เปิดโผ 10 หุ้น SET ราคาพุ่งสวนภาวะตลาดฯ โชว์ครึ่งปีแรกโกยรีเทิร์นเกิน30%

เปิดโผ 10 หุ้น SET ราคาพุ่งสวนภาวะตลาดฯ โชว์ครึ่งปีแรกโกยรีเทิร์นเกิน 30% นำโดย EMC,KTC,NPP, AEONTS,AKR,LRH,PTTEP,TGPRO,TRITN,GLAND


ข่าวหุ้นธุรกิจออนไลน์ ได้ทำการสำรวจราคาหุ้นของบริษัทจดทะเบียน (บจ.)กลุ่ม SET ในรอบ 6 เดือนหรือครึ่งปีแรก 2561 โดยเทียบราคาหุ้นปิด ณ วันที่ 29 ธ.ค.60-29 มิ.ย.61 และคัดเลือกราคาหุ้นที่ปรับตัวสวนดัชนีตลาดหลักทรัพย์ปรับตัวลง 9.02% โดยเทียบจากดัชนียืนอยู่ที่ระดับ 1753.71 จุด (29 ธ.ค.60) มาอยู่ที่ระดับ 1595.58 จุด ( 29 มิ.ย.61) ลบไป 153.13 จุด

ทั้งนี้จะพบว่าดัชนี SET ในช่วง 6 เดือนที่ผ่านมาอ่อนตัวลงแรงและต่อเนื่อง โดยเฉพาะในช่วงเดือนเม.ย.-พ.ค.จะเห็นว่าดัชนีอ่อนตัวหลุดจากระดับ 1800 จุด และในช่วงเดือนมิ.ย.61 ดัชนีอ่อนตัวไม่หยุด และหลุดแนวรับทั้ง 1700 จุด และ 1600 จุด เนื่องจากนักลงทุนต่างชาติเทขายหุ้นอย่างต่อเนื่อง และเมื่อนับตั้งแต่วันที่ 1ม.ค.-4 ก.ค.61 นักลงทุนต่างชาติได้ขายสุทธิไปแล้ว 190,603 ล้านบาท อีกทั้ง Fund Flow ต่างชาติยังคงไหลออกอย่างต่อเนื่อง

อย่างไรก็ตามยังมีประเด็นการเมืองที่ชัดเจนจากแผนการจัดการเลือกตั้งต้นปี 62 ซึ่งคาดว่าเป็นไปตามโรดแมพที่วางไว้ ขณะเดียวกันกลุ่มหุ้นขนาดใหญ่มีการปรับฐานลงมาแรงจนมี Valuation อยู่ในระดับที่น่าสนใจประกอบกับแรงซื้อเก็งกำไรผลประกอบการไตรมาส 2/2561ออกมาสดใส และคาดจะมีการจ่ายเงินปันผลระหว่างกาลในระดับที่เหมาะสมตรงนี้น่าจะทำให้แรงเทขายนักลงทุนชะลอตัวและทำให้ดัชนีฟื้นตัวได้อีกครั้ง

สำหรับราคาหุ้น SET ในรอบ 6 เดือนที่ปรับตัวสวนภาวะตลาดฯติดลบ และปรับตัวขึ้นได้อย่างโดดเด่นได้คัดเลือกมานำเสนอ 10 ตัว เนื่องจากหุ้นจำนวนดังกล่าวให้ผลตอบแทนเกิน 30% นำโดย EMC,KTC,NPP, AEONTS,AKR,LRH,PTTEP,TGPRO,TRITN,GLAND

ทั้งนี้หุ้นดังกล่าวราคาที่ปรับตัวแรงอันดับต้นๆตารางส่วนใหญ่เป็นหุ้นขนาดเล็กและมีแผนงานออกมาน่าสนใจทำให้ช่วงที่ผ่านมานักลงทุนเข้าไปเก็งกำไรอย่างต่อเนื่อง ขณะเดียวกันก็มีกลุ่มหุ้นพื้นฐานที่มีแผนการโดดเด่นเช่นกัน อีกทั้งนักวิเคราะห์ให้ราคาเป้าหมายสูงทำให้ราคาหุ้นปรับตัวขึ้นได้อย่างแข็งแกร่งในช่วง 6 เดือนที่ผ่านมา อย่างไรก็ตามการนำเสนอข้อมูลอาจได้ไม่ครบทั้งหมดดังนั้นจึงขอเลือกนำเสนอข้อมูลประกอบการปรับตัวขึ้นแรงของหุ้นเพียง 5 ตัวแรกของตารางดังนี้

อันดับ 1 บริษัท อีเอ็มซี จำกัด (มหาชน) หรือ EMC  ราคาหุ้นปรับตัวขึ้น 133.33% โดยราคาหุ้นปรับตัวจากระดับ 0.09 บาท (29 ธ.ค.60) มาอยู่ที่ระดับ 0.21 บาท (29มิ.ย.61) คาดนักลงทุนเก็งกำไรหุ้นเล็ก อีกทั้งที่ประชุมคณะกรรมการบริษัทในวันนี้ (14 มี.ค.) อนุมัติให้ลดทุนจดทะเบียนโดยตัดหุ้นที่ยังไม่ได้ออกและเสนอขาย หลังจากนั้นให้เพิ่มทุนจดทะเบียนเป็น 1.52 หมื่นล้านบาท จากเดิมที่ 8.43 พันล้านบาท โดยออกหุ้นใหม่จำนวน 6.75 พันล้านหุ้น พาร์หุ้นละ 1 บาท แบ่งเป็นการเพิ่มทุนแบบอำนาจทั่วไป (General Mandate) จำนวนไม่เกิน 2.53 พันล้านหุ้น ที่จะจัดสรรให้กับผู้ถือหุ้นเดิม

ส่วนหุ้นเพิ่มทุนที่เหลือไม่เกิน 4.22 พันล้านหุ้น จะใช้รองรับการแปลงสภาพใบสำคัญแสดงสิทธิที่จะซื้อหุ้นสามัญ (วอร์แรนต์) EMC-W6  ที่บริษัทจะออก EMC-W6 จำนวนไม่เกิน 4.22 พันล้านหน่วย จัดสรรให้ฟรีแก่ผู้ถือหุ้นเดิมในอัตราส่วน 2 หุ้นเดิมต่อ 1 หน่วย อายุไม่เกิน 5 ปี มีอัตราการใช้สิทธิ 1 หน่วย ต่อ 1 หุ้นใหม่ ที่ราคาหุ้นละ 0.15 บาท

สำหรับวัตถุประสงค์ในการเพิ่มทุนครั้งนี้ จะช่วยทำให้มีสภาพคล่องและมีเงินทุนหมุนเวียนเพิ่มขึ้น รวมทั้งช่วยให้บริษัทมีฐานะทางการเงินที่แข็งแกร่งยิ่งขึ้น รองรับการขยายลงทุนในอนาคต ส่งผลให้นักลงทุนเข้ามาไล่ราคาหุ้นในอย่างต่อเนื่อง

ขณะเดียวกันสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) แจ้งว่าเมื่อวันที่ 5 เม.ย.ที่ผ่านมา นางสาวชินสิรี ลีนะบรรจง ผู้ถือหุ้นใหญ่เข้ามาเก็บหุ้นเพิ่มยิ่งทำให้นักลงทุนมั่นใจและหนุนให้ราคาหุ้นวิ่งแรงในช่วงดังกล่าว

 

อันดับ 2 บริษัท บัตรกรุงไทย จำกัด (มหาชน) หรือ KTC ราคาหุ้นปรับตัวขึ้น 89.63% โดยราคาหุ้นปรับตัวจากระดับ 186.00 บาท (29 ธ.ค.60) มาอยู่ที่ระดับ 352.00 บาท (29มิ.ย.61) เนื่องจากมีปัจจัยบวกเข้ามาหนุนอย่างต่อเนื่องอาทิ แผนการแตกพาร์จาก 10 บาท เป็น 1 บาท

ขณะเดียวกันมีปัจจัยบวกลุ้นเข้าคำนวณดัชนี SET50 ครึ่งหลังปี 61 และการแผนงานบริษัทที่โดดเด่น บวกกับแนวโน้มผลงานปี 61 สดใส อีกทั้งนักวิเคราะห์ปรับราคาเป้าหมายใหม่ทำให้ราคาหุ้นปรับตัวแรงและทุบสถิตินิวไฮต่อเนื่องยิ่งทำให้ราคาพุ่งขึ้นแรงต่อเนื่อง

โดยล่าสุดที่ประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้น KTC วันที่ 6 ก.ค. มีมติเป็นเอกฉันท์อนุมัติการเปลี่ยนแปลงมูลค่าหุ้นที่ตราไว้ (พาร์) ของบริษัทฯจากเดิมมูลค่าหุ้นละ 10 บาท เป็น มูลค่าหุ้นละ 1 บาท เพื่อเพิ่มสภาพคล่องให้กับหุ้นของบริษัทฯ หลังจากนั้นก็จะเป็นเรื่องกระบวนการขออนุมัติเพื่อซื้อขายหุ้นตามมูลค่าพาร์ใหม่ คาดใช้เวลาอีก 1 สัปดาห์ (ประมาณวันที่ 12-13 ก.ค. นี้)

บล.เคที ซีมิโก้ ระบุว่า การเปลี่ยนแปลงมูลค่าพาร์เป็น 1 บาท จากปัจจุบันที่ 10 บาท จะส่งผลบวกเชิง sentiment ต่อหุ้น KTC เนื่องจากจะช่วยเพิ่มสภาพคล่องในการซื้อขายหุ้นให้มีมากขึ้นและเพิ่มการกระจายตัวของหุ้นให้สมดุลขึ้น ไปสู่นักลงทุนรายย่อยมากขึ้น ขณะที่ การเปลี่ยนแปลงมูลค่าพาร์ดังกล่าวจะไม่มีกระทบต่อความสามารถในการทำกำไร ประมาณการกำไรสุทธิ และ ROEของ KTC แต่จะมีผลในด้านรายการที่คิดเป็นต่อหุ้นจะต้องหารด้วย 10 โดยหลังการซื้อขายภายใต้มูลค่าพาร์ใหม่ที่ 1 บาท มูลค่าที่เหมาะสมปี 2018E จะอยู่ที่ 36 บาท/หุ้น (จาก 360 บาท/หุ้น)

 

อันดับ 3 บริษัท นิปปอน แพ็ค (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) หรือ NPP ราคาหุ้นปรับตัวขึ้น 75.34% โดยราคาหุ้นปรับตัวจากระดับ 0.73 บาท (29 ธ.ค.60) มาอยู่ที่ระดับ 1.28 บาท (29 ก.ค.61) คาดนักลงทุนเก็งกำไรหุ้นเล็ก และประเด็นเพิ่มทุน PP เสนอขาย Asia Alpha Equity Fund 1 ซึ่งเป็นกองทุนย่อยของ Asia Alpha Equity Master Fund ที่จดทะเบียนในประเทศสิงคโปร์ทำให้นักลงทุนมั่นใจและเข้ามาไล่ราคาหุ้นต่อเนื่อง

โดยช่วงที่ผ่านมาทางด้านกองทุน เอเชีย อัลฟ่า อิควิดตี้ ฟันด์1 (Asia Alpha Equity Fund 1) จากประเทศสิงคโปร์ ได้ชำระเงินค่าหุ้นสามัญเพิ่มทุนของบริษัทฯที่เสนอขายแบบเฉพาะเจาะจง (PP) จำนวน 400 ล้านหุ้น เป็นเงิน 8.75 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เข้ามาเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ส่งผลบริษัทฯเตรียมเดินหน้าขยายธุรกิจตามแผนที่วางไว้ โดยเฉพาะการขยายธุรกิจอาหารในประเทศ และต่างประเทศ เพื่อเสริมสร้างความแข็งแกร่งทั้งทางผลการดำเนินงาน และให้เป็นที่รู้จักในกลุ่มประเทศเอเชีย

ทั้งนี้ การที่บริษัทฯมีกองทุน BIG Name จากต่างชาติเข้ามาถือหุ้น นับเป็นปัจจัยตอกย้ำให้เห็นว่า บริษัทฯมีศักยภาพความน่าเชื่อถือในการดำเนินธุรกิจ จนทำให้กองทุนขนาดใหญ่เข้ามาลงทุน ซึ่งการเข้ามาของกองทุนดังกล่าว จะช่วยเสริมสภาพคล่อง ศักยภาพความแข็งแกร่งในอนาคตได้เพิ่มขึ้น

นายศุภจักร กล่าวอีกว่า หลังจากนี้ต่อไป  NPP จะเร่งปรับกลยุทธ์ในเชิงรุก ในการเพิ่มโอกาสและช่องทางธุรกิจอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้สอดรับกับนโยบายการขยายตลาดทั้งในประเทศ และต่างประเทศ  ซึ่งขณะนี้ NPP อยู่ระหว่างการศึกษาแผนขยายตลาดต่างประเทศ อาทิ ประเทศจีน ญี่ปุ่น และเกาหลี โดยจะมีการศึกษา และพัฒนาอาหารไทย เพื่อไปจำหน่ายในกลุ่มประเทศดังกล่าว

ส่วนแผนการขยายร้านอาหาร A&W นั้น บริษัท เอ็นพีพี ฟู้ด อินคอร์ปอเรชั่น จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทย่อย ได้ขยายการเปิดสาขาอย่างต่อเนื่องล่าสุด ได้ลงนามบันทึกความร่วมมือกับ บริษัท แบงคอก เมโทร เน็ทเวิร์คส์ จำกัด (บีเอ็มเอ็น) ซึ่งเป็นผู้ได้รับสิทธิในการบริหารพื้นที่เชิงพาณิชย์ ภายในสถานีรถไฟฟ้าใต้ดิน (MRT) เพื่อเปิดร้าน A&W ภายในสถานีรถไฟฟ้าใต้ดิน (MRT) จำนวน 4 สถานี  อาทิ สถานีสุขุมวิท , เพรชบุรีตัดใหม่ , พระราม 9  และจัตุจักร

ในเบื้องต้นคาดว่าจะเริ่มเปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์ได้ 3 สาขาแรก ตั้งแต่เดือนก.ค.นี้เป็นต้นไป และเตรียมเปิดอีก 1 สาขา ในช่วงปลายปี 61 ซึ่งเป็นไปตามแผนการขยายสาขาเพิ่มทั้งหมดกว่า 30 สาขาในปีนี้ และตั้งเป้าว่าในอีก 2-3 ปีข้างหน้า ร้านอาหาร A&W จะมีสาขาทั่วประเทศรวมมากกว่า 100 สาขา เพื่อการก้าวสู่การเป็นผู้นำในการขยายตลาดอาหารสู่ตลาดทั่วภูมิภาคเอเชีย

 

อันดับ 4 บริษัท อิออน ธนสินทรัพย์ (ไทยแลนด์) จำกัด (มหาชน) หรือ AEONTS ราคาหุ้นปรับตัวขึ้น 61.84% โดยราคาหุ้นปรับตัวจากระดับ 103.50 บาท (29 ธ.ค.60) มาอยู่ที่ระดับ 167.50 บาท (29มิ.ย.61) เนื่องจากนักลงทุนมั่นใจพื้นฐานธุรกิจบวกกับนักวิเคราะห์ปรับราคาเป้าหมายทำให้นักลงทุนเข้ามาไล่ราคาในช่วง 6 เดือนที่ผ่านมา

บล.กรุงศรี ระบุว่า AEONTS (ซื้อ/เป้า 210) คาดกำไรสุทธิไตรมาส 1/18 (มี.ค.-พ.ค.) ประมาณ 802 ล้านบาทเพิ่มขึ้น 30%yoy จากยอดสินเชื่อที่เติบโตแข็งแกร่งและ NIM ยังทรงตัวในระดับสูง Valuation ยังถูกหากเทียบกับคู่แข่ง(AEONTS มี PE 11.7 เท่าเทียบกับ KTC ที่ 17 เท่า)

 

อันดับ 5 บริษัท เอกรัฐวิศวกรรม จำกัด (มหาชน) หรือ AKR ราคาหุ้นปรับตัวขึ้น 51.89% โดยราคาหุ้นปรับตัวจากระดับ 1.06 บาท (29 ธ.ค.60) มาอยู่ที่ระดับ 1.61 บาท (29มิ.ย.61) ราคาหุ้นปรับตัวแรงเนื่องจากนักลงทุนเข้ามาเก็งกำไรหุ้นขนาดเล็กอีกทั้งมีแผนธุรกิจที่โดดเด่น

บริษัทตั้งเป้ารายได้ปีนี้เติบโต 15-20% หรือไม่ต่ำกว่า 2 พันล้านบาท จากปีก่อนที่มีรายได้ 1.7 พันล้านบาท โดยจะเป็นการเติบโตจากธุรกิจหลักคือผลิตและจำหน่ายหม้อแปลงไฟฟ้า ที่ยังมีคำสั่งซื้อเข้ามาอย่างต่อเนื่องจากผู้รับเหมาก่อสร้างรายต่าง ๆ และปัจจุบันบริษัทอยู่ระหว่างเจรจาขายหม้อแปลงไฟฟ้าให้กับโครงการใหญ่มูลค่าราว 100 ล้านบาท คาดว่าจะชัดเจนภายในช่วงไตรมาส 2/61

นอกจากนี้ยังคาดหวังจะมียอดขายหม้อแปลงไฟฟ้าให้กับกลุ่มผู้ผลิตไฟฟ้าตามโครงการผลิตไฟฟ้าพลังแสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนพื้นดิน สำหรับหน่วยงานราชการและสหกรณ์การเกษตร ที่จะต้องทยอยจ่ายไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ (COD) ภายในปีนี้ โดยคาดว่าจะสามารถขายหม้อแปลงไฟฟ้าเข้าไปได้ไม่ต่ำกว่า 70 ล้านบาท ซึ่งคาดว่าจะทยอยชัดเจนและขายตั้งแต่ช่วงไตรมาส 2/61 เป็นต้นไป

พร้อมกันนี้บริษัทตั้งเป้ารายได้จากธุรกิจจำหน่ายและติดตั้งโซลาร์รูฟท็อปไม่ต่ำกว่า 400 ล้านบาท จากปีก่อนที่ 70 ล้านบาท โดยในช่วงปลายปี 60 บริษัทได้รับงานติดตั้งโซลาร์รูฟท็อปของโตโยต้า มูลค่ากว่า 100 ล้านบาท ที่จะรับรู้เข้ามาเป็นรายได้ในช่วงไตรมาส 2/61 และปัจจุบันบริษัทอยู่ระหว่างเจรจาเพื่อรับงานติดตั้งโซลาร์รูฟท็อปของโรงงานอุตสาหกรรมอีกหลายแห่งมูลค่ากว่า 500-600 ล้านบาท จะทยอยรู้ผลการเจรจาตั้งแต่ปัจจุบันถึงปลายปี ซึ่งปัจจุบันบริษัทได้มีงานในมือ (Backlog) แล้ว 50-60 ล้านบาท จะรับรู้รายได้เข้ามาทั้งหมดในปีนี้

สำหรับสัดส่วนรายได้ในปี 61 จะมาจากการการผลิตและจำหน่ายหม้อแปลงไฟฟ้าอยู่ 80% และส่วนที่เหลือจะมาจากจำหน่ายและติดตั้งโซลาร์รูฟท็อป 20% ขณะที่อัตรากำไรสุทธิของบริษัทในปีนี้จะปรับตัวเพิ่มขึ้นเป็นไม่ต่ำกว่า 5% สูงกว่าปีก่อนที่ 2.52% จากการบริหารจัดการต้นทุนต่าง ๆ เช่น การลงทุนด้านเครื่องจักรให้เป็นระบบอัตโนมัติเพื่อลดจำนวนคน

โดยในช่วง 3 ปี (ปี 61-63) บริษัทตั้งเป้าที่จะใช้เครื่องจักรทดแทนคนมากกว่า 10-15% ซึ่งจะช่วยลดต้นทุนได้ 3-5% ต่อปี ซึ่งในปีนี้บริษัทเตรียมงบลงทุนเพื่อใช้ในการลงทุนเครื่องจักรอีกราว 10 ล้านบาท สำหรับผลการดำเนินงานในช่วงไตรมาส 2/61 มองว่าผลประกอบการทั้งในแง่ของรายได้และกำไร จะเติบโตเมื่อเทียบกับช่วงไตรมาส 1/61 เนื่องจากมีการรับรู้รายได้จากโตโยต้า และโครงการอื่น ๆ รวมไปถึงคำสั่งซื้อหม้อแปลงไฟฟ้าที่สูงขึ้นด้วย

*ทั้งนี้ข้อมูลที่มีการนำเสนอข้างต้น เป็นเพียงข้อแนะนำจากข้อมูลพื้นฐานเพื่อประกอบการตัดสินใจของนักลงทุนเท่านั้น และมิได้เป็นการชี้นำ หรือเสนอแนะให้ซื้อหรือขายหลักทรัพย์ใดๆการตัดสินใจซื้อหรือขายหลักทรัพย์ใดๆ ของผู้อ่าน ไม่ว่าจะเกิดจากการอ่านบทความในเอกสารนี้หรือไม่ก็ตาม ล้วนเป็นผลจากการใช้วิจารณญาณของผู้อ่าน

Back to top button