บอลโลกกับทุน

จบลงไปแล้วกับทัวร์นาเมนต์ 4 ปีครั้งของการแข่งขันฟุตบอลโลก พร้อมกับความทรงจำใหม่ที่มีทั้งเหมือน และไม่เหมือนเดิม สำหรับฟุตบอลโลก 2018 ที่รัสเซียเป็นเจ้าภาพ นับเป็น Mega Event สำคัญของโลกทุก ๆ 4 ปี ที่จะมีการแข่งขันไม่ต่ำกว่า 64 นัดจาก 32 ทีมชาติ ดึงความสนใจจากคนทั่วโลก


พลวัตปี 2018 : วิษณุ โชลิตกุล

จบลงไปแล้วกับทัวร์นาเมนต์ 4 ปีครั้งของการแข่งขันฟุตบอลโลก พร้อมกับความทรงจำใหม่ที่มีทั้งเหมือน และไม่เหมือนเดิม สำหรับฟุตบอลโลก 2018 ที่รัสเซียเป็นเจ้าภาพ นับเป็น Mega Event สำคัญของโลกทุก ๆ 4 ปี ที่จะมีการแข่งขันไม่ต่ำกว่า 64 นัดจาก 32 ทีมชาติ ดึงความสนใจจากคนทั่วโลก

มหกรรมกีฬาฟุตบอลระดับโลกนี้ มีสหพันธ์ฟุตบอลนานาชาติ (Fédération Internationale de Football Association: FIFA) ซึ่งมีสำนักงานที่เมืองซูริก ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ทำหน้าที่กำกับดูแลรวมทั้งเป็นผู้จัดการแข่งขัน

ดังที่ทราบกัน ฟุตบอลโลกแต่ละรอบมีจำนวนเงินที่เกี่ยวข้องมหาศาล ตั้งแต่เงินที่ประเทศเจ้าภาพต้องจ่ายในการชนะประมูลให้แก่ FIFA เงินที่ประเทศเจ้าภาพต้องใช้ในการลงทุนก่อสร้างสนามแข่งขัน โครงสร้างพื้นฐาน

การจัดแข่งขันฟุตบอลนอกจากจะสร้างชื่อเสียงให้กับประเทศเจ้าภาพที่ใช้เป็นสถานที่จัดการแข่งขันแล้ว ยังเป็นที่คาดหวังว่าจะมีประโยชน์ต่อเศรษฐกิจทั้งระยะสั้นและระยะยาว โดยในระยะสั้นนั้นการแข่งขันจะเป็นปัจจัยหลักที่จะกระตุ้นให้มีกิจกรรมการใช้จ่ายหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจเพิ่มขึ้นในช่วง 1 เดือนของการแข่งขัน ประเทศจะมีรายได้จากการท่องเที่ยวและการบริการ นอกเหนือจากการกระตุ้นเศรษฐกิจจากการใช้จ่ายในการก่อสร้างและการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานก่อนการแข่งขัน ซึ่งจะส่งผลให้ประเทศเจ้าภาพทำเงินได้จำนวนมาก

ส่วนจะคุ้มค่ากับเงินที่จ่ายให้กับ FIFA จากการชนะการประมูลเพื่อเป็นเจ้าภาพต้องประเมินกันเอาเอง

ความสำคัญในทางเศรษฐกิจของฟุตบอลโลก ไม่ได้อยู่ที่แค่ว่า ทีมชาติไหนจะได้ชัยชนะหรือพ่ายแพ้ แต่อยู่ที่ว่าจารีตนี้จะหวนคืนมาอีกใน 4 ปีข้างหน้าที่จะเปิดตำนานหน้าใหม่ เพราะจะมีการจัดแข่งขันที่ทวีปเอเชียครั้งที่สอง ที่ประเทศกาตาร์ ท่ามกลางสภาพอากาศที่ยังมีคำถามว่าเหมาะสมกับการแข่งขันแค่ไหน

ในทางการเงินตำนานการแข่งขันฟุตบอลโลกที่รัสเซียคราวนี้ มีรายได้และรายจ่ายน่าสนใจมากนั่นคือ

– FIFA ในฐานะผู้เป็นแกนหลักจัดการแข่งขันคราวนี้ ยอมจ่ายเงินให้กับทีมที่เข้าร่วมการแข่งขันครั้งนี้ด้วยเงินรางวัลถึง 400 ล้านดอลลาร์สหรัฐ มากกว่าในครั้งที่แล้ว 2014 ที่บราซิล (ซึ่งมีเงินรางวัลรวมกัน 360 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) โดยทีมที่มาแข่งขันจะได้รับเงินเบื้องต้นเข้าบัญชี 1.5 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เป็นค่าใช้จ่ายในการแข่งขัน ไม่รวมตั๋วเครื่องบิน

– รายงานอ้างอิงเอกสารทางการเงินของ FIFA ระบุว่า คาดว่ารายได้จากฟุตบอลโลก 2018 ครั้งนี้อยู่ที่ 6,100 ล้านดอลลาร์ เติบโตมากกว่าครั้งที่แล้วในปี 2014 ที่บราซิลถึง 10% และจะมีกำไรสุทธิประมาณ 100 ล้านดอลลาร์

รายงานข่าวอีกกระแสหนึ่ง อ้างอิงเอกสารทางการเงินของ FIFA ว่า รายได้จากการขายลิขสิทธิ์การถ่ายทอดสดทางทีวี (TV rights) สูงขึ้น 2% จาก 3 พันล้านดอลลาร์ที่ตั้งเป้าไว้ ส่วนการขายโฆษณา (sponsorship) สูงขึ้น 200 ล้านดอลลาร์จากเป้าหมาย 1.45 พันล้านดอลลาร์ ส่วนใหญ่มาจากบริษัทจีน เพราะ 7 ใน 20 บริษัทที่ซื้อโฆษณาเป็นบริษัทจีน เพิ่มขึ้นมากจากที่มีเพียง 1 รายในการแข่งขันครั้งก่อน

FIFA ยังมีรายได้จากค่าลิขสิทธิ์ต่อเนื่องรายปี (Royalties) เพิ่มขึ้น 233% จาก EA Sports ผู้ผลิตเกมยักษ์ใหญ่ที่จ่ายให้ FIFA ซึ่งในปีก่อนได้จ่ายเงินไป 160 ล้านดอลลาร์

ส่วนในการแข่งขันฟุตบอลโลกครั้งต่อไปที่กาตาร์ FIFA ก็คาดการณ์ว่าจะทำรายได้ 6.56 พันล้านดอลลาร์ มีค่าใช้จ่าย 6.46 พันล้านดอลลาร์ในช่วงปี 2019-2022 ของการแข่งขันฟุตบอลโลกรอบต่อไปในปี 2022 ที่กาตาร์ชนะประมูลเป็นเจ้าภาพสถานที่สำหรับการแข่งขัน

เหตุผลที่ FIFA กล้าตั้งเป้ารายได้ครั้งหน้าเพิ่มขึ้นจากฟุตบอลโลกที่รัสเซีย ทั้ง ๆ ที่สนามฟุตบอลที่กาตาร์ทุก ๆ สนามนั้นมีความจุน้อยกว่าสนามฟุตบอลที่รัสเซียเสียอีก และมีการประมาณการตัวเลขรายได้จากการขายตั๋วเข้าชมอยู่ที่ 500 ล้านดอลลาร์ ซึ่งน้อยกว่าที่รัสเซียที่มีรายได้จากการขายตั๋ว 650 ล้านบาท ซึ่งเป็นการอัพราคาตั๋วเข้าชมแล้วก็ตามที (มีข่าวจาก นิวยอร์ก ไทมส์ ว่าตั๋วเข้าชมที่ฟุตบอลโลก 2022 ที่กาตาร์จะแพงขึ้นกว่าที่รัสเซีย)

ที่ผ่านมา FIFA มีวิธีเพิ่มรายได้ที่แสนง่ายและได้ผลทุกครั้ง ด้วยการอัพราคาลิขสิทธิ์ถ่ายทอดสดให้แก่ประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก ซึ่งยังไม่รู้ว่าค่าลิขสิทธิ์จะถูกอัพราคาไปจบที่ตัวเลขเท่าไร

ก็ไหน ๆ ฟุตบอลโลก 4 ปีมีครั้ง FIFA ก็ต้อง “จัดหนัก” เท่าที่ตัวเองจะกอบโกยได้ ตราบใดที่กระแสคลั่งฟุตบอลยังไม่ลดลง

ฟุตบอลโลกในปี 2026 สหรัฐอเมริกา แคนาดา และเม็กซิโก ร่วมกันเป็นเจ้าภาพ ชนะการประมูลด้วยตัวเลขที่เสนอต่อ FIFA จำนวน 11 พันล้านดอลลาร์

ตัวเลขรายได้และกำไรของ FIFA แม้จะย้อนแย้งกับคำประกาศหรือ “จุดยืน” ตัวเองคือองค์กรที่ไม่แสวงหาผลกำไรก็ตามที แต่นั่นก็เป็นอะไรที่ยอมรับได้กันเสมอมาว่าในกลไกทุนนิยมนั้น ไม่สามารถปฏิเสธต้นทุน-ค่าใช้จ่าย และรายได้-กำไร ได้เลย

ข้อเท็จจริงของ FIFA มักจะปรากฏว่าสามารถทำกำไรมหาศาลในปีที่มีการแข่งฟุตบอลโลก ที่เหลือจะขาดทุน แต่หักกลบก็จะพอดี ๆ

ตัวเลขจากการดำเนินงานในปี ค.ศ. 2016 ปรากฏว่า ฟีฟ่าขาดทุนสูงถึง 369 ล้านดอลลาร์ อีกทั้งยังเสียสปอนเซอร์เดิมไปถึง 34 ราย ซึ่งสปอนเซอร์เหล่านี้ คือผู้สนับสนุนหลักในการแข่งขันฟุตบอลโลก

สาเหตุสำคัญที่ทำให้องค์กรลูกหนังโลกต้องขาดทุนจำนวนมหาศาลมาจากปัญหาคอร์รัปชันสะเทือนวงการในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา เนื่องจากต้องเสียค่าใช้จ่ายในด้านเกี่ยวกับทางคดีที่มีการฟ้องร้องเพิ่มขึ้น รวมทั้งต้องเสียค่าใช้จ่ายสำหรับการประชุมใหญ่วาระพิเศษเพื่อเลือกตั้งประธานฟีฟ่าคนใหม่ แทนนายเซ็ปป์ แบล็ตเตอร์ ที่ลาออกจากตำแหน่ง โดยค่าใช้จ่ายสำหรับเรื่องคดีฟ้องร้องต่าง ๆ นั้นเพิ่มขึ้นเท่าตัว จำนวน 50 ล้านดอลลาร์

ขณะเดียวกัน ยังต้องเสียค่าใช้จ่ายในด้านการพัฒนาและให้การศึกษาสูงถึง 428 ล้านดอลลาร์ระหว่างปี 2016 เพิ่มขึ้นจากปีก่อนที่มีตัวเลขเพียง 187 ล้านดอลลาร์ นอกจากนี้ยังสูญเงินไปกับการลงทุนสร้างพิพิธภัณฑ์ฟุตบอลและโรงแรมในนครซูริก ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ซึ่งถูกมองว่าไม่ประสบความสำเร็จอีกด้วย

จากการขาดทุนดังกล่าวทำให้เงินทุนสำรอง ฟีฟ่า ลดลง จาก 1,410 ล้านดอลลาร์ ในปี 2015 เหลือเพียง 1,048 ล้านดอลลาร์ และในปี 2017 ฟีฟ่า คาดว่าจะยังขาดทุนต่อเนื่อง จำนวน 489 ล้านดอลลาร์ แต่จะพลิกสร้างกำไรได้ในปี 2018 ซึ่งจัดฟุตบอลโลกที่รัสเซีย

ฐานะการเงินที่ลุ่ม ๆ ดอน ๆ นี้ ตรงกับสิ่งที่เรียกว่า reality of life ที่ไม่อาจปฏิเสธได้ว่ากีฬาที่มีมูลค่าธุรกิจมหาศาลนี้จะมีสภาพไม่ต่างจาก “เดินบนเส้นลวด” เท่าใดนัก

Back to top button