BCP ปักเป้ากำไรปีนี้ 5.78 พันลบ. รับกำไรสต็อกน้ำมัน-BCPG ขายโซลาร์ฟาร์มเข้ากองทุนฯ

BCP ตั้งเป้ากำไรปีนี้ 5.78 พันลบ. รับกำไรสต็อกน้ำมัน-BCPG ขายโซลาร์ฟาร์มเข้ากองทุนฯ พร้อมรับรู้รายได้หลังซื้อ OKEA ทันทีธ.ค.61


นายชัยวัฒน์ โควาวิสารัช ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ BCP เปิดเผยว่า บริษัทตั้งเป้ากำไรสุทธิปีนี้ในระดับเดียวกับปีก่อนที่ทำได้ 5.78 พันล้านบาท แม้จะมีการหยุดซ่อมบำรุงโรงกลั่น 45 วันในช่วงไตรมาส 2/61 ทำให้ปริมาณการกลั่นลดเหลือราว 6 หมื่นบาร์เรล/วัน และส่งผลให้ปริมาณการกลั่นน้ำมันเฉลี่ยปีนี้อยู่ที่ราว 1.01 แสนบาร์เรล/วัน ลดลงจาก 1.11 แสนบาร์เรล/วันในปีที่แล้ว

ขณะที่คาดว่าค่าการกลั่นจะทรงตัวจากระดับประมาณ 6.5 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรลในปีก่อน แต่บริษัทคาดหวังว่าปีนี้จะมีกำไรจากสต็อกน้ำมัน และยังมีกำไรพิเศษจากการที่บริษัท บีซีพีจี จำกัด (มหาชน) หรือ BCPG จะขายโซลาร์ฟาร์ม 2 แห่งเข้ากองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานในญี่ปุ่น ซึ่งจะเข้ามาช่วยหนุนผลการดำเนินงานด้วย

ทั้งนี้ ประเมินทิศทางราคาน้ำมันดิบดูไบในปีนี้ที่ระดับ 65-70 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล ซึ่งสูงกว่าปีที่แล้ว โดยราคาน้ำมันดิบตั้งแต่ต้นปีจนถึงปัจจุบันอยู่ที่ราว 67 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล เทียบกับระดับปิดสิ้นปีก่อนที่ 55 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล จึงทำให้คาดว่าปีนี้จะมีกำไรจากสต็อกน้ำมัน

สำหรับการจะเข้าลงทุน 45% ใน OKEA AS (OKEA) ซึ่งเป็นผู้พัฒนาและผลิตปิโตรเลียมในประเทศนอร์เวย์นั้น คาดว่าจะแล้วเสร็จในเดือน พ.ย.61 ซึ่งจะทำให้สามารถรับรู้ส่วนแบ่งกำไรเข้ามาได้ในเดือน ธ.ค.61

โดย ปัจจุบัน OKEA มีทรัพย์สินปิโตรเลียม 5 แหล่งในนอร์เวย์ โดยเป็นแหล่งที่ผลิตแล้ว 2 แหล่ง ได้แก่ Draugen เป็นแหล่งน้ำมัน จำหน่ายในตลาดจร (spot) และแหล่ง Gjoa เป็นแหล่งก๊าซธรรมชาติ 80% จำหน่ายไปยังอังกฤษ ส่วนอีก 20% เป็นแหล่งน้ำมัน ซึ่งปีนี้ทาง OKEA ประเมินกำไรที่ระดับ 250 ล้านเหรียญสหรัฐ บนพื้นฐานราคาน้ำมันดิบเบรนท์ ที่ 70 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล ขณะที่ปัจจุบันราคาน้ำมันดิบ เบรนท์ อยู่ที่ 74-75 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล ส่วนแหล่งปิโตรเลียมอีก 3 แหล่ง ได้แก่ Ivar Aasen , Yme และ Grevling จะเริ่มทยอยผลิตตั้งแต่ปี 62 เป็นต้นไป

อนึ่ง OKEA มีการผลิตปิโตรเลียมราว 2 หมื่นบาร์เรล/วัน คิดเป็นสัดส่วนการลงทุนของบริษัทราว 9 พันบาร์เรล/วัน และเมื่อรวมกับที่บริษัทลงทุนในบริษัท Nido Petroleum จำกัด (Nido) ซึ่งมีแหล่งผลิตน้ำมันดิบ Galoc ประเทศฟิลิปปินส์อีก 2 พันบาร์เรล/วัน จะทำให้บริษัทมีกำลังการผลิตปิโตรเลียมรวมทั้งสิ้น 1.1 หมื่นบาร์เรล/วันในปี 62 อย่างไรก็ตาม แหล่งผลิตของ Nido มีแนวโน้มจะค่อยๆ ลดลงในอนาคตและคาดว่าจะหมดลงในอีก 2 ปีข้างหน้า

สำหรับเงินลงทุนที่จะใช้เข้าถือหุ้น 45% ใน OKEA จำนวนราว 3.76 พันล้านบาทนั้น จะมาจากกระแสเงินสดของบริษัท ซึ่งมีสภาพคล่องพอสมควร ขณะที่เงินลงทุนระดับดังกล่าวไม่ได้เป็นเงินลงทุนมากเมื่อเทียบกับกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย,ภาษี, ค่าเสื่อมและค่าตัดจำหน่าย (EBITDA) ที่ทำได้ราว 1.3-1.4 หมื่นล้านบาท/ปี และยังมีการลงทุนราว 3-4 พันล้านบาท/ปีอีกด้วย อย่างไรก็ตามในเดือนก.ค.นี้ บริษัทมีแผนจะออกหุ้นกู้ราว 5 พันล้านบาท เพื่อใช้ลงทุนส่วนหนึ่ง และอีกส่วนหนึ่งเพื่อใช้บริหารสภาพคล่อง เนื่องจากราคาน้ำมันที่ปรับตัวสูงขึ้น ทำให้ต้องใช้เงินทุนหมุนเวียน (Working Capital) เพิ่มขึ้นด้วย

ส่วนความคืบหน้าการขยายกำลังการผลิตด้วยเทคโนโลยี Continuous Catalyst Regeneration (CCR) ซึ่งเป็นหน่วยที่จะเพิ่มผลิตภัณฑ์น้ำมันใส และ Hydrocracker Unit (HCU) รวมถึงจะมีการเพิ่มกำลังกลั่นแบบ Debottlenecking นั้นคาดว่าจะแล้วเสร็จในต้นปี 64 ซึ่งจะทำให้บริษัทมีกำลังการกลั่นน้ำมันเกิน 1.3  แสนบาร์เรล/วัน จากระดับ 1.2 แสนบาร์เรล/วันในปีนี้ โดยจะมีการผลิตน้ำมันเบนซินเพิ่มเป็น 22% จาก 18-19% ในปัจจุบัน ส่วนดีเซลและน้ำมันอากาศยานยังอยู่ใกล้เคียงเดิมราว 64% และน้ำมันเตาที่ 8-10% เท่ากับปัจจุบัน

อย่างไรก็ตาม การที่องค์การทางทะเลระหว่างประเทศ (IMO) มีมติให้จำกัดกำมะถันในน้ำมันเตาของเรือเดินสมุทรไม่เกิน 0.5% จากระดับ 3.5% ในปัจจุบัน มีผลตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.63 นั้น คาดว่าจะทำให้ความต้องการใช้น้ำมันดีเซลเพิ่มมากขึ้นเพื่อนำมาผสมในน้ำมันเตาให้มีปริมาณกำมะถันลดลง บริษัทเชื่อว่าจะได้รับประโยชน์เพราะมีสัดส่วนการผลิตน้ำมันดีเซลค่อนข้างสูงราว 55-60% และยังเป็นผู้ผลิตน้ำมันเตาที่มีกำมะถันต่ำราว 0.3% ด้วย นอกจากนี้ การเข้าไปลงทุนในแหล่งปิโตรเลียมที่นอร์เวย์ ซึ่งเป็นน้ำมันดิบเบา (light crude) ที่มีปริมาณกำมะถันต่ำก็จะช่วยลดความเสี่ยงในการดำเนินงานด้วย

สำหรับความคืบหน้าการลงทุนเหมืองแร่ลิเทียมภายใต้บริษัท Lithium Americas Corp. (LAC) ที่ BCP ถือหุ้น 16% นั้น คาดว่าจะสามารถผลิตลิเทียมจากเหมืองที่อาร์เจนตินา เฟสแรก 25,000 ตัน/ปีในปี 63 และจะเพิ่มเป็น 50,000 ตัน/ปีในปี 65 ใช้เงินลงทุน 500 ล้านเหรียญสหรัฐ ขณะที่เหมืองแร่ลิเทียมแหล่งเนวาดาในโครงการ The Thacker Pass ที่สหรัฐฯ แบ่งการผลิตเป็น 2 เฟส โดยเฟสแรก กำลังผลิต 30,000 ตัน/ปีจะเริ่มก่อสร้างในปี 63 แล้วเสร็จในช่วงปี 65-66 หลังจากนั้นจะเริ่มก่อสร้างระยะที่ 2 อีก 30,000 ตัน/ปี โดยเงินลงทุนทั้งโครงการในสหรัฐฯจะอยู่ที่ราว 900 ล้านเหรียญสหรัฐ

ดังนั้น เมื่อรวมทั้ง 2 โครงการในอาร์เจนตินา และสหรัฐฯแล้วจะมีกำลังการผลิตแร่ลิเทียมถึง 1.1 แสนตัน/ปี ซึ่งจะเป็นผู้ผลิตรายใหญ่ที่สุดรายหนึ่งของโลก โดยการผลิตแร่ลิเทียมจะนำไปสู่การผลิตลิเทียมคาร์บอเนต ซึ่งจะใช้ในอุตสาหกรรมผลิตแบตเตอรี่ ซึ่งปัจจุบันราคาลิเทียมอยู่ที่ราว 12,000-15,000 เหรียญสหรัฐ/ตัน นับเป็นระดับราคาที่ดี โดยปัจจุบันจีนนับเป็นผู้ผลิตและผู้ใช้ลิเทียมรายใหญ่ของโลก

ขณะเดียวกันบริษัทกำลังมองหาโอกาสการลงทุนขั้นปลายของธุรกิจลิเทียม คือ การผลิตแบตเตอรี่ ซึ่งกำลังรอดูเทคโนโลยีที่เหมาะสมและราคาต้นทุนการผลิตที่เหมาะสมในการลงทุน โดยในส่วนราคามองว่าควรจะอยู่ในระดับต่ำกว่า 100 เหรียญสหรัฐ/กิโลวัตต์ชั่วโมง (KWh) จากปัจจุบันอยู่ที่ราว 140-150 เหรียญสหรัฐ/KWh

Back to top button