IFRS กับ เศรษฐศาสตร์ไหลริน

เมื่อวานนี้ ดัชนี SET ของตลาดหุ้นไทยรีบาวด์ทางเทคนิคแรง หลังจากวันก่อนร่วงหนักจนหลุดแนวรับสุดท้ายลงไป โดยแรงซื้อหลักที่ดันราคาหุ้นให้ดัชนีบวกแรง มาจากหุ้นกลุ่มธนาคารพาณิชย์ และกลุ่มพลังงานเป็นสำคัญ


พลวัตปี 2018 : วิษณุ โชลิตกุล

เมื่อวานนี้ ดัชนี SET ของตลาดหุ้นไทยรีบาวด์ทางเทคนิคแรง หลังจากวันก่อนร่วงหนักจนหลุดแนวรับสุดท้ายลงไป โดยแรงซื้อหลักที่ดันราคาหุ้นให้ดัชนีบวกแรง มาจากหุ้นกลุ่มธนาคารพาณิชย์ และกลุ่มพลังงานเป็นสำคัญ

กลุ่มแรก เล่นรับข่าวดีล่วงหน้าก่อนการประชุมคณะกรรมการกำกับดูแลการประกอบวิชาชีพบัญชี (กกบ.) เพื่อพิจารณาทบทวนกำหนดการบังคับใช้มาตรฐานบัญชี IFRS หรือมาตรฐานบัญชี 9 ในวันนี้ ซึ่งมีข่าวว่ากระทรวงการคลังอาจจะต้องการให้เลื่อนใช้ออกไประหว่างปี 2563-2565

การทบทวน (เพื่อเลื่อนใช้) นี้ เห็นได้ชัดว่ามาจากอิทธิพลและแรงกดดันจากสมาคมธนาคารไทย ที่เสนอผ่านมาทางคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) เป็นมติขอเลื่อนการบังคับใช้มาตรฐานรายงานการเงินฉบับใหม่ หรือ IFRS มาใช้ในประเทศไทยในปี 2562 (หลังจากวันบังคับใช้ของต่างประเทศ 1 ปี) โดยอ้างเหตุผลสั้น ๆ ว่า เนื่องจาก ธนาคารพาณิชย์ไทยมีผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) เป็นลูกค้าจำนวนมาก 30-40% แต่ธนาคารต่างประเทศมี 10% หรือน้อยกว่า 10% เกรงว่าถ้าใช้มาตรฐานบัญชีใหม่จะทำให้ธนาคารพาณิชย์ไทยต้องตั้งสำรองเพิ่มขึ้น (จากการตีความคุณภาพสินเชื่อที่เข้มงวดขึ้น)

ผลเกี่ยวเนื่องตามมาจากการที่ธนาคารพาณิชย์ตั้งสำรองเพิ่มขึ้น คือผลักภาระต้นทุนไปที่ลูกค้ารับแทน ด้วยการคิดอัตราดอกเบี้ยลูกค้าเอสเอ็มอีสูงขึ้นในขณะที่อัตราดอกเบี้ยเงินกู้รายใหญ่ต่ำกว่า ยิ่งทำให้ความแตกต่างสูงขึ้นไปอีก ความเหลื่อมล้ำก็มีมากขึ้น หรืออาจไม่ปล่อยกู้ให้แก่เอสเอ็มอีได้เลย

เหตุผลแบบ “สีข้างเข้าถู (แกมขู่)” นี้ รัฐมนตรีคลัง นายอภิศักดิ์ อดีตนายธนาคารพาณิชย์เก่า ถึงกับลนลานออกมาแบไต๋ส่งสัญญาณเลื่อนใช้ว่า กรณี IFRS ไม่ได้เป็นการบังคับว่าประเทศไทยต้องใช้เหมือนกับต่างประเทศทั้งหมด เพราะว่า IFRS 9 เป็นแค่กรอบกว้าง ๆ เช่น การทำให้เป็นราคาปัจจุบันหรือให้สำรองความเสี่ยง แต่กระบวนการที่ดำเนินการ หากไปเอากติกาของต่างประเทศมา ถ้าคิดว่าทำไม่ได้ ไทยก็น่าจะออกระเบียบของไทยเอง

น่าเสียดาย แรงซื้อเก็งกำไรข่าวดีรับผลประชุม กกบ. ต้องเกิดการ “หงายเงิ ขึ้นมาเพราะกกบ.ได้เลื่อนการประชุมไปเป็นช่วง 15-17 ก.ค. 2561 เนื่องจากปลัดกระทรวงพาณิชย์ติดภารกิจในสัปดาห์นี้ ขณะที่นายจักรกฤศฏิ์ พาราพันธกุล นายก กกบ. ติดภารกิจในสัปดาห์หน้า

แม้ กกบ.จะเลื่อนการประชุมออกไป แต่ก็มีความชัดเจนว่าเป็นแค่เหตุขัดข้องทางเทคนิคเท่านั้น ท้ายที่สุด การบังคับใช้ IFRS ก็คงเลื่อนออกไป ด้วยข้ออ้างที่ไม่สมเหตุสมผล อย่างน้อยก็ยอมรับว่า มาตรฐานทางบัญชีของภาคธุรกิจหรือผู้ประกอบการไทยนั้น ต่ำชั้นกว่ามาตรฐานโลก ซึ่งไม่ใช่เรื่องน่ายินดีนัก

ข้อเท็จจริงที่ไม่มีใครยอมพูด (รวมทั้งสื่อใหญ่ที่ชอบอ้างตัวเป็นกระบอกเสียงประชาชน) คือการใช้มาตรฐาน IFRS จะทำให้ธนาคารพาณิชย์มีกำไรสุทธิลดลง จากความจำเป็นต้องตั้งสำรองเพราะการตีความสินเชื่อลูกค้าที่เข้มงวดขึ้น

เหตุผลเรื่องความเดือดร้อนของ SMEs นั้นเป็นแค่ข้ออ้างเท่านั้น เพราะไม่ว่าอย่างไร SMEs ล้วนแล้วแต่เป็นเบี้ยล่างของธนาคารเสมอ ๆ ไม่มีเป็นอื่น

หากประมวลเจาะลึก เหตุผลที่ผู้บริหารธนาคารหรือแบงก์พาณิชย์ไทยที่แย้มถึงการต่อต้าน IFRS นั้น ค่อนข้างต่างจากข้ออ้างของสมาคมธนาคารไทย และ กกร. พอสมควร ซึ่งเท่าที่ประมวลได้มีดังนี้

* IFRS ทำให้ธนาคารต้องปรับตัวหลายด้าน โดยเฉพาะการตั้งสำรองจากการปล่อยสินเชื่อในกลุ่มลูกหนี้จัดชั้นกล่าวถึงเป็นพิเศษ หรือ SM ที่เกณฑ์ใหม่กำหนดให้ต้องมีการสำรองส่วนเผื่อเต็ม 100% หากแบงก์มองเห็นว่าลูกหนี้สถานะเปลี่ยนไป เช่น เรตติ้งลดลง หรือมีแนวโน้มผิดนัดชำระหนี้ ต่างจากมาตรฐานบัญชีปัจจุบัน หรือ IAS39 ที่กำหนดให้ตั้งสำรองในกลุ่ม SM เพียง 2% ของมูลค่าสินเชื่อที่ปล่อยไปเท่านั้น

* เกณฑ์ใหม่ ทำให้ธนาคารต้องปรับวิธีการรับรู้รายได้จากดอกเบี้ย (interest income) และการคิดรายได้จากค่าธรรมเนียม (front-end-fee) ยกตัวอย่างเช่น การปล่อยสินเชื่อบ้าน ที่กำหนดให้ธนาคารต้องเฉลี่ยการรับรู้รายได้จากการปล่อยสินเชื่อให้เท่ากันทุกปีตลอดอายุสัญญา ต่างจากเกณฑ์เดิมที่ธนาคารรับรู้รายได้จากดอกเบี้ยตามจริง 

* รูปแบบการจ่ายภาษี ตามเกณฑ์ใหม่ต้องให้รับรู้รายได้เลย ดังนั้นการจ่ายภาษีก็ต้องเกิดขึ้น แต่จนถึงเวลานี้ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ยังไม่ได้กำหนดเกณฑ์และให้ความชัดเจนออกมา

ข้อกังวลดังกล่าวสะท้อนปัญหาของธนาคารพาณิชย์เองล้วน ๆ ไม่ได้เกี่ยวข้องอะไรเลยกับข้ออ้างเรื่องจะทำให้ SMEs เดือดร้อนแต่อย่างใดเลย ก็ยังอ้างกันมาหาความชอบธรรมจนได้ ทั้งที่อีกด้านหนึ่งก็ยอมรับว่า ธนาคารพาณิชย์มีความพร้อมเต็มที่ เพราะเตรียมการมากว่า 2 ปี 

คำถาม ก็คือ ข้ออ้างเพื่อโอบอุ้มให้ธนาคารพาณิชย์ไทย หรือทุนธนาคาร สามารถรักษามาตรฐานในการทำกำไรเท่าเดิมหรือมากกว่าเดิม บนฐานรากของมาตรฐานทางบัญชีที่ต่ำกว่าชาวโลก ไม่เข้าท่านัก เพราะเป็นการใช้นโยบายรัฐที่สร้างความเหลื่อมล้ำมากขึ้นแบบรวยกระจุก จนกระจายไม่จบสิ้น ตามแนวทาง “อุ้มคนรวย (แต่อ้างว่า) ช่วยคนจน” หรือที่เรียกกันว่าเศรษฐศาสตร์ไหลริน (Trickle-down Effect)

คำนี้ ไม่ได้คิดขึ้นมาโดยนักเศรษฐศาสตร์ แต่ประดิษฐ์จากตัวตลกทางโทรทัศน์แล้วใช้กันทั่วไป โดยการยอมรับสภาพความไม่เท่าเทียมกันทางชนชั้นในสังคมว่าเป็นเรื่องปกติ โดยที่รัฐซึ่งเกื้อหนุนกับกลุ่มนายทุนใหญ่บนสุดของสังคมจะพร่ำบอกว่า เมื่อคนรวยแล้ว จะเกิดการผันทรัพยากรไปสู่คนจนเป็นทอด ๆ ต่อไป

แนวคิดดังกล่าว เชื่อว่าการกระจายรายได้จะต้องขึ้นอยู่กับ และตามหลังความเติบโตทางเศรษฐกิจ โดยการไหลรินของผลประโยชน์ จากนายทุนใหญ่ไปสู่นายทุนย่อย และสู่คนยากคนจน จากเมืองสู่ชนบท ถือเป็นเศรษฐศาสตร์ที่เน้นด้านอุปทานขับเคลื่อนโดยอัดฉีดเงินลงทุนและลดภาษีคนรวยหรือบริษัทขนาดใหญ่เพื่อให้เกิดการจ้างงาน

สหรัฐฯ ในยุคโรนัลด์ เรแกน ใช้นโยบายนี้ซึ่งได้ผลในระยะสั้น แต่สร้างปัญหาในระยะยาวจนกระทั่งต้องหาทางบีบบังคับให้ญี่ปุ่นต้องทำข้อตกลง พลาซ่า เพื่อให้เงินเยนแข็งค่าขึ้นในเวลาต่อมา

ประเทศไทยก็มีแนวคิดนี้มาโดยตลอดเช่นเดียวกันในเกือบทุกรัฐบาลที่เน้นพัฒนาเศรษฐกิจ ให้เจ้าของทุนทั้งจากนอกประเทศ ในประเทศ เพื่อสร้างงาน สร้างรายได้แก่ประชาชน แต่ผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นจริงก็คือผลกำไรและรายได้ส่วนใหญ่ตกกับนายทุนและนักการเมือง จนปัจจุบันประเทศไทยมีการกระจายรายได้ในระดับค่อนข้างต่ำ โดยได้คะแนนการพัฒนาคนในลำดับต่ำกว่าที่ 100 ของโลก และมีคะแนนการกระจายรายได้ตามค่าสัมประสิทธิ์ความไม่เสมอภาค (Gini coefficient) = 0.536 ซึ่งมีความเหลื่อมล้ำมากที่ในสุดในภูมิภาคอาเซียน

กรณีเลื่อนใช้ IFRS จึงเป็นตัวอย่างเล็ก ๆ เท่านั้น ผลลัพธ์ที่ได้เห็นในระยะสั้นคือ ราคาหุ้นแบงก์กลับมาเริงร่าอีก แต่จะยั่งยืนแค่ไหน ยังไม่มีคำตอบในสายลม

Back to top button