ความเชื่อมั่นหายลูบคมตลาดทุน

วานนี้คุณสมหมาย ภาษี รมว.คลัง พูดแบบมีนัยสำคัญเกี่ยวกับอัตราดอกเบี้ยนโยบาย


ธนะชัย ณ นคร

 

วานนี้คุณสมหมาย ภาษี รมว.คลัง พูดแบบมีนัยสำคัญเกี่ยวกับอัตราดอกเบี้ยนโยบาย

เขาส่งสัญญาณไปว่า คณะกรรมการนโยบายการเงิน หรือ กนง. ไม่ควรจะลดดอกเบี้ยลงมาอีกแล้วล่ะ เพราะการส่งออกเริ่มกระเตื้องขึ้น

ฟังขุนคลังพูดแล้ว ก็น่าจะใช่

เพราะค่าเงินบาทอ่อนค่าลงจะไปแตะ 34 บาทแล้ว ซึ่งแน่นอนว่าจะช่วยหนุนภาคการส่งออกได้

แต่ กนง. หรือแบงก์ชาติจะมีมุมมองยังไง นั่นก็เป็นอีกเรื่อง

ดอกเบี้ยนโยบายได้ปรับลงมาแล้ว 2 ครั้ง ครั้งละ 0.25% ทำให้ดอกเบี้ยนโยบายตอนนี้อยู่ที่ 1.50% ฉะนั้น ในรอบนี้หากปรับลงอีก 0.25% ก็จะเหลือเพียง 1.25%

นัยยะของคุณสมหมาย ค่อนข้างสวนกับมุมมองของนักวิเคราะห์และนักวิจัยครับ

เพราะส่วนใหญ่ต่างมองกันว่า กนง.อาจทำเซอร์ไพรส์ได้อีก

นั่นก็คือ ปรับดอกเบี้ยลงอีก 0.25%

ครั้งล่าสุดนั้น ว่ากันว่า เป้าหมายในการลดดอกเบี้ย จริงๆ แล้ว น่าจะอยู่ที่ให้ค่าเงินบาทอ่อน เพื่อช่วยการส่งออกให้ฟื้นตัว และตัวเลขจีดีพีจะได้ออกมาสวยๆ หน่อย

แต่ครั้งนั้น ดูเหมือนนายแบงก์จะไม่ค่อยให้ความร่วมมือมากนัก

และนำไปสู่การที่แบงก์ชาติเรียกประชุมนายแบงก์ เพื่อไปหารือ ก่อนที่จะมีการทยอยปรับลดดอกเบี้ยเงินกู้กันลงมา

ส่วนเงินฝาก ส่วนใหญ่ยังคงที่ไว้

การประชุม กนง.ครั้งต่อไปที่จะมีขึ้นในวันที่ 10 มิ.ย.นี้

ในครั้งนี้นั้น มุมมองของนักวิเคราะห์มองว่า หากลดดอกเบี้ยอีก ก็น่าจะช่วยในเรื่องของตลาดหุ้น ที่คาดว่าจะมีเม็ดเงินไหลเข้าไปมากขึ้น หลังจากในช่วงกว่า 1 เดือน วอลุ่มหดหายไปเยอะ

ประเด็นของปัญหาอยู่ที่ว่า หากดอกเบี้ยลงอีก นายแบงก์จะให้ความร่วมมืออีกหรือไม่

หากไม่ให้ความร่วมมือ เกือบทุกอย่างก็น่าจะยังไม่เปลี่ยนแปลงไปมาก

แต่หากนายแบงก์ขยับดอกเบี้ยตาม ก็ไม่ได้หมายความว่า ทุกๆ อย่างมันจะดีขึ้น ไม่ว่าจะเป็นด้านการลงทุน หรือการจับจ่ายของผู้บริโภค

จากการติดตามข้อมูลพบว่า ยอดการปฏิเสธสินเชื่อของธนาคารเพิ่มสูงขึ้น

ทั้งสินเชื่อบ้าน และสินเชื่อรถยนต์

ผมคุยกับผู้ประกอบการรถยนต์ หรือเต็นท์รถยนต์มือสองมา

เขาบอกว่า ตัวเขาเองอยากจะขายรถยนต์มาก เวลามีลูกค้าเข้ามาซื้อ ซึ่งจากเดิม รถยนต์ 1 คัน อายุ 4-5 ปี จะมีกำไร 6-8 หมื่นบาท

แต่ตอนนี้ได้ซัก 3 หมื่นบาท ก็ปล่อยกันแล้ว

เพราะหากยิ่งเก็บไว้นาน ดอกเบี้ยก็ยิ่งเป็นทุนของพวกเขามากขึ้น

แต่เมื่อลดราคาลงมาแล้ว ก็ใช่ว่าจะขายได้ง่ายๆ เพราะลูกค้าขอสินเชื่อจากธนาคารก็กู้ไม่ผ่านกันเยอะ เว้นแต่ลูกค้าบางรายที่จ่ายเงินดาวน์สูงๆ หรือมีผู้กู้ร่วมอีก 1 คน (เป็น 2 คน) ก็จะกู้ได้ง่ายขึ้น

พูดง่ายๆ แบงก์เอง ก็มีความเข้มงวดในการปล่อยสินเชื่ออย่างมาก อย่างที่ผมเคยบอกไว้ก่อนหน้านี้

เช่นเดียวกับสินเชื่อบ้านครับ

แบงก์เองก็ไม่กล้าปล่อย เพราะกลัวเป็นเอ็นพีแอล… ดีดลูกคิดแล้วดีดลูกคิดอีก ประเมินความเสี่ยงกันหลายรอบ ดูเครดิตบูโร ว่าลูกค้าติดหนี้บัตรเครดิต หรือผ่อนสินค้าอื่นๆ ด้วยหรือไม่

หากมี และคำนวณดูแล้วเสี่ยง ก็สแต๊มป์ไม่ผ่าน

สรุปง่ายๆ ความเชื่อมั่นมันลดลงครับ

เช่นเดียวกับตลาดหุ้นในเวลานี้ ที่นักลงทุนหันมาถือเงินสดกันมากขึ้น ทั้งรายใหญ่และรายย่อย

มูลค่าการซื้อขายในช่วงเดือนพ.ค.ที่ผ่านมา หดหายไปเยอะพอสมควร เฉลี่ยต่อวัน แค่กว่า 3 หมื่นล้านบาท จากที่ในช่วง 4 เดือนแรก เฉลี่ยเกือบ 5 หมื่นล้านบาทต่อวัน

และไม่ว่ารัฐบาลจะประกาศโครงการขนาดใหญ่อะไรออกมา ก็ดูเหมือนตลาดหุ้นจะตอบรับไม่มากนัก

หรือตอบรับเพียงช่วงสั้นๆ หลังจากนั้นก็จะมีแรงขายทำกำไรกันออกมา

นักวิเคราะห์บางคนบอกว่า หากจะให้เชื่อมั่นกันจริงๆ ก็คือวันเซ็นสัญญากันนั่นแหละ

เพราะลำพังการกำหนด Timing ที่จะลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน หรือโครงการขนาดใหญ่ ทั้งรถไฟความเร็วสูง รถไฟฟ้าสายสีต่างๆ มอเตอร์เวย์ คงยังไม่เพียงพอ

ปัญหาตอนนี้อยู่ที่ รัฐบาลจะเรียกความเชื่อมั่นกลับมาได้อย่างไร

ต้องทำให้ถูกต้อง และคิดให้เร็ว ทำให้เร็ว มากขึ้นหรือไม่

 

 

 

 

 

 

 

 

Back to top button