โอเปก และราคาน้ำมัน (อีกครั้ง)

ราคาน้ำมันดิบมาตรฐานโลก WTI ยังคงมีทิศทางซึมลงใต้ 46 ดอลลาร์สหรัฐ ในลักษณะไซด์เวย์ดาวน์ ระหว่างที่รอผลการประชุมกลางปีในสัปดาห์หน้าของกลุ่มโอเปก คาร์เทลน้ำมันใหญ่สุดของโลก


พลวัตปี 2018 : วิษณุ โชลิตกุล

ราคาน้ำมันดิบมาตรฐานโลก WTI ยังคงมีทิศทางซึมลงใต้ 46 ดอลลาร์สหรัฐ ในลักษณะไซด์เวย์ดาวน์ ระหว่างที่รอผลการประชุมกลางปีในสัปดาห์หน้าของกลุ่มโอเปก คาร์เทลน้ำมันใหญ่สุดของโลก

สัญญาน้ำมันดิบ WTI และเบรนต์ดิ่งลงตลอดสัปดาห์ที่ผ่านมาถึงระดับต่ำสุดในรอบ  1 เดือน จากแรงกดดันต่อการคาดการณ์ที่ว่า กลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมัน (โอเปก) และประเทศผู้ผลิตนอกกลุ่มโอเปก อาจตัดสินใจเพิ่มกำลังการผลิต ในการประชุมสัปดาห์หน้า

ตลาดค้าน้ำมันล่วงหน้า คาดเดาสัญญาณว่า ซาอุดีอาระเบียซึ่งเป็นสมาชิกรายใหญ่ของกลุ่มโอเปก อาจจะพิจารณาปรับเพิ่มกำลังการผลิต 500,000 บาร์เรล สู่ระดับ 1 ล้านบาร์เรล/วัน ขณะที่รัสเซียอาจพิจารณาเพิ่มการผลิตสูงถึง 1.5 ล้านบาร์เรล/วัน

การคาดการณ์ดังกล่าวมีขึ้นหลังจากนายอเล็กซานเดอร์ โนวัค รมว.พลังงานของรัสเซียได้กล่าวภายหลังการหารือกับนายคาลิด อัล-ฟาลีห์ รมว.พลังงานซาอุดีอาระเบียที่กรุงมอสโก ก่อนการแข่งขันฟุตบอลโลกรอบสุดท้าย เมื่อไม่นานมานี้ว่า รัสเซียและซาอุดีอาระเบียให้การสนับสนุนในหลักการต่อการปรับเพิ่มกำลังการผลิตน้ำมันอย่างค่อยเป็นค่อยไป หลังจากที่ได้มีการจำกัดกำลังการผลิตเป็นเวลา 18 เดือน

ทางเลือกหนึ่งที่เป็นไปได้ ก็คือ การเพิ่มกำลังการผลิต 1.5 ล้านบาร์เรล/วัน โดยเริ่มต้นตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม

ในการประชุมที่กรุงเวียนนาในวันที่ 22-23 มิถุนายนนี้ กลุ่มประเทศโอเปก และผู้ผลิตน้ำมันนอกโอเปกจะทบทวนนโยบายการผลิตน้ำมัน เพราะมีแรงกดดันจากสหรัฐฯ ทั้งในทางการทูต และจากการผลิตน้ำมันที่เพิ่มขึ้นในสหรัฐฯ

ล่าสุด เบเกอร์ ฮิวจ์ ซึ่งเป็นผู้ให้บริการขุดเจาะน้ำมันของสหรัฐฯ รายงานล่าสุดว่า แท่นขุดเจาะน้ำมันในสหรัฐฯ ที่มีการใช้งานสู่ระดับ 863 แท่นในสัปดาห์นี้ ซึ่งเป็นระดับสูงสุดในรอบ 3 ปี นับตั้งแต่เดือนมีนาคม 2558 และเป็นการเพิ่มขึ้นติดต่อกันเป็นสัปดาห์ที่ 4

ราคาน้ำมันดิบจะขาขึ้น หรือขาลง ในทุกวันนี้ หรือในอนาคต จึงดูเสมือนว่าเกี่ยวข้องกับกลไกอุปสงค์-อุปทานของตลาดโดยตรง

ถึงยามนี้ ดูคล้ายกับว่าตลาดกล้ำกลืนความคาดหวังเดิมที่มีข่าวว่า ซาอุดีอาระเบีย ตั้งเป้าหมายว่า ราคาน้ำมันดิบ WTI จะพุ่งขึ้นไปที่แถวเป้าหมาย 80 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล หากสหรัฐฯ คว่ำบาตรทางเศรษฐกิจต่ออิหร่านและเวเนซุเอลา แต่เปลี่ยนมาเล่นกับข่าวเดิมที่ว่า โอเปกมีข้อตกลงลับว่าหากสหรัฐฯ คว่ำบาตรอิหร่านเมื่อใด จะเพิ่มการผลิตน้ำมันมากขึ้นจากข้อตกลงเดิมเมื่อปีก่อน

ประเด็นที่ยังไขปริศนาไม่ออกคือ จนถึงวันนี้สหรัฐฯ ได้ประกาศถอนตัวจากข้อตกลงนิวเคลียร์ที่ทำไว้กับอิหร่านในสมัยบารัค โอบามา ซึ่งเปิดทางให้สหรัฐฯ ใช้มาตรการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจต่ออิหร่านรอบใหม่ ก็ไม่มีสัญญาณหรือวี่แววว่าจะลงมือทำเสียที

ที่ผ่านมา กลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมัน (โอเปก) และประเทศนอกกลุ่มโอเปก นำโดยรัสเซีย มีมติขยายเวลาปรับลดกำลังการผลิตน้ำมัน 1.8 ล้านบาร์เรล/วันจนถึงสิ้นปีนี้เพื่อรักษาเสถียรภาพราคาน้ำมัน แต่มีตัวเลขชัดเจนว่าได้รับความร่วมมือในการปรับลดการผลิตน้ำมันเกินคาด มากกว่า 1.8 ล้านบาร์เรล/วันที่ตกลงกันไว้ ทำให้ราคาพุ่งแรงเกือบทะลุแนวต้าน 70 ดอลลาร์ต่อบาร์เรลช่วงหนึ่ง ก่อนร่วงลงมาที่ระดับ 65 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล

รายงานที่ว่า ซาอุดีอาระเบียและรัสเซียกำลังหารือกันในการเพิ่มกำลังการผลิตน้ำมันราว 1 ล้านบาร์เรล/วัน ค่อนข้างย้อนแย้งกับข้อเท็จจริงที่ว่า ซาอุดีอาระเบียต้องการให้ราคาน้ำมันสูงขึ้นเพื่อหาทางกอบโกยกำไรกลับคืนครั้งใหม่ ไม่ใช่จากราคาน้ำมัน แต่จากราคาหุ้นของ บริษัทน้ำมัน อารามโก ของรัฐบาล ที่กำลังแต่งตัว หวังจะระดมทุนขายหุ้น 5% เพื่อเป้าหมายได้เงินมากกว่า 2 ล้านล้านดอลลาร์

ความย้อนแย้งดังกล่าว ทำให้ทิศทางราคาของน้ำมันดิบโลกยามนี้ เคลื่อนไหวอย่างไม่สมเหตุสมผล สร้างปริศนาว่าการที่ราคาน้ำมันขาลงระลอกใหม่ จะเป็นแค่การพักฐาน หรือลงยาวไปเลย

การปรับพอร์ตเพื่อ “หนีตาย” ของนักลงทุนส่วนบุคคลและสถาบันรายใหญ่ของโลก จึงเป็นการสะท้อนภาวะงุนงงของตลาดทางหนึ่ง

ข่าวร้ายจากตลาดน้ำมัน ตลาดทองคำ และตลาดหุ้นยามนี้ จึงเป็นภาวะภาพรวมที่ส่งผลกระทบไปทั่ว  นักลงทุนที่มีประสบการณ์เท่านั้นจะปรับตัวดีกว่ากลุ่มอื่น ในช่วงเวลาของความอึดอัดของสถานการณ์

Back to top button