โง ดินห์ เดียม 2

ความขัดแย้งที่เป็นรอยร้าวระหว่างอำนาจรัฐไทยภายใต้คสช.กับศาสนจักรพุทธมหานิกาย ที่ได้ดำเนินมาตลอดหลายปีนี้ และคาดว่าจะบานปลายต่อไปในอนาคต ทำให้เกิดคำถามถึงรากฐานของสังคมไทยว่า เรามาถึงจุดนี้กันได้อย่างไร


พลวัตปี 2018 : วิษณุ โชลิตกุล

ความขัดแย้งที่เป็นรอยร้าวระหว่างอำนาจรัฐไทยภายใต้คสช.กับศาสนจักรพุทธมหานิกาย ที่ได้ดำเนินมาตลอดหลายปีนี้ และคาดว่าจะบานปลายต่อไปในอนาคต ทำให้เกิดคำถามถึงรากฐานของสังคมไทยว่า เรามาถึงจุดนี้กันได้อย่างไร

ทางฝ่ายอำนาจรัฐก็อ้างเรื่องของการ “ทำความสะอาดวงการสงฆ์” (โดยฆราวาสที่ถืออำนาจกฎหมายในกำมือ) ขณะที่มีคำถามว่า การดำเนินการดังกล่าวทำให้ 1)วงการสงฆ์สะอาดขึ้นจริงหรือ 2)การดำเนินการดังกล่าวจะสร้างความปริร้าวให้สังคมไทยมากขึ้น หรือนำไปสู่การปรองดองตามที่กล่าวอ้างกันมากว่า 4 ปีแล้วใต้คสช.

กรณีล่าสุดที่เปรียบได้กับระเบิดพลีชีพลูกใหญ่ ที่นายพิสิฐชัย สว่างวัฒนากร พนักงานสอบสวนชำนาญการพิเศษ กรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) โพสต์ข้อความว่าจะมีการเตรียมจับเจ้าอาวาสวัดใหญ่ในกรุงเทพมหานคร ซึ่งมีตำแหน่งถึงระดับพระสมเด็จ เมื่อ 8 มิถุนายน 2561 จนถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจแจ้งข้อกล่าวหาดำเนินคดีข้อหานำข้อมูลอันเป็นเท็จเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ ถือเป็นหัวเชื้อ หรือปะทุไฟครั้งใหญ่ที่ปลุกเร้าให้กลุ่มที่ไม่พอใจกับการกระทำของรัฐบาลที่มีการจับกุมพระระดับชั้นพรหมทั้งวัดสระเกศ วัดสามพระยา และวัดสัมพันธวงศ์ฯ ในข้อหา “เงินทอนวัด” ตามข้อหาของผู้อำนวยการสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ

ฝ่ายที่ต่อต้านการกระทำของอำนาจรัฐ เชื่อว่า นายพิสิฐชัย ทำงานอยู่ใน DSI ถือว่าเข้าถึงข้อมูลวงในได้ระดับที่น่าเชื่อถือได้ และมีความเป็นไปได้สูง ขณะที่เจ้าหน้าที่ตำรวจได้ออกมาปฏิเสธข้อมูลดังกล่าวของนายพิสิฐชัย

ปฏิบัติการจับกุมพระผู้ใหญ่ กับการปูดข่าวใหญ่ของนายพิสิฐชัย ยิ่งทำให้สถานการณ์ความเคลื่อนไหวในสายที่สนับสนุนเสียงข้างมากในมหาเถรสมาคม ในนามกลุ่มหรือเครือข่ายองค์กรชาวพุทธอื่น ๆ เคลื่อนไหวในมุมกว้างขึ้น พุ่งเป้าไปที่ผู้อำนวยการสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ และรัฐบาล ตามมาสุดท้ายคือคสช.

คำอธิบายของกลุ่มเคลื่อนไหว คือ รัฐกำลังใช้อำนาจรังแกศาสนจักรอย่างเลือกปฏิบัติ และปราศจากความยุติธรรม ถึงขั้นที่ว่า มีข้อเสนอให้ระดมสรรพกำลังสร้าง “ม็อบพระ” ในปลายเดือนนี้ที่พุทธมณฑล ถึงขั้นที่รัฐบาลต้องออกมาปรามกลุ่มที่นำเสนอแนวทางหลังสุดนี้

ความน่าสนใจของสถานการณ์นี้ ในฐานะของคนที่อยู่ “เสมอนอก” และมีความรู้น้อยเกี่ยวกับวงการสงฆ์ไทยกับอำนาจรัฐ อยู่ที่รู้สึกสะดุดกึก ตรงที่สถานการณ์และเหตุผลเบื้องหลังความขัดแย้ง เริ่มมีเค้าคล้ายคลึงกับกรณีพระมหายานเวียดนามใต้เผาตัวกลางกรุงไซ่ง่อนเมื่อ 55 ปีก่อนมาก

หากไม่มีการบริหารจัดการที่ดี ผลพวงของสถานการณ์อาจจะเลวร้ายเท่าหรือมากกว่าได้ ดังที่คำกล่าวเก่าแก่ของ คาร์ล มาร์กซ ระบุไว้ในบทความเรื่อง The Eighteenth Brumaire of Louis Napoleon (Der 18te Brumaire des Louis Napoleon) ใน ค.ศ. 1852 ว่า “ประวัติศาสตร์ซ้ำรอยตัวเองเสมอ โดยครั้งแรกเป็นโศกนาฏกรรม แต่ครั้งที่สองเป็นตลกร้าย”

กรณีเผาตัวเองของพระมหายานเวียดนามใต้ เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 11 มิถุนายน 1963 (พ.ศ. 2506) ในช่วงการประท้วงครั้งนี้มีพระสงฆ์กว่า 300 คนที่เข้าร่วมการชุมนุมประท้วงรัฐบาลเวียดนามใต้ ของประธานาธิบดีโง ดินห์ เดียม (Ngo Dinh Diem-โง ดิ่ง เสี่ยม) มาจากการเลือกปฏิบัติและการกดขี่ทางศาสนาของรัฐบาลเวียดนามใต้

รากเหง้าของปัญหา เกิดจากของประธานาธิบดีโง ซึ่งเป็นคาทอลิก และเป็นรัฐบาลหุ่นเชิดของสหรัฐฯ ได้ออกคำสั่งโดยในเดือนพฤษภาคม ห้ามชาวพุทธประดับธงพุทธศาสนาดังที่เคยปฏิบัติเนื่องในวันวิสาขบูชา ทำให้ชาวพุทธส่วนหนึ่งชุมนุมประท้วง แต่ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจกราดยิงจนเป็นเหตุให้ผู้ชุมนุมเสียชีวิตไป 9 ราย ความตึงเครียดทางศาสนาจึงทวีความรุนแรงมาก ข้อกล่าวหาดูสมจริง เพราะบรรพบุรุษของประธานาธิบดีโง ได้เปลี่ยนมานับถือศาสนาคาทอลิก เขาจึงเลือกนักการเมืองที่นับถือศาสนาเหมือนตนมาร่วมรัฐบาลแล้วออกกฎหมายระรานศาสนาพุทธ ทั้งที่ประชากรที่นับถือพุทธอยู่ในขณะนั้นมีอยู่ถึง 70% แต่คาทอลิกมีอยู่แค่ 10%

ครั้งนั้น สื่อของรัฐบาลโงสื่อในเวียดนามใต้ ได้นำเสนอท่าทีของรัฐบาล ร่วมกันกล่าวหาว่า ชาวพุทธส่วนใหญ่ที่ถูกยิงล้วนมีสายสัมพันธ์กับคอมมิวนิสต์ และการจับกุมชาวพุทธที่เป็นอันตรายต่อความมั่นคงของชาติย่อมไม่ถือเป็นการเลือกปฏิบัติ

ในการชุมนุมประท้วงเดือนมิถุนายน กลุ่มผู้ประท้วงจึงได้ยื่นข้อเรียกร้อง 5 ข้อไปยังรัฐบาลโง ประกอบด้วย 1). ชดเชยค่าเสียหายให้กับครอบครัวผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์ประท้วงในวันที่ 8 พฤษภาคม 2). เจ้าหน้าที่จะต้องไม่เข้ามาแทรกแซงกิจการทางศาสนาของชาวพุทธ และให้สิทธิแก่นักบวชพุทธเท่าเทียมกับนักบวชคริสต์ 3). การจับกุม และการปฏิบัติต่อชาวพุทธจะต้องยุติโดยทันที และต้องปล่อยตัวผู้ที่ถูกจับกุมอยู่โดยเร็ว 4). ชาวพุทธมีสิทธิที่จะขึ้นธงศาสนาตามวาระอันเหมาะสม หากมีการขึ้นธงชาติไว้พร้อมกัน 5). สภานิติบัญญัติแห่งชาติต้องทบทวนกฎหมายบางฉบับที่เข้าข่ายเลือกปฏิบัติทางศาสนา

ข้อเสนอของการชุมนุม ได้รับการวางเฉยและกล่าวหาเพิ่มเติมว่าเป็นฝีมือคอมมิวนิสต์ ทำให้เมื่อถึงเวลาพระสงฆ์ที่ร่วมการประท้วง ได้พากันเดินขบวนไปบนท้องถนน และหยุดลงที่สี่แยกอันพลุกพล่านของนครไซง่อน แล้วพระสงฆ์รูปหนึ่ง ติ๊ก กวง ดึ๊ก (Thích Quang Duc) ได้ทำการนั่งลงให้ภิกษุอีกรายราดน้ำมันจนท่วมร่างกาย จากนั้นก็ใช้ไม้ขีดจุดไฟเผาตัวเองอย่างไม่ทุกข์ร้อนจากการถูกเพลิงไหม้จนเสียชีวิต

หลังจากเหตุการณ์ของพระติ๊ก เหตุการณ์ลุกลามต่อไป ได้มีพระอีก 5 ท่าน ทำแบบเดียวกันเพื่อประท้วง จนควบคุมสถานการณ์ยากขึ้น

ด้านสหรัฐฯ ซึ่งเคยเป็นสปอนเซอร์หลักของโง เมื่อได้เห็นความรุนแรงขยายตัวหนักขึ้น ก็ออกมาเรียกร้องให้รัฐบาลเวียดนามใต้ ยุติปัญหาความขัดแย้งทางศาสนาโดยด่วน แต่สถานการณ์ความรุนแรงก็ไม่คลี่คลายลง

สุดท้ายได้เกิดการรัฐประหารขึ้นในเดือนพฤศจิกายนปีเดียวกัน นำโดย นายพลเอก เดือง วัน มินห์ และประธานาธิบดีโง ก็ต้องเสียชีวิตจากเหตุการณ์ดังกล่าวด้วย โดยมีการเปิดเผยภายหลังว่าเกิดจากความพยายาม “ตัดตอน” ของสหรัฐฯ ซึ่งคิดผิด เพราะท้ายสุดก็ยิ่งทำให้สหรัฐฯ ถลำลึกลงสู่กับดัก จนนำไปสู่การพ่ายแพ้ในสงครามเวียดนาม

เหตุการณ์ความขัดแย้งระหว่างอำนาจรัฐไทยกับวงการสงฆ์มหานิกายในปัจจุบัน อาจจะเร็วเกินไปที่จะบอกว่ามีสภาพบานปลายเหมือนกรณีพระสงฆ์เวียดนามใต้ เมื่อ 55 ปีก่อน แต่อย่าคิดเอาเองง่าย ๆ ว่า ไม่อาจจะเป็นไปได้ และกรณีของสงฆ์ไทย ไม่เหมือนสงฆ์เวียดนามใต้

ประวัติศาสตร์ที่เป็นทั้งโศกนาฏกรรมและตลกร้าย ล้วนไม่มีใครปรารถนาทั้งนั้น

Back to top button