IPO บุรีรัมย์ ยูไนเต็ด

วันหยุดสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา


ลูบคมตลาดทุน : ธนะชัย ณ นคร

วันหยุดสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา

ธนาคารธนชาต (TBANK) พาสื่อมวลชนไปเยี่ยมชม Chang Arena–Burirum United สนามฟุตบอลเหย้าของสโมสร บุรีรัมย์ ยูไนเต็ด และ ช้าง อินเตอร์เนชั่นแนล เซอร์กิต สนามแข่งรถมาตรฐานระดับโลก

แน่นอนว่าได้มีโอกาสพบกับ “เนวิน ชิดชอบ” ประธานสโมสรบุรีรัมย์ฯ

เดิมนั้นคุณเนวินต้องการเล่าที่มา และสิ่งที่จะทำต่อไปในอนาคตว่ามีอะไรบ้าง

แต่เมื่อมีการคุยเรื่องแผนเข้าตลาดหลักทรัพย์ฯ ก็เลยทำให้มีคำถามเกี่ยวกับเรื่องนี้มากเป็นพิเศษ

“เนวิน” บอกว่าหากไม่มีอะไรผิดพลาด

ราว ๆ ไตรมาส 2/62 “บุรีรัมย์ ยูไนเต็ด” สโมสรฟุตบอลชื่อดังของประเทศไทยและเอเชีย จะยื่นแบบไฟลิ่งต่อสำนักงาน ก.ล.ต. เพื่อเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ เอ็ม เอ ไอ (mai)

บุรีรัมย์ฯ เตรียมเรื่องนี้มา 2-3 ปีแล้ว

และได้ให้ บล.ฟินันเซีย ไซรัส เป็นที่ปรึกษาทางการเงิน (FA)

มี บริษัท อีวาย จำกัด เป็นผู้สอบบัญชี

บุรีรัมย์จะใช้ชื่อในการเข้าตลาดหุ้นว่า บริษัท บุรีรัมย์ ยูไนเต็ด จำกัด โดยอยู่ระหว่างการแปรสภาพเป็นบริษัทมหาชน

ปัจจุบัน มีทุนจดทะเบียนอยู่  200 ล้านบาท

และจะเพิ่มอีก 100 ล้านบาท

ในปี 2560 บุรีรัมย์ มีรายได้กว่า 900 ล้านบาท

ในจำนวนนี้กว่า 400 ล้านบาท เป็นรายได้ที่มาจากการ “ขายเสื้อ” (และของที่ระลึก)

เงินจากสปอนเซอร์ต่าง ๆ อีก 200 ล้านบาท

และที่เหลือมาจากค่าผ่านประตูเข้าชมการแข่งขันฟุตบอล รายได้จากจากการจัดอีเว้นท์ต่าง ๆ และค่าเช่าสนามเพื่อทำกิจกรรม

เชื่อไหม ในปี 2560 สโมสรบุรีรัมย์ฯ ขายเสื้อได้ถึง 7 แสนตัว

60-70% เป็นแฟนฟุตบอลบุรีรัมย์ฯ ที่อยู่ในพื้นที่

และอีก 30-40% เป็นแฟนบุรีรัมย์ที่อยู่ต่างพื้นที่ หรือทั่วประเทศไทย และประเทศในอาเซียน

เนวิน บอกว่า เสื้อของของสโมสรบุรีรัมย์ฯ ถูกออกแบบมาไม่ได้ให้ใช้ได้เฉพาะมาชมการแข่งขันในสนามเท่านั้น

แต่ยังใส่ในทุกโอกาส หรือเหมือนกับเสื้อทีมฟุตบอลดัง ๆ ของสโมสรต่างประเทศ

สนามเหล่าของสโมรสรบุรีรัมย์ฯ ก็ไม่ได้ถูกออกแบบมาเพื่อใช้แข่งขันฟุตบอลเท่านั้น

ทว่า ยังเป็นแหล่งท่องเที่ยวสำคัญของจังหวัดด้วย

“คนที่เดินทางมาบุรีรัมย์ ต้องมาเช็คอินที่สนามฟุตบอลแห่งนี้” เนวิน บอกครับ

บริเวณ Chang Arena – Burirum Unite เท่าที่เดินสำรวจดู พบว่า มีร้านขายของที่ถูกจัดไว้เป็นสัดส่วน และยังมี “คอมมูนิตี้ มอลล์”(Community Mall) มีร้านอาหารชื่อดังต่าง ๆ เข้ามาเปิดอยู่จำนวนมาก

สนามฟุตบอล เปิดให้ชมทุกวันและฟรี

ยกเว้นวันที่มีการแข่งขัน ที่จะมีการจัดเก็บค่าผ่านประตู

วันที่ผมเดินทางไป เป็นการแข่งขัน Big Match ระหว่าง บุรีรัมย์ฯ กับ แบงก์ค็อก ยูไนเต็ด

บริเวณหน้าสนามก่อนการแข่งขัน มีคนเตรียมเข้าชมจำนวนมาก

มีทั้งเดินทางมากันเป็นครอบครัว ปูผ้าปูเสื่อนั่งล้อมวงทานข้าว รวมถึงนั่งตามร้านอาหารกันจำนวนมาก (ก่อนแข่งขัน)

สนามฟุตบอลแห่งนี้ จุผู้ชมได้ถึง 32,600 คน และถือเป็นสนามระดับ World standard หรือที่ดีที่สุดใหญ่ที่สุดของเอเชีย

ในปี 2560 มีคนเข้าชมการแข่งขันฟุตบอลเฉลี่ย 2 หมื่นคน

ส่วนปี 2561 ผ่านมาถึงปีแรก ลดลงมาเหลือ 1.4 – 1.6 หมื่นคน

เนวิน บอกว่า คนไม่ได้สนใจฟุตบอลลดลง แต่พวกเขาหันไปดูการถ่ายทอดสดผ่านช่องทางออนไลน์กันมากขึ้น และตรงจุดนี้ก็คือ “มูลค่า” อย่างหนึ่งของสโมสรบุรีรัมย์ฯ ที่จะใช้ในการนำเข้าตลาดหุ้นด้วย

เนวินบอกว่า สินทรัพย์สำคัญของบุรีรัมย์ ยูไนเต็ด ก็คือ “แบรนด์”

Back to top button