นักค้าสงคราม

ดัชนีตลาดหุ้นเกิดใหม่ในเอเชียที่ทำท่าฟื้นตัวชัดเจนมาได้ สองวันทำการ ก็มีอาการสะดุดหัวคะมำอีกครั้ง นำโดยดัชนีหลักของตลาดหุ้นจีน หรือเซี่ยงไฮ้คอมโพสิต ที่วานนี้ปิดร่วง 49.86 จุด วิตกสหรัฐฯ เก็บภาษีนำเข้าจากจีนเพิ่ม


พลวัตปี 2018 : วิษณุ โชลิตกุล

ดัชนีตลาดหุ้นเกิดใหม่ในเอเชียที่ทำท่าฟื้นตัวชัดเจนมาได้ สองวันทำการ ก็มีอาการสะดุดหัวคะมำอีกครั้ง นำโดยดัชนีหลักของตลาดหุ้นจีน หรือเซี่ยงไฮ้คอมโพสิต ที่วานนี้ปิดร่วง 49.86 จุด วิตกสหรัฐฯ เก็บภาษีนำเข้าจากจีนเพิ่ม

นายโรเบิร์ต ไลท์ไฮเซอร์ ผู้แทนการค้าสหรัฐฯ (USTR) ออกแถลงการณ์ในวันนี้ว่า รัฐบาลสหรัฐฯ จะเรียกเก็บภาษีนำเข้าสินค้าจากจีนเพิ่มอีก 2 แสนล้านดอลลาร์ โดยจะเรียกเก็บในอัตรา 10% ซึ่งครอบคลุมถึงสินค้าจำนวน 6,031 รายการ ตั้งแต่สินค้าเพื่อผู้บริโภค สินแร่ ไปจนถึงสินค้าด้านการเกษตร โดยมาตรการล่าสุดนี้จะมีผลบังคับใช้ในเดือนกันยายนที่จะถึง

เหตุผลที่น่าเวทนาในการรุกทำสงครามการค้ารอบล่าสุดคือ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ระบุอย่างหน้าด้านว่า สหรัฐฯ ไม่มีทางเลือกเนื่องจากจีนไม่ได้ตอบสนองต่อสิ่งที่ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ได้เน้นย้ำเรื่องของการค้าที่ไม่ยุติธรรมจากจีนเอง

ทางด้านกระทรวงพาณิชย์จีนได้ออกแถลงการณ์ในเวลาต่อมาว่า จีนจะใช้มาตรการตอบโต้ ในมูลค่าเท่ากัน และจะนำเรื่องดังกล่าวฟ้องร้องต่อองค์การการค้าโลก (WTO) เรียกว่า “แรงมาก็แรงกลับ” เป็นกลยุทธ์ “รบไป เจรจาไป” อันเป็นงานถนัด

การเปิดเกมรุกต่อเนื่องชนิด “กัดไม่ปล่อย” นี้ ไม่ใช่เรื่องใหม่ และปฏิกิริยาเชิงลบของตลาดระยะสั้นเมื่อมีข่าวในตลาดหุ้นก็ไม่ใช่เรื่องแปลก ประเด็นสำคัญอยู่ที่ความซับซ้อนของผลกระทบในระยะยาว

สงครามที่แท้จริงนั้น ไม่เคยมีผู้ชนะ แต่บางครั้งก็มีคนจำนวนน้อยที่สามารถสร้างฐานะจากบทบาทของ “นักค้าสงคราม” ปนเปื้อนมาได้ (ทำนองเดียวกันกับพฤติกรรมของ Mother Courage ในละครชื่อดังของแบร์โบลด์ เบรคท์)

แม้การประจัญบานในสงครามการค้า จะยังไม่ปรากฏผลชัดเจน มีแต่การคาดเดา และทางฝ่ายจีนคงจะรู้และเตรียมการไว้แล้วว่าอาจจะต้องยอมทำตามในบางประการ อย่างการค้าที่ไม่เป็นธรรมในช่วงก่อนหน้านี้, การปกป้องทรัพย์สินทางปัญญาของสหรัฐฯ, การเปิดตลาดให้สหรัฐฯ มากขึ้น รวมถึงอาจจะเลิกเก็บภาษีจากสหรัฐฯ เป็นต้น ซึ่งหากจีนยอมก็จะเป็นข่าวบวกต่อตลาดฯ ซึ่งไม่น่าจะเป็นไปได้

ดังที่ทราบกันดีว่า นักวิเคราะห์กลยุทธ์ในวอลล์สตรีท ให้ความเห็นเชิงลึกวิเคราะห์กลยุทธ์สงครามการค้าจีน-สหรัฐฯ ล่าสุดน่าสนใจ โดยวิเคราะห์จากรายชื่อกลุ่มสินค้าในบัญชีรายชื่อที่จะหยิบยกมาเล่นงานกันและกัน

ฝั่งสหรัฐฯ เน้นรายการสินค้าจีนที่มุ่งไปทำให้รัฐวิสาหกิจจีนเป็นผู้ผลิตใหญ่เพื่อ “เจาะยาง” เพราะจะทำให้กับดักหนี้ของจีน ที่มากกว่า 2 เท่าของจีดีพี เกิดอาการปั่นป่วน และซวนเซ จนกระทั่งมีต้นทุนสูง ลดความสามารถในการส่งออกมาตีตลาดสหรัฐฯ

ฝั่งจีน ก็เน้นรายการสินค้าที่ผลิตจากแหล่งที่เป็นฐานคะแนนเสียงหลักของโดนัลด์ ทรัมป์เพื่อให้คนที่สนับสนุนทรัมป์ตระหนักดีว่า พวกเขาสนับสนุนคนผิดเป็นผู้นำประเทศ

ปมใหม่ที่ก่อขึ้นล่าสุดโดยสหรัฐฯ อาจจะทำให้การประเมินของนักกลยุทธ์ดังกล่าวใช้การไม่ได้ หรือผิดพลาดไป เพราะท้ายที่สุด บริษัทสหรัฐฯ เองจะเสียหายมากกว่า จากการที่ต้องสูญเสียตลาดใหญ่ที่สุดในโลกไป

มองจากมุมกลับกัน นโยบายสงครามการค้าของทรัมป์มีโอกาสสร้างสภาพ “มุมกลับ” ที่กลายเป็นตัวเร่งหรือ acccerelators ชั้นเยี่ยมให้บริษัทข้ามชาติอเมริกัน ต้องเอาตัวรอดจากสงครามการค้า ในการขับไสให้เกิดการย้ายฐานผลิตหรือแปลงกายทางการตลาด เพื่อออกจากสหรัฐอเมริกาเร็วขึ้น รับมือกับกำแพงภาษีที่ชาติต่าง ๆ ตั้งขึ้นมาอย่างไร้กติกา ตามรอยโดนัลด์ ทรัมป์ และสายเหยี่ยวรอบตัว

กรณี การย้ายฐานผลิตของฮาร์เลย์-เดวิดสัน เมื่อเดือนก่อน รวมทั้งค่ายรถยนต์และอิเล็กทรอนิกส์อื่น ๆ ไม่ใช่เรื่องใหม่สำหรับบริษัทอเมริกัน บริษัทยักษ์ใหญ่อย่าง ไนกี้ ก็ไม่เคยมีฐานผลิตในอเมริกาเลยด้วยซ้ำ ในขณะที่ค่ายรถยนต์หรืออิเล็กทรอนิกส์จำนวนมากก็มีโรงงานผลิตชิ้นส่วนหรือโรงงานประกอบในต่างประเทศกันมาไม่น้อยกว่า 20-30 ปีด้วยซ้ำ ภายใต้กลยุทธ์ Global Brand, Local Contents” ที่คุ้นเคยกันดี

คำถามที่ผู้บริหารของยักษ์ข้ามชาติอเมริกันจะต้องพิจารณา จึงไม่ใช่เรื่องท่าทีเห็นแก่ได้ถ่ายเดียวของทรัมป์ แต่อยู่ที่ว่าจะสามารถรักษามาตรฐานของแบรนด์ที่เป็น American Brand, Local Contents” เพื่อความอยู่รอดได้อย่างไร

บทเรียนจากความสูญเสียของ Mother Courage ในละครอาจจะเบาเกินไปกว่าข้อเท็จจริงนอกบทละครก็ได้

Back to top button