กูรูคัด 18 บจ.เด่น เน้นปันผล-รับเต็มบาทอ่อนSET ช่วงสั้นยังไร้ทิศทางระหว่างรอผล กนง.

นักวิเคราะห์มองดัชนีหุ้นไทยยังมีโอกาสซึมตัวลงต่อแม้จะผ่านช่วงปรับฐานแล้ว ภาพรวมยังไร้ทิศทางจนกว่าจะเกิดความชัดเจนในการประชุม กนง. สัปดาห์หน้า การลงทุนเน้นหุ้นปันผลดี และรับผลดีการค่าเงินบาทที่อ่อนตัว


ข่าวหุ้นธุรกิจออนไลน์รายงาน เช้านี้ ณ เวลา 9.17 น. ค่าเงินบาทอยู่ที่ 33.64 บาทต่อเหรียญ ขณะที่ตลาดหุ้นเอเชียปรับตัวผันผวน โดยตลาดหุ้นบางแห่งดีดตัวขึ้นขานรับการปิดบวกของตลาดหุ้นสหรัฐ หลังมีรายงานว่าภาคเอกชนของสหรัฐมีการจ้างงานเพิ่มขึ้นเกินคาดในเดือนพ.ค. ขณะที่ตลาดบางแห่งร่วงลงเนื่องจากความวิตกกังวลเกี่ยวกับปัญหาหนี้กรีซ

นักวิเคราะห์มองดัชนีหุ้นไทยมีโอกาสซึมตัวลงต่อแม้จะผ่านช่วงปรับฐานแล้ว ภาพรวมยังไร้ทิศทางจนกว่าจะเกิดความชัดเจนในการประชุม กนง. สัปดาห์หน้า ขณะที่ปัจจัยจากต่างประเทศส่วนใหญ่ยังเป็นลบ อย่างไรก็ตาม ทางเทคนิคมีโอกาสเกิดรีบาวด์ได้บ้างในระยะสั้น การลงทุนเน้นหุ้นปลอดภัยจากภาวะตลาดผันผวน ปันผลดี ได้ประโยชน์จากค่าเงินบาทที่อ่อนตัว หุ้นเด่นเลือก BCP-ADVANC-INTUCH-KBANK-ITD-TPIPL-WHA-TASCO-TPIPL-WHA-TUF-VNG-HANA-RCL-UNIQ-SEAFCO-TLUXE และ CGD

 

บล.เมย์แบงก์ กิมเอ็ง (ประเทศไทย) ระบุในบทวิเคราะห์ (4 มิ.ย.) คงมุมมองเป็น “กลาง” วันที่ 47 ทั้งนี้ SET INDEX ที่ฟื้นตัวยืนเหนือ 1,480 จุดวานนี้ ด้วยมูลค่าการซื้อขายที่เบาบาง เชื่อว่าเป็นการเกิด Technical Rebound รอบสั้นๆ เท่านั้น ภาพการลงทุนของตลาดหุ้นไทยยังมีความเปราะบางอยู่มาก ตราบใดที่มูลค่าการซื้อขายยังต่ำกว่า 5 หมื่นล้านบาท/วัน

แม้ รมว.คลัง นาย สมหมาย ภาษี ออกมาให้ความเห็นต่อการประชุม กนง.วันที่ 10 มิ.ย.นี้ อาจไม่จำเป็นต้องลดอัตราดอกเบี้ย RP1 วันอีก เนื่องจากภาคการส่งออกเริ่มเห็นสัญญาณการฟื้นตัว ขณะที่กลุ่มธนาคารปรับตัวลง 12.51% ตั้งแต่เดือนเม.ย.ที่ผ่านมา สะท้อนแรงกดดันทั้งส่วนต่างอัตราดอกเบี้ย (NIM) ที่แคบลงจากการลดอัตราดอกเบี้ย/หนี้เสีย (NPLs) ที่เพิ่มขึ้น สร้างแรงกดดันต่อการตั้งสำรองหนี้เสีย/การเติบโตของสินเชื่อที่อยู่ในระดับต่ำ

ประเด็นดังกล่าวนักลงทุนสถาบันทั้งในและต่างประเทศต่างลดน้ำหนักการลงทุนในกลุ่มธนาคารมาอย่างต่อเนื่อง ความเห็นเชิงกลยุทธ์มองว่าหุ้นหลักในกลุ่มธนาคารปรับตัวลงมาสะท้อนปัจจัยลบดังกล่าวไปค่อนข้างมากแล้ว การประชุมกนง.สัปดาห์หน้า หากลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ก็จะเกิดแรงกดดันเป็นครั้งสุดท้าย แต่หากคงอัตราดอกเบี้ยตามที่รมว.คลังให้ความเห็น หุ้นหลักกลุ่มธนาคารก็พร้อมที่จะฟื้นตัวเช่นกัน

ขณะที่ประเมินว่ากลุ่มพลังงาน/ปิโตรเคมี จากช่วงต้นปีขยับขึ้น 3.96% และ 22.38% ตามลำดับ เทียบกับ SET INDEX -1.04% สะท้อนการฟื้นตัวของราคาน้ำมันดิบไปค่อนข้างมากแล้ว หากการประชุมโอเปคในวันพรุ่งนี้คงโควต้าการผลิตเช่นเดิม บวกกับปลายปีนี้ อิหร่านจะกลับมาผลิตและส่งออกน้ำมันดิบ ย่อมสร้างแรงกดดันต่ออุปทาน ภายใต้อุปสงค์ที่เติบโตต่ำ กลายเป็นประเด็นที่เกิดแรงกดดัน Upside gain ของ 2 กลุ่มนี้

เมื่อภาพรวมของการลงทุนยังเห็น SET INDEX ซึมตัวลง ไร้ทิศทาง จนกว่าจะเกิดความชัดเจนในการประชุม กนง. สัปดาห์หน้า ดังนั้นหุ้นปันผลระหว่างกาล มีแนวโน้มแข็งแกร่งเมื่อเทียบกับภาพรวม (เช่น INTUCH/ADVANC) หรืออาจเป็นการเลือกเก็งกำไรต่อคาดการณ์หุ้นใหม่ที่จะได้เข้า SET50 / SET100 หรือการทำ Window Dressing ในช่วงสัปดาห์สุดท้ายของเดือนมิ.ย.

กลยุทธ์การลงทุนแนะนำ “นักลงทุนเลือกเก็งกำไรหุ้นเป้าหมาย แบบจำกัดวงเงิน และพร้อมขายทำกำไร เมื่อผลตอบแทน 5% +/- ในแต่ละรอบ” ภายใต้ภาพ SET INDEX ที่ยังมีความเปราะบาง

Top Pick in Q2/15: ITD/TPIPL/WHA/TASCO

Accumulative Buy: IFEC/TMB

 

บล. เคเคเทรด ระบุในบทวิเคราะห์ (4 มิ.ย.) แนวโน้มแรงขายเริ่มเบาบางทำให้ SET มีโอกาสทำ Technical rebound ได้บ้างในระยะสั้น แต่ยังมีความเสี่ยงขาลงในระยะกลาง กดดันด้วยความเสี่ยงในการผิดนัดชำระหนี้ของกรีซ-ความผันผวนราคาน้ำมันก่อนการประชุม OPEC กลยุทธ์เน้นขึ้นมาให้ขาย หรือเก็งกำไรระยะสั้นภายในวัน และมีจุดตัดขาดทุนที่ชัดเจน หาก SET หลุด 1,475 จุดแนะนำให้ขายและรอดูก่อน

Top Daily Pick: BCP (มูลค่าเหมาะสม 38 บ.) INTUCH (มูลค่าเหมาะสม 98 บ.)

 

บล.ธนชาต ระบุในบทวิเคราะห์ (4 มิ.ย.) ว่า SET มีแนวโน้มฟื้นตัวสั้นไปที่ 1,492 จุด (ต้องยืนได้เหนือ 1,492 จุด ถึงจะเป็นสัญญาณกลับตัว) และแนะนำ “ซื้อ” กลุ่มธนาคาร เนื่องจาก 1) รมต.คลังมองดอกเบี้ยต่ำแล้ว ลดความกังวลต่อการลดดอกเบี้ย กนง.สัปดาห์หน้า 2) หุ้นกลุ่มธนาคารปรับลดลงแรง ตั้งแต่การลดดอกเบี้ยครั้งแรกเมื่อวันที่ 11 มี.ค.โดย KTB -22%, TMB -16%, KBANK -14%, และ SCB -12% ทำให้มองว่ามีโอกาส “ซื้อ” KTB ที่ปรับลดลงแรงเกินไปถึง 22% ในช่วง 2 เดือน และราคาปัจจุบันให้อัตราผลตอบแทนจากเงินปันผล 4.8% ปีนี้ และ “ซื้อ” KBANK ที่ PE ปรับลดลงต่ำกว่า 10 เท่า และสินเชื่อเติบโตดีสุดในธนาคารใหญ่

 

บล.เอเซีย พลัส ระบุในบทวิเคราะห์ (4 มิ.ย.) ASPS ปรับลดกำไรตลาดเพิ่มเติม และปรับลดสมมติฐานราคาน้ำมันลง เป็นรอบ 2 ทำให้ EPS ตลาดปีนี้เหลือ 95.86 บาท (ลดลงจาก เม.ย. ที่ 97.21 บาท) ทำให้ Ex. P/E ยังอยู่ราว 15.5 เท่า แม้ดัชนีได้ปรับฐานแล้วก็ตาม ซึ่งทำให้ตลาดยังคงมีการแกว่งตัวลงต่อ จึงเน้นหุ้นที่ได้ประโยชน์เงินบาทอ่อนค่า (TUF, VNG, HANA, RCL) และยังเลือก HANA (FV@B48) เป็น Top Pick

 

บล.แอพเพิล เวลธ์ ระบุในบทวิเคราะห์ (4 มิ.ย.) ว่า สำหรับวันนี้แนะนำให้ติดตาม สศอ. แถลงทิศทางภาวะอุตสาหกรรมไทย ในช่วงครึ่งปีหลัง 58 และรายงานดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค รวมถึงการแถลงผลงานรัฐบาลครบรอบ 1 ปีของนายกฯ

กลยุทธ์การลงทุน ฝ่ายวิจัยประเมินทิศทางการฟื้นตัวดัชนียังค่อนข้างจำกัด โดยมีกรอบการลงทุน 1,480-1,500 จุด ระยะกลาง แนะนำ Wait & See ระยะสั้นแนะนำเก็งกำไร หุ้นกลุ่มรับเหมาก่อสร้าง เช่น ITD, UNIQ และ SEAFCO ที่มีโมเมนตัมบวกทางเทคนิค

 

บล.กรุงศรี ระบุในบทวิเคราะห์ (4 มิ.ย.) คาดการณ์มุมมองทางเทคนิค ยังไม่เห็นการเปลี่ยนแปลงใดๆ ในเชิงเทคนิค ไม่ว่าจะเป็นการที่ SET เคลื่อนไหวใต้ MA10 และ MA25 รูปกราฟ candlestick ที่ไร้ทิศทาง และมูลค่าการซื้อขายที่แผ่วลงไป ดังนั้น SET จะเคลื่อนไหวในกรอบ 1,470-1,490 ในทิศทางที่อาจผันผวนในทางปรับลงได้ถึงแม้ว่าจะบวกขึ้นมาเมื่อวานนี้

แนวโน้มของตลาดจะเคลื่อนไหวที่กรอบ 1,470-1,490

หุ้นที่เลือกวันนี้มีโอกาสปรับขึ้น แนะนำซื้อเก็งกำไรที่ TLUXE และ CGD

Back to top button