ต่างชาติจะหยุดขาย??

คำถามยามตลาดหุ้นไทยเป็นขาลงทุกรอบ มักจะมีแบบแผนซ้ำซาก เช่น 1) ใครทุบ ทุบทำไม 2) เมื่อไรต่างชาติหรือกองทุนจะหยุดขาย 3) ดัชนีจะลงลึกแค่ไหน 4) แนวรับสำคัญสุดที่จะเข้าช้อนซื้ออยู่ตรงไหน


พลวัตปี 2018 : วิษณุ โชลิตกุล

คำถามยามตลาดหุ้นไทยเป็นขาลงทุกรอบ มักจะมีแบบแผนซ้ำซาก เช่น 1) ใครทุบ ทุบทำไม 2) เมื่อไรต่างชาติหรือกองทุนจะหยุดขาย 3) ดัชนีจะลงลึกแค่ไหน 4) แนวรับสำคัญสุดที่จะเข้าช้อนซื้ออยู่ตรงไหน

บังเอิญขาลงรอบนี้ ผู้ร้ายตัวจริงเสียงจริงดันเป็นฟันด์โฟลว์ต่างชาติเสียด้วย คำถามก็เลยออกมาว่า 1) ทำไมต่างชาติขาย 2) ต่างชาติมีเหลือจะขายอีกเท่าใด 3) ต่างชาติจะหยุดขายเมื่อใด

3 คำตอบข้างต้น มีคนพยายามตอบ แต่ว่าคำตอบก็ยังมีการ “แทงกั๊ก” ว่าเป็นการคาดเดา ไม่มีข้อมูลชัดเจน

คำตอบของคำถามแรกนั้น มักจะมีคำถามตามมาด้วยเสมอว่า ทำไมต่างชาติทิ้งตลาดหุ้นไทยที่ดูดีจากบริษัทจดทะเบียนแข็งแกร่ง มีเศรษฐกิจที่ดีขึ้นชัดเจนทั้งตัวเลขส่งออก ตัวเลขดุลการค้า ตัวเลขการท่องเที่ยว และตัวเลขการลงทุนภาครัฐ ฯลฯ เสมือนหนึ่งว่าต่างชาตินั้นงี่เง่าเสียเต็มประดา

ข้ออ้างว่า ภาวะเศรษฐกิจไทยก็เริ่มดูดีขึ้น ผลประกอบการบริษัทจดทะเบียนก็ยังมีแนวโน้มที่ดี ราคาหุ้นโดยรวมก็ไม่ถือว่าแพง เป็นเหตุผลที่มองไทยเป็นจุดศูนย์กลางโลก โดยไม่ดูข้อเท็จจริงว่าในช่วงที่ผ่านมานั้น การเข้ามาของฟันด์โฟลว์ต่างชาติโดยเฉพาะตั้งแต่กลางเดือนสิงหาคมปีที่ผ่านมาจนดัชนี SET พุ่งจากใต้ 1,600 จุด ขึ้นไปกว่า 1,850 จุด ไม่ได้มองปัจจัยดังกล่าวมากนัก แต่เกิดจากอัตราดอกเบี้ยของไทยในตลาดเงินสูงกว่าอัตราดอกเบี้ยในตลาดโลก

ถ้าหากปีที่ผ่านมาเศรษฐกิจแย่ หุ้นดี มีความสมเหตุสมผล ปีนี้การที่เศรษฐกิจดี แต่หุ้นแย่ ก็น่าจะมีความสมเหตุสมผลได้เช่นกัน 

ปีนี้ ต่างชาติขายหุ้นในตลาดไทยไปมากกว่า 171,000 ล้านบาท คิดเป็นเกือบ 5% ของมูลค่าหุ้นทั้งหมดที่ถือโดยต่างชาติ โดยเริ่มขายหนักมาตั้งแต่เดือนมีนาคมต่อเนื่อง เทียบกับปี 2558 ที่ต่างชาติขายสุทธิตลอดปี 200,000 ล้านบาท ถือว่าค่อนข้างสูงมาก

คำถามถัดไปคือ ต่างชาติเอาหุ้นที่ไหนมาขาย เพราะถ้าดูจากยอดซื้อสะสมของต่างชาติระหว่างปี 2552-2557 ซึ่งเป็นช่วงที่เงินไหลเข้าตลาดเกิดใหม่มากที่สุด ก็เข้ามาแค่ 191,000 ล้านบาท แต่ทำไมขาออก ถึงออกไปมากมายกว่าหลายเท่า หรือแม้แต่ในช่วงที่เกิดวิกฤตเศรษฐกิจโลกที่เรียกว่าวิกฤตแฮมเบอร์เกอร์ เงินยังไหลออกแค่ 162,000 ล้านบาท

นักลงทุนที่ละเอียดรอบคอบกลุ่มหนึ่งยกข้อมูลมานำเสนอเพื่อให้รอบด้านมากขึ้นว่า ตัวเลขการขายสุทธิของต่างชาติที่เห็นกันทุกวันตอนปิดตลาดนั้น น่าจะเป็นภาพลวงตามากกว่าเพราะข้อเท็จจริงนับแต่กลางปี 2560 เป็นต้นมา มูลค่าการซื้อขายรวมของตลาดหุ้นไทย จากกราฟจะเห็นว่ามูลค่าการซื้อขายของตลาดหุ้นไทยมีแนวโน้มที่สูงขึ้น โดยเฉพาะในช่วง 1 ปีหลังสุด มีมูลค่าการซื้อขายเฉลี่ยสูงถึง 6.5 หมื่นล้านบาทต่อวัน ซึ่งข้อมูลนี้คงเป็นเรื่องที่น่ายินดีสำหรับธุรกิจหลักทรัพย์ ที่แนวโน้มของการซื้อ-ขายหุ้นมีมูลค่าที่สูงขึ้นเรื่อย ๆ แสดงให้เห็นว่าตลาดหุ้นไทยนั้นมีการเติบโตที่ค่อนข้างเสถียรและถือเป็นผลงานที่ดีของทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง แต่ข้อมูลเชิงลึกพบว่า ปริมาณการซื้อของ 2 กลุ่ม คือพอร์ตโบรกเกอร์ (พร็อพฯ เทรด) และต่างชาติมีลักษณะการเคลื่อนไหวที่เติบโตและมีอิทธิพลครอบงำตลาดมากขึ้นในลักษณะเร่งตัว

สัดส่วนมูลค่าซื้อและขายของต่างชาติที่เพิ่มในอัตราที่สูงกว่ากลุ่มอื่น ๆ ทำให้ไม่น่าแปลกใจที่ตัวเลขขายหรือซื้อสุทธิของต่างชาติเพิ่มขึ้น จนเกิดคำถามย้อนแย้งว่า กลุ่มตลาดคาดการณ์ว่าขายทิ้งและออกจากตลาดหุ้นไทยกลับมีการซื้อ-ขายภายในวันที่เพิ่มขึ้นสูงมากกว่ากลุ่มอื่น ๆ ได้อย่างไร

ในช่วงครึ่งแรกปีนี้ สัดส่วนการลงทุนในระหว่างวันของนักลงทุนต่างประเทศมีการซื้อรวมกันต่อวันสูงถึง 35% ของมูลค่าซื้อขายทั้งหมด ในขณะที่การขายก็มีสัดส่วนเป็น 37% หมายความว่าในปัจจุบันนี้บัญชีต่างประเทศเป็นผู้เล่นที่มีอิทธิพลที่สุดเมื่อเทียบกับทั้ง 3 กลุ่มที่เหลือรวมกัน

ข้อมูลข้างต้น จึงไม่แปลกที่แรงเหวี่ยงในการเข้าและออกจากตลาดของฟันด์โฟลว์จะส่งผลรุนแรงต่อตลาดหุ้นไทยมากกว่าระดับปกติ

ว่ากันไปแล้ว ไม่ใช่เรื่องแปลกใหม่ สัญญาณการขายของต่างชาติ มีเป้าหมายเพราะบริษัทแม่ในต่างประเทศต้องการขายเพื่อลดน้ำหนักการลงทุนในตลาดหุ้นเกิดใหม่ทั้งหมด เนื่องจากทิศทางดอกเบี้ยขาขึ้นที่เริ่มสูงกว่าดอกเบี้ยในไทย มากกว่าที่จะเป็นการขายเพราะปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับภายในของประเทศไทย และเนื่องจากในระยะหลัง มีการออกกองทุนประเภท ETF หรือ Index Funds จำนวนมาก ทำให้เวลามีการลดน้ำหนักการลงทุน จะเกิดแรงเทขายที่ค่อนข้างรุนแรงและรวดเร็ว เพราะกองทุนประเภทนี้สามารถปรับพอร์ตได้ทันที โดยไม่ต้องคำนึงถึงราคาหุ้น

ข้อกล่าวหาที่มุ่งไปที่ต่างชาติ หรือ AI หรือ โรบอท ให้เป็นผู้ร้าย จึงไม่ใช่คำตอบที่ตรงประเด็นและไม่สามารถค้นหาว่า ต่างชาติยังจะขายหุ้นไทยออกมาอีกหรือไม่ เพราะมีตัวเลขยืนยันว่า นอกเหนือจากฟันด์โฟลว์ที่เก็งกำไรระยะสั้น ๆ ในแต่ละปีแล้ว ตัวเลขการถือครองระยะยาวของต่างชาติในบริษัทจดทะเบียนไทยจำนวนเกือบ 4.6 ล้านล้านบาท ยังไม่มีท่าทีจะถอนตัวไปไหน

ความกลัวต่างชาติหรือฟันด์โฟลว์จะไหลออกแล้วไม่กลับมา จึงเป็นอารมณ์ความรู้สึก แม้จะเป็นข้อเท็จจริงบางส่วน ก็ไม่น่าจะตื่นตระหนก

หากจะคิดเสียว่า เงินไปเที่ยว เดี๋ยวก็กลับมา ก็น่าจะประโลมใจได้บ้าง ในยามที่ทำอะไรไม่ได้ และคิดอะไรก็ไม่ออก

Back to top button