พาราสาวะถีอรชุน

วันนี้พิธีกรรมประชุมแม่น้ำ 3 สายประกอบด้วย คณะรัฐมนตรี สภาปฏิรูปแห่งชาติ และสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ใช้ห้องประชุมสภาเป็นสถานที่พบปะ นัยว่าเพื่อให้รัฐบาลได้ชี้แจงแถลงผลงานในรอบ 1 ปีนับตั้งแต่คสช.ยึดอำนาจ พร้อมๆ เปิดโอกาสให้บรรดาสมาชิกได้แสดงความคิดเห็น คงเป็นบรรยากาศถ้อยทีถ้อยอาศัยมากกว่าพะบู๊กันเลือดสาดจอ


วันนี้พิธีกรรมประชุมแม่น้ำ 3 สายประกอบด้วย คณะรัฐมนตรี สภาปฏิรูปแห่งชาติ และสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ใช้ห้องประชุมสภาเป็นสถานที่พบปะ นัยว่าเพื่อให้รัฐบาลได้ชี้แจงแถลงผลงานในรอบ 1 ปีนับตั้งแต่คสช.ยึดอำนาจ พร้อมๆ เปิดโอกาสให้บรรดาสมาชิกได้แสดงความคิดเห็น คงเป็นบรรยากาศถ้อยทีถ้อยอาศัยมากกว่าพะบู๊กันเลือดสาดจอ

อย่างที่รู้กันทั้งหมดมีที่มาจากปลายกระบอกปืน ทำคลอดโดย พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา องค์รัฏฐาธิปัตย์ที่ยึดอำนาจมาจากรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ดังนั้น ภาพที่จะเห็นการอภิปรายแบบห้ำหั่น เอาชนะคะคาน ไล่บี้จนรัฐบาลตอบคำถามไม่ได้จึงไม่มี ที่มีสมาชิกสปช.หรือสนช.บางรายแสดงออกว่าไม่พอใจอย่างโน้นอย่างนี้ก่อนหน้าก็แค่ลีลาเรียกแขก เรียกร้องความสนใจเท่านั้น

ต้องไม่ลืมกันว่าภารกิจทั้งหมดของแม่น้ำ 5 สายแม้จะแยกกันทำ แต่มีเป้าหมายเดียวคือปฏิรูปประเทศให้สำเร็จ ไม่ใช่แค่ช่วยให้รัฐบาลคสช.บริหารงานไปแบบราบรื่นเท่านั้น มีงานที่ใหญ่กว่าคือวางแนวทางไปถึงรัฐบาลหน้าให้เข้ามาสานต่อโดยไม่สะดุด อีกจุดหมายคือต้องไม่ให้เกิดความขัดแย้งระหว่างเสื้อสี เหล่านี้คือภาระหน้าที่ที่ผู้มีอำนาจหน้าที่เวลานี้จะแตกแถว ขัดแย้งกันไม่ได้

เช่นเดียวกันกับการยกร่างรัฐธรรมนูญ ที่แม้ว่าทางครม.และสปช.จะชงเสนอขอแก้ไขกันมากมายพะเรอเกวียน แต่ท้ายที่สุด หลังการพบปะพูดคุยไม่มีอะไรให้น่ากังวล ถ้อยคำหรือหลักการบางอย่างที่ไม่สอดคล้องต้องกัน สามารถปรับให้ไปในแนวทางเดียวกันได้ ประมาณว่าพบกันครึ่งทาง สุดท้ายไม่มีอะไรในกอไผ่ ทุกคนทุกฝ่ายยังรักใคร่กลมเกลียวกันดีอยู่

ขณะที่ปมว่าด้วยการทำประชามติ ยืนยันจาก วิษณุ เครืองาม ที่ประชุมครม.เมื่อวันอังคารอนุมัติเรียบร้อยแล้ว เหตุที่ต้องแสดงตัวว่ารัฐบาลได้ดำเนินการเพื่อไม่ต้องให้มีการตั้งคำถามอีกว่าเป็นหน้าที่ใคร จากนี้ไปก็อยู่ที่การยกร่างเนื้อหาแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว ที่นอกจากจะเปิดช่องให้ทำประชามติแล้ว จะต้องระบุต่อไปว่า หากไม่ผ่านความเห็นชอบของประชาชนจะมีทางลงทางออกอย่างไร

เนติบริกรใหญ่อธิบายว่ามี 4 แนวทางซึ่งคงไม่ต่างจากที่เคยบอกไปแล้วก่อนหน้านี้ ส่วนการตั้งข้อสังเกตว่าแนวทางจะออกมาเป็นแบบไหน ให้จับตาดูร่างรัฐธรรมนูญร่างสุดท้าย หากทุกอย่างแก้ไขแบบพบกันครึ่งทาง นั่นหมายความว่า ถ้าร่างรัฐธรรมนูญถูกประชาชนคว่ำในชั้นการลงประชามติ คสช.จะใช้วิธีให้สปช.และคณะกรรมาธิการยกร่างฯ ยังอยู่ปฏิบัติหน้าที่ต่อไป

แน่นอนว่า แนวทางนี้น่าจะเป็นการใช้อำนาจตามมาตรา 44 เหตุผลคือ ไม่ต้องการให้ทุกอย่างเสียเวลา เพียงแต่ว่าการยกร่างกันใหม่แม้จะเป็นคนชุดเดิมแต่จะต้องวางเงื่อนไข เช่น นำเสนอแนวทางให้ทุกฝ่ายเข้าไปมีส่วนร่วมมากกว่าที่ผ่านมา หรืออาจจะใช้วิธีการเติมที่ปรึกษาจากทุกภาคส่วนเข้าไป น่าจะช่วยลดแรงกระเพื่อมเสียงต่อต้านได้ระดับหนึ่ง

                ส่วนใครที่เรียกร้องถามถึงความสง่างาม ต้องเลิกโลกสวยกันได้แล้ว มาจนถึงวินาทีนี้ภายใต้การปกครองด้วยอำนาจพิเศษไม่มีอะไรที่ผู้มีอำนาจจะต้องเกรงใจ ท่าทีล่าสุดของท่านผู้นำเป็นเครื่องพิสูจน์ ที่ขู่ว่าจะทำสื่อขึ้นมาประชาสัมพันธ์ผลงานรัฐบาลเอง เพราะสื่อส่วนใหญ่เอาแต่วิพากษ์วิจารณ์ไม่สร้างสรรค์ พร้อมคำพูดแบบเดิมๆ รู้ตัวดีว่าไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง

แนวทางเช่นนี้มันก็คือยุทธวิธีโฆษณาชวนเชื่อ ซึ่งฝ่ายคุมขุมกำลังถนัดใช้มาตั้งแต่ดึกดำบรรพ์ เพียงแต่ว่าในยุคสังคมข้อมูลข่าวสาร คงต้องปรับและทำให้เนียนเพื่อไม่ให้ถูกครหาว่า จูงจมูกประชาชนก็เท่านั้นเอง เช่นเดียวกันกับการเรียกร้องให้คนติดตามรายการที่ท่านผู้มีอำนาจจัด เพื่อจะได้รู้ว่าทำอะไรไปบ้างแล้ว ความจริงไม่ต้องถึงขนาดนั้น เพราะหากทุกอย่างเกิดประโยชน์แก่ประชาชน ไม่จำเป็นต้องโพนทะนาชาวบ้านเขาจะสรรเสริญ ยกย่องเอง

ย้อนกลับไปยังประเด็นว่าด้วยร่างรัฐธรรมนูญ หากไม่ผ่านประชามติจะมีทางออกอย่างไร กลุ่มเรียกร้องประชามติที่เป็นประชาธิปไตย มีข้อเสนอว่า ให้มีกรรมการร่างรัฐธรรมนูญขึ้นใหม่โดยประชาชน จึงมีความเห็นในเชิงแลกเปลี่ยนมาจาก สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ ว่าไม่ค่อยเห็นด้วยกับการร่างรัฐธรรมนูญกันใหม่อีกกระทอก

เพราะสังคมไทยมีการร่างรัฐธรรมนูญใหม่มากเกินไป เราควรที่จะเรียนรู้ที่จะใช้การแก้รัฐธรรมนูญตามหลักประชาธิปไตย ไม่ใช่การร่างรัฐธรรมนูญ ไม่ว่าจะมาจากกรรมการอย่างไร ดังนั้น กระบวนการควรเริ่มจากการนำเอารัฐธรรมนูญฉบับปี 2540 มาปรับใช้ โดยผ่านการพิจารณาแก้ไขในสิ่งที่เห็นว่าเป็นข้อบกพร่องของรัฐธรรมนูญนั้น หากเดินตามแนวทางนี้ สังคมไทยจะก้าวหน้าไปสู่เส้นทางประชาธิปไตยได้

หลายคนอาจเห็นด้วย แต่ก็มีอีกหลายส่วนที่จะเห็นแย้งว่า ถ้าจะต้องแก้โดยไม่ร่างใหม่ ไม่ควรที่จะใช้รัฐธรรมนูญ 40 เพียงฉบับเดียว ควรต้องนำเอาฉบับปี 50 มาประกบด้วย จากนั้นก็นำเอาข้อดีของทั้งสองฉบับมาบัญญัติไว้ อย่างไรก็ตาม แนวทางดังกล่าวคงถูกปฏิเสธจากผู้มีอำนาจ เพราะมันไม่ตอบโจทย์ที่ได้ตั้งธงกันไว้ก่อนการยึดอำนาจ

ที่เลยธงเหาะเกินลงกาและไม่น่าเชื่อว่าแทบจะไร้แรงกดดันใดๆ ที่มีต่อรัฐบาลคสช.คือ การเล่นงาน ทักษิณ ชินวัตร ทั้งยกเลิกพาสปอร์ต ถอดยศ และจะตามมาด้วยการขอคืนเครื่องราชอิสริยาภรณ์ทั้งหมด โดยผู้มีอำนาจพากันท่องคาถาเป็นเรื่องของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ถูกต้องตามแรงโน้มถ่วงของอำนาจ ปฏิกิริยาที่เกิดขึ้นมีแค่ สะใจในกลุ่มไม่เอาระบอบทักษิณและเฉยๆ ในส่วนของฝ่ายสนับสนุน

ด้านหนึ่งต้องยอมรับความเป็นจริงว่า คนส่วนใหญ่รวมถึงฝ่ายเหลืองฝ่ายแดงเวลานี้สาละวนกับปัญหาชีวิตปากท้องกันเสียมากกว่า จึงไม่มีเวลาจะสนใจใส่ใจว่าใครจะเล่นงานใคร ตรงนี้น่าจะเป็นเรื่องใหญ่ที่ผู้มีอำนาจควรตระหนักมากกว่า เพราะท้ายที่สุด คนเหล่านี้อาจไหลมารวมกันเพื่อไล่รัฐบาลที่ไร้ผลงานทำให้ชีวิตความเป็นอยู่ดีขึ้นไม่ได้ ม็อบจากปัญหาความเดือดร้อนต่างหากคือสิ่งที่รัฐบาลคสช.ต้องติดตาม ไม่ใช่ออกอาการขาสั่นกับกลุ่มสนับสนุนทักษิณ

Back to top button