ฝันร้ายมอนทารา

ในที่สุด ก็มีการตัดสินใจของบอร์ดบริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) หรือ PTTEP ในการขายหุ้นทั้งหมดในแหล่งน้ำมันดิบมอนทาราในประเทศออสเตรเลีย


พลวัตปี 2018 : วิษณุ โชลิตกุล

ในที่สุด ก็มีการตัดสินใจของบอร์ดบริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) หรือ PTTEP ในการขายหุ้นทั้งหมดในแหล่งน้ำมันดิบมอนทาราในประเทศออสเตรเลีย

แม้การตัดสินใจจะมีข้ออ้างที่ดีสนับสนุน เพราะเหตุผลว่า เนื่องจากแหล่งมอนทาราเป็น declining stage และหากดำเนินการต่อจะได้รับผลกระทบและจะไม่คุ้ม เพราะต้นทุนต่อหน่วย (unit cost) ที่สูงประมาณ 66 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล ขณะที่ค่าเฉลี่ยต้นทุนต่อหน่วยของบริษัทอยู่ที่ 30 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล

รวมถึงอาจจะเกิดภาวะหนี้สินขึ้นหากการถอนตัวออกมาไม่ถูกจังหวะหรือเนิ่นนานเกินไป โดย PTTEP มีกลยุทธ์ที่จะเน้นการให้ทรัพย์สินจากการดำเนินงานหลักอยู่ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มากขึ้น และลดความเสี่ยงในแหล่งผลิตที่อยู่ไกล แต่มีโอกาสที่จะได้ผลผลิตในเชิงพาณิชย์น้อย

ข้ออ้างในการขายที่ดีมากเท่าใดยิ่งสะท้อนให้เห็นว่าตอนที่เข้าลงทุนนั้น เต็มไปด้วยจุดอ่อน จะอ่อนเพราะด้อยประสบการณ์ หรืออ่อนเพราะจ่ายค่าโง่แพงเกิน หรือเพราะเหตุอื่นใด ที่ไม่ได้บอกต่อสาธารณะ ในส่วนที่เกี่ยวกับปัจจัยเสี่ยงของการลงทุนในต่างประเทศ

ว่าไปแล้ว มอนทารา ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของแหล่งขุดเจาะสำคัญ ถือว่าใหญ่มากทีเดียว คิดเป็นผลผลิตร้อยละ 70 ของการผลิตน้ำมันดิบและคอนเดนเสท (Condensate) ของประเทศออสเตรเลียทีเดียว โดยที่ บริษัทเจ้าของแท่นขุดเจาะคือ บริษัท ปตท.สผ. ออสตราเลเซีย (PTTEPAA) บริษัทลูกของ PTTEP ที่ไปดำเนินงาน

การเข้าลงทุนในแหล่งมอนทารา ในตอนแรกทำท่าจะเป็นขุมทรัพย์ใหม่ แต่เหตุการณ์ร้ายที่ตามมาหลอกหลอนยาวนานกับ PTTEP ได้เกิดขึ้น เมื่อวันที่ 21 สิงหาคม 2552 ที่มีการระเบิดของแท่นขุดเจาะน้ำมันและก๊าซธรรมชาติขึ้นที่แหล่งขุดเจาะน้ำมันมอนทารา นอกชายฝั่งตะวันตกเฉียงเหนือประเทศออสเตรเลียออกไป 250 กม. ในเขตน่านน้ำของออสเตรเลีย เป็นเหตุให้มีน้ำมันดิบและก๊าซรั่วไหลออกมาในทะเลเป็นจำนวนมาก

หลังเหตุเกิดขึ้นและผ่านไป PTTEPAA ได้ส่งผ่านบทบาทการทำความสะอาดคราบน้ำมันให้หน่วยงานความปลอดภัยทางทะเลของออสเตรเลีย (the Australian Maritime Safety Authority: AMSA) จัดการ ด้วยวิธีการล้อมคราบน้ำมันและดูดกลับรวมถึงฉีดสารเคมี (ยกเว้นการเผาที่ไม่ได้ทำ) โดยใช้เวลาในการระงับเหตุทั้งหมด 74 วัน มีน้ำมันดิบรั่วไหลออกมาเฉลี่ยวันละประมาณ 400 บาร์เรลต่อวัน รวมแล้วประมาณ 4 ล้านลิตร คราบน้ำมันที่แพร่กระจายไปในทะเลกินพื้นที่ถึง 90,000 ตารางกิโลเมตร…. นับว่าเป็นเหตุการณ์น้ำมันรั่วครั้งที่เลวร้ายที่สุดครั้งหนึ่ง แม้จะไม่ใช่เลวร้ายสุดของประเทศออสเตรเลีย

ต่อมา ในรายงานของคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริง (The Montara Inquiry Commission’s Report) ได้นำเสนอต่อสาธารณะในเดือนพฤศจิกายน 2553 ระบุว่า การที่บริษัท PTTEP ติดตั้งแนวกั้นในบ่อน้ำมันเพื่อป้องกันการรั่วไหลเพิ่มเติมนั้นดำเนินการอย่างไม่เพียงพอ และยังไม่ได้ติดตั้งแนวกั้นอันที่สองที่จำเป็นต้องทำอีกด้วย

นอกจากนี้รัฐมนตรีคนหนึ่งของออสเตรเลียที่เกี่ยวข้องยังออกมาแสดงความคิดเห็นเชิงลบว่า หาก PTTEP ซึ่งดำเนินการแท่นขุดเจาะมอนทาราและรัฐบาลท้องถิ่นนอร์ทเทิร์นเทอริทอรี (Northern Territory) ทำงานของตนอย่างเหมาะสม การระเบิดและรั่วไหลของน้ำมันออกสู่ทะเลติมอร์อย่างมหาศาลนี้จะไม่เกิดขึ้น

ท้ายสุด เมื่อมีการประเมินความเสียหายและผลกระทบเสร็จ ทางด้าน PTTEP และ PTTEPAA ได้แสดงความรับผิดชอบ ยินยอมชดใช้ค่าเสียหายไปแล้วกว่า 9.7 พันล้านบาท (ไม่รวมกับที่สามารถเคลมประกันได้) แต่ทาง PTTEP อ้างว่า ไม่ใช่การจ่ายค่าเสียหาย แต่เป็นค่าใช้จ่าย

ที่จริงเรื่องควรจบลง เพราะหลังกรณีมอนทารา PTTEP กับบริษัทลูก ยังคงได้รับการอนุญาตและมีบทบาทในการลงทุนทำธุรกิจดำเนินการสำรวจและขุดเจาะก๊าซและน้ำมัน รวมถึงการเจาะหลุมใหม่เพิ่มในทะเลติมอร์คือแหล่ง Cash and Maple gas fields สำหรับโครงการ LNG มูลค่าหลายพันล้านดอลลาร์

ประเด็นคือรัฐบาลอินโดนีเซีย และติมอร์ตะวันออกที่มองว่า ตนเองก็ได้รับความเสียหายเช่นกันจ้องหาเหตุเรียกค่าเสียหายบ้าง โดยที่ต่อมา รัฐบาลอินโดนีเซียดำเนินการฟ้องร้องในกรณีน้ำมันรั่วจากแหล่งมอนทาราในเขตสัมปทานที่ออสเตรเลียนั้น แต่ก็หลังจากเหตุการณ์ผ่านไปนานมาก

ทางด้าน PTTEP ก็มีประเด็นต่อสู้ว่า ทั้งสองประเทศ ไม่สามารถฟ้องร้องดำเนินคดีกับ PTTEP ได้ เนื่องจากประเทศไม่มีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ที่เพียงพอจะเอาผิดได้ ประกอบกับแผนที่กระแสน้ำทางทะเลที่ PTTEP นำมาใช้อ้างอิง ระบุว่า ทิศทางของกระแสน้ำในเขตมหาสมุทรบริเวณนั้นที่ไม่พัดเข้าไปในเขตน่านน้ำของทั้งสองประเทศ

แม้ล่าสุด การฟ้องร้องมีแนวโน้มยุติลง แต่ผลประกอบการของแหล่งมอนทาราเอง กลับไม่ดีขึ้น เป็นภาระ มากกว่าโอกาส เพราะ 1) แหล่งมอนทาราเป็น declining stage และหากดำเนินการต่อจะได้รับผลกระทบและจะไม่คุ้ม เพราะต้นทุนต่อหน่วย (unit cost) ที่สูงประมาณ 66 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล ขณะที่ค่าเฉลี่ยต้นทุนต่อหน่วยของบริษัทอยู่ที่ 30 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล 2) อัตรากำไร EBITDA margin) ของมอนทาราค่อนข้างต่ำประมาณ 50% เมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ยของ PTTEP ในแหล่งอื่น ๆ ที่ 70%

การใช้กลยุทธ์ “ถอนตัวออก” (exit strategy) จึงมีเหตุผลรองรับ

รายได้จากการขายแหล่งมอนทารา ตามที่มีการแถลงตรงกันของผู้ขายคือ PTTEP และผู้ซื้อ Jadestone Energy (Eagle) Pty Ltd คือ ด้วยมูลค่า 195 ล้านดอลลาร์สหรัฐอเมริกา แต่อาจจะมีการปรับขึ้นอีกไม่เกิน 160 ล้านเหรียญสหรัฐ จากการมีข้อตกลงที่ PTTEP อาจจะได้ Upside เพิ่มเพราะราคาน้ำมันยังมีโอกาสปรับขึ้น รวมถึงอาจจะมีผลประโยชน์เพิ่มเติมจากการดำเนินงานในอนาคต

มูลค่าที่ขาย อาจจะมีข้อถกเถียงว่าแพงไป ขาดทุน หรือถูกเกิน แต่การตัดสินใจดังกล่าวที่จะบรรจบกับการที่ PTTEP ต้องเตรียมเงินสดก้อนใหญ่เพื่อประมูลแหล่งแก๊สในอ่าวไทย 2 แหล่งปลายปีนี้ ก็น่าจะเข้าใจได้

เว้นเสียแต่ว่านักลงทุนบางราย อาจจะสวมวิญญาณของพวกเอ็นจีโอ หรือเครือข่ายต่อต้านปตท. ก็อาจไขว้เขวเป็นอีกเรื่องได้

ฝันร้ายมอนทารา ถือว่ายุติลงเบ็ดเสร็จจากดีลนี้

Back to top button