณ์ ดัชนีตลาดหุ้นนิวยอร์กก็ทะยานบวกแรงเมื่อวันศุกร์ และค่าดอลลาร์แข็งค่าเทียบสกุลเงินหลัก


พลวัตปี 2018 : วิษณุ โชลิตกุล

พอตัวเลขภาวะจ้างงานนอกภาคเกษตรสหรัฐฯ ดีเกินคาดในเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา และตัวเลขอัตราว่างงานก็ต่ำกว่าคาดการณ์ ดัชนีตลาดหุ้นนิวยอร์กก็ทะยานบวกแรงเมื่อวันศุกร์ และค่าดอลลาร์แข็งค่าเทียบสกุลเงินหลัก

คำถามคือ ตลาดที่รีบาวด์ใต้แนวต้าน จะบวกได้ไกลแค่ไหน กลับกลายเป็นประเด็นที่นักลงทุนในตลาดเก็งกำไรต้องชั่งน้ำหนักก่อนการตัดสินใจว่าจะเข้าซื้อ หรือจะขายออกบางส่วนเพื่อลดความเสี่ยงกัน

เหตุผลคือ ตัวเลขจ้างงานสหรัฐฯ ที่ดีเกินคาดเมื่อวันศุกร์ จะเป็นแรงกดดันเฟดให้ต้องหาทางขึ้นดอกเบี้ยนโยบายครั้งใหม่ ยากจะผ่อนผันไปเรื่อย ๆ

กระทรวงแรงงานสหรัฐฯ รายงานเมื่อวันศุกร์ว่า ตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตรเพิ่มขึ้น 223,000 ตำแหน่งในเดือน พ.ค. สูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 188,000 ตำแหน่ง ส่วนอัตราการว่างงานลดลงสู่ระดับ 3.8% ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดในรอบ 18 ปีนับตั้งแต่เดือนเมษายน 2543 และต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดว่าจะทรงตัวที่ระดับ 3.9%

นอกจากนั้น ตัวเลขค่าจ้างรายชั่วโมงโดยเฉลี่ยของแรงงาน เพิ่มขึ้น 8 เซนต์/ชั่วโมง หรือ 0.3% สอดคล้องกับตัวเลขคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ จากระดับ 0.1% ในเดือนเมษายน และเพิ่มขึ้น 2.7% เมื่อเทียบรายปี จากระดับ 2.6% ในเดือนเมษายน

อีกมุมหนึ่ง ข้อมูลภาคการผลิตของสหรัฐฯ ของสถาบันจัดการด้านอุปทานของสหรัฐฯ (ISM) ระบุว่า ดัชนีภาคการผลิตของ ISM พุ่งขึ้นสู่ระดับ 58.7 ในเดือน พ.ค. จากระดับ 57.3 ในเดือน เม.ย. ดีกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่าดัชนีจะปรับตัวสู่ระดับ 58.4

สกุลเงินดอลลาร์แข็งค่าเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก ๆ (แม้การเมืองในชาติยูโรจะยังเล่นบททดสอบในการซื้อขายต่อไป) ขานรับตัวเลขที่ดีเกินคาดในเชิงบวกครั้งใหม่ เพราะทำให้คนย้อนกลับไปพิจารณาท่าทีของเฟดที่เกี่ยวกับการขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายอีกครั้ง

ในการประชุม FOMC ของเฟดเดือนที่ผ่านมา นักตีความเฟดในวอลล์สตรีท ประเมินว่า เฟดได้ส่งสัญญาณปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในการประชุมเดือนมิถุนายนนี้อย่างชัดเจน หลังจากที่ได้ระบุว่า อัตราเงินเฟ้อกําลังเข้าใกล้ระดับ 2% ซึ่งเป็นเป้าหมายของเฟด และการปรับตัวของเศรษฐกิจได้สนับสนุนให้เฟดปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยต่อไป

คำแถลงทิ้งท้ายของเฟดดังกล่าว ระบุว่า คณะกรรมการจะจับตาความคืบหน้าเกี่ยวกับการบรรลุเป้าหมายเงินเฟ้ออย่างใกล้ชิด ทั้งในแง่ความเป็นจริงและการคาดการณ์ โดยคาดว่าภาวะทางเศรษฐกิจจะปรับตัวในแนวทางที่จะสนับสนุนการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยระยะสั้นอย่างค่อยเป็นค่อยไป และอัตราดอกเบี้ยระยะสั้นมีแนวโน้มที่จะยังคงต่ำกว่าระดับที่คาดการณ์ไว้ในระยะยาวต่อไปสักระยะหนึ่ง อย่างไรก็ตาม ทิศทางที่แท้จริงของอัตราดอกเบี้ยระยะสั้นจะขึ้นอยู่กับแนวโน้มเศรษฐกิจ ตามข้อมูลด้านแรงงานและการผลิตที่กําลังจะมีการเปิดเผยต่อจากนี้ มีความหมายที่กำหนดเงื่อนไขยืดหยุ่นชัดเจน

ท่าทีของเฟดแม้จะทำให้ฟันด์โฟลว์ในตลาดเอเชีย แสดงปฏิกิริยาตามแรงเหวี่ยงของตลาดด้วยการที่ฟันด์โฟลว์ข้ามชาติเริ่มถอนตัวออกจากตลาดเกิดใหม่ในอาเซียนรวมทั้งไทยในอัตราเร่ง

ความสนใจของตลาดหุ้นนอกสหรัฐฯ ก็เลยย้อนกลับไปสู่ประเด็นที่เคยเป็น “ภูเขา 3 ลูกตลาดหุ้น” ที่หมายถึง 1) ค่าดอลลาร์เทียบกับเงินสกุลท้องถิ่น 2) อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯระยะยาว หรือ บอนด์ยีลด์อายุมากกว่า 10 ปีขึ้นไป 3) อัตราการเติบโตกระจุกตัวของเศรษฐกิจตลาดเกิดใหม่แต่ละรายเดินมาถึงทางตันมากน้อยแค่ไหน

สถานการณ์ที่ฟันด์โฟลว์ไหลออกจากตลาดหุ้นไทยต่อเนื่อง ไม่เกี่ยวกับการเปลี่ยนตัวผู้จัดการตลาดหุ้นไทย แต่โยงใยโดยตรงกับค่าเงินดอลลาร์ที่แข็ง ทำให้เงินบาทอ่อนยวบรวดเร็ว ลบล้างการประเมินเมื่อสองเดือนก่อนที่ว่าค่าบาทจะยังแข็งค่าเทียบกับดอลลาร์ไปจนถึงครึ่งหลังของปีนี้ หรือกลางปีหน้า ใช้ไม่ได้อีกต่อไป

โมเมนตัมของดัชนีตลาดหุ้นไทยที่มีทิศทางขาลงไปทดสอบแนวรับใหม่ และมูลค่าซื้อขายรวมเมื่อวันศุกร์หดหายรุนแรง อาจจะไม่ได้บอกสัญญาณทางเทคนิคว่า จะถึงเวลาช้อนซื้อเสียที เพราะตราบใดที่ค่าดอลลาร์มีโอกาสเป็นขาขึ้นตามอัตราดอกเบี้ยของเฟด อาจจะได้เห็นการหลุดแนวรับของ SET ไปใต้ 1,700 จุดได้ไม่ยาก โดยเฉพาะในยามที่ราคาน้ำมันดิบกำลังผันผวนระลอกใหม่

ช่วงเวลานี้และต่อจากนี้ไป ต้องติดตามทิศทางของค่าดอลลาร์ที่ส่งผลต่อฟันด์โฟลว์มากเป็นพิเศษ

Back to top button