DTAC รูดเกือบ2% หวั่นกำไร Q2 ทรุดกว่า80% หลังแบกต้นทุนเช่าคลื่น 2300MHz กว่า 830 ลบ.

DTAC รูดเกือบ2% หวั่นกำไร Q2 ทรุดกว่า80% หลังแบกต้นทุนเช่าคลื่น 2300MHz กว่า 830 ลบ. ล่าสุด ณ เวลา 12.17 น. อยู่ที่ 39.25 บาท ลบ 0.75 บาท หรือ 1.88% สูงสุดที่ 39.50 บาท ต่ำสุดที่ 38.75 บาท ด้วยมูลค่าซื้อขาย 95.01 ล้านบาท


ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ราคาหุ้นบริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ DTAC ล่าสุด ณ เวลา 12.17 น. อยู่ที่ 39.25 บาท ลบ 0.75 บาท หรือ 1.88% สูงสุดที่ 39.50 บาท ต่ำสุดที่ 38.75 บาท ด้วยมูลค่าซื้อขาย 95.01 ล้านบาท

ทั้งนี้ ราคาหุ้น DTAC ปรับตัวลง หลังมีการคาดการณว่า ในช่วงไตรมาส 2/61 จะมีกำไรลดลง หลังในไตรมาส 2/61 บริษัทจะต้องจ่ายค่าเช่าคลื่น 2300 MHz เป็นจำนวน 836 ล้านบาท ให้กับ บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) หรือ TOT

ด้าน บล.ฟิลลิป (ประเทศไทย) ระบุในบทวิเคราะห์ คาดว่า DTAC จะมีกำไรสุทธิอยู่ที่ 142 ล้านบาท ลดลง 81% จากไตรมาสเดียวกันปีก่อน และลดลง 89.2% จากไตรมาสก่อน หลัก ๆ มาจากค่าเช่าคลื่น 2300 MHz ที่ต้องจ่ายให้ TOT ปีละ 4,510 ล้านบาท ซึ่งจะเริ่มจ่ายในไตรมาส 2/61 จำนวน 836 ล้านบาท

สำหรับรายได้จากการให้บริการไม่รวมค่าเชื่อมโยงโครงข่าย (IC) ในไตรมาสเดียวกันปีก่อน คาดว่าจะลดลง 0.7% จากไตรมาสก่อน แต่เพิ่มขึ้น 1.5% จากไตรมาส 1/2561 แม้รายได้เฉลี่ยต่อเลขหมายต่อเดือน (ARPU) มีแนวโน้มเติบโต แต่คาดว่าจะยังเสียฐานลูกค้าต่อเนื่อง

ส่วนต้นทุนการให้บริการ (ไม่รวมคลื่น 2300 MHz) ในไตรมาส 2/2561 คาดว่าจะเพิ่มขึ้น 1.3% จากไตรมาสเดียวกันปีก่อน และเพิ่มขึ้น 2.2% จากไตรมาสก่อน แม้จะได้อานิสงส์จากค่าส่วนแบ่งรายได้ลดลงจากการย้ายลูกค้าระบบสัมปทานเป็นระบบใบอนุญาต แต่คาดว่าต้นทุนโครงข่ายจะเพิ่มขึ้นต่อเนื่องจากการเร่งขยายโครงข่าย 4G

ขณะที่ค่าใช้จ่ายในการขายและการบริหาร (SG&A) ในไตรมาส 2/2561 คาดว่าจะเพิ่มขึ้น 0.8% จากไตรมาสเดียวกันปีก่อน แต่ลดลง 0.9% จากไตรมาสก่อน โดยภาพรวมการแข่งขันในตลาดมือถือยังทรงตัว แม้ช่วงเดือน มิ.ย. 2561 DTAC จะเริ่มทำการตลาด DTAC Turbo (คลื่น 2300 MHz) แต่คาดว่าส่งผลกระทบในไตรมาส 2/2561 ไม่มากนัก ทำให้ปรับกำไรสุทธิปี 2561 มาอยู่ที่ 1,643 ล้านบาท ลดลง 22.3% จากปีก่อนที่มีกำไรสุทธิอยู่ที่ 2,115 ล้านบาท

ทั้งนี้ คาดการณ์ DTAC ไว้ 3 กรณี คือ

1.เข้าประมูลเพียง 900 MHz คาดว่าเป็นไปได้มากที่สุด และจะเป็นบวกต่อ DTAC โดยจะยังรักษา Coverage ไว้ได้ดังเดิม

2.เข้าประมูลทั้ง 900 MHz และ 1800 MHz คาดว่าจะนำคลื่น 1800 MHz ไปเสริมทัพ 4G ส่วนลูกค้า 2G ที่เหลืออยู่จะ roaming กับ ADVANC และทยอยโอนมาเป็น 3G/4G ต่อเนื่องอย่างไรก็ตามมองว่าการเข้าประมูล 1800 MHz ยังไม่ใช่ตัวเลือกที่ดีที่สุด เนื่องจากใบอนุญาต 1800 MHz จำนวน 1 ใบ (5 MHz) จะเพิ่มต้นทุนประมาณปีละ 834 ล้านบาท

รวมทั้ง 3. ไม่เข้าประมูลเลย มองว่าเสี่ยงเกินไป และคาดว่า DTAC จะไม่เล่นเกมเดิม โดยหาก กสทช.ไม่ให้มาตรการเยียวยาเลย DTAC จะประสบปัญหาการเสีย Coverage บางส่วนในพื้นที่ห่างไกล และอาจเกิดความแออัดของการใช้บริการบนคลื่น 2100 MHz เนื่องจากโครงข่าย 2300 MHz ยังครอบคลุมพื้นที่น้อย รวมทั้งเสี่ยงเสียส่วนแบ่งการตลาด (มาร์เก็ตแชร์) ต่อเนื่อง โดยคงคำแนะนำ “ซื้อ” ราคาพื้นฐานปี 2561 ที่ 46 บาท

โดย บล.ซีจีเอส-ซีไอเอ็มบี (ประเทศไทย) ระบุในบทวิเคราะห์ คาด DTAC ประกาศผลการดำเนินงานไตรมาส 2/60 คาดว่าจะมีกำไรปกติ130 ล้านบาท ลดลง 83% เมื่อเทียบจากปีก่อน และลดลง 87% เมื่อเทียบจากไตรมาสก่อน

Back to top button