หุ้นเด่นครึ่งปีหลัง

คำถาม ? ที่ทุกคนอยากรู้คำตอบ... ว่านักลงทุนต่างชาติจะขายหุ้นไทยอีกจำนวนเท่าไร และอะไรคือสาเหตุที่นักลงทุนต่างชาติขายออกมาอย่างต่อเนื่อง ทั้งที่ภาวะเศรษฐกิจไทยและผลประกอบ


เส้นทางนักลงทุน

คำถาม ? ที่ทุกคนอยากรู้คำตอบ… ว่านักลงทุนต่างชาติจะขายหุ้นไทยอีกจำนวนเท่าไร และอะไรคือสาเหตุที่นักลงทุนต่างชาติขายออกมาอย่างต่อเนื่อง ทั้งที่ภาวะเศรษฐกิจไทยและผลประกอบการบริษัทจดทะเบียนยังมีแนวโน้มดี

นับตั้งแต่ต้นปี 2561 จนถึง ณ วันที่ 16 ก.ค. 2561 นักลงทุนต่างชาติขายสุทธิหุ้นไทยไปแล้ว 196,984.14 ล้านบาท  ถือเป็นตัวเลขที่สูงมาก แต่ถ้ารวมยอดขายสะสมสุทธิที่เกิดขึ้นตั้งแต่ปี 2560 ซึ่งเริ่มมีเงินทุนต่างประเทศทยอยไหลออกจากตลาดเกิดใหม่อย่างตลาดหุ้นไทยจะได้ยอดขายสะสมทั้งหมดสูงถึง 221,979.14 ล้านบาท

นับว่านักลงทุนต่างชาติเอาหุ้นที่ไหนมาขาย “ไม่สะเด็ดน้ำเสียที” เพราะถ้าดูจากยอดซื้อสะสมของนักลงทุนต่างชาติรอบปี 2552-2555 ซึ่งเป็นช่วงที่เงินไหลเข้าตลาดเกิดใหม่มากที่สุด (ผลพวงจากธนาคารกลางหลักของโลก อาทิ ธนาคารกลางสหรัฐ (FED), ธนาคารกลางสหภาพยุโรป (ECB), และธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) ดำเนินมาตรการผ่านคลายการเงินเชิงปริมาณ (QE) ก็เข้าแค่ 194,000 ล้านบาท

แต่ทว่าทำไมขาออก ถึงกลับออกไปมากกว่าขาเข้า หรือแม้แต่ในช่วงเกิดวิกฤติเศรษฐกิจโลกใหม่ปี 2551 รอบนั้นเงินทุนต่างชาติยังไหลออกแค่ 249,000 ล้านเท่านั้น

ดังนั้นด้วยตัวเลขข้างต้นสมมติฐานว่าแรงเทขายของนักลงทุนต่างชาติอาจมีอีกไม่มากแล้ว ซึ่งอาจไม่น่าจะเกินกว่าระดับ 27,000 ล้านบาท ทั้งนี้จึงไม่อยากให้นักลงทุนกังวลกับแรงขายของนักลงทุนต่างชาติชาติมากนัก เพราะช่วงครึ่งแรกปี 2561 มีการขายสุทธิออกมามากแล้ว

ขณะที่ปัจจุบันนักลงทุนที่มีบทบาทสำคัญกับความเคลื่อนไหวของตลาดหุ้นไทย คือ นักลงทุนสถาบันในประเทศและนักลงทุนทั่วไปในประเทศ  โดยนับตั้งแต่ต้นปี 2561 จนถึง ณ วันที่ 16 ก.ค. 2561 ทางนักลงทุนสถาบันในประเทศซื้อสุทธิไปแล้ว 99,681.11 ล้านบาท และนักลงทุนสถาบันในประเทศซื้อสุทธิไปแล้ว 113,409.99 ล้านบาท

ด้วยแรงซื้อของนักลงทุนสถาบันในประเทศและนักลงทุนทั่วไปในประเทศจะยังช่วงประคองตลาดหุ้นไทยได้แกร่งอยู่

ที่สำคัญยังมีข่าวดีในประเทศ อย่างกระทรวงพาณิชย์ปรับเป้าส่งออกปีนี้เป็นโต 9% จากเดิม 8% ประเด็นต่อมา สนช. ลงมติเลือก กกต. ใหม่ 5 คนจากที่เสนอมา 7 คน ซึ่งเพียงพอต่อการทำหน้าที่ตามกฎหมาย หนุนโอกาสเกิดการเลือกตั้งในปีหน้าเป็นไปอย่างราบรื่นขึ้น

นอกจากนี้หลายฝ่ายคาดว่าการประกาศงบไตรมาส 2/2561 ของบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ จะออกมาในเชิงบวก

ผลดังกล่าวจะทำให้การซื้อขายครึ่งหลังปี 2561 ในตลาดหลักทรัพย์ฯ มีโอกาสกลับมาคึกคักอีกครั้ง

ประเด็นหุ้นน่าลงทุนในครึ่งปีหลัง เน้นหุ้นอิงเศรษฐกิจในประเทศที่ได้ประโยชน์และวงจรการลงทุนรอบใหม่ โดยหุ้นที่น่าลงทุน กลุ่มรับเหมา ได้แก่ บริษัท ช.การช่าง จำกัด (มหาชน) หรือ CK (เป้าพื้นฐาน 38 บาท), บริษัท ซีฟโก้ จำกัด (มหาชน) หรือ SEAFCO (ราคาเป้าหมาย 11 บาท) กลุ่มนิคมฯ ได้แก่ บริษัท สวนอุตสาหกรรมโรจนะ จำกัด (มหาชน) หรือ ROJNA ( ราคาเป้าหมาย 7.7 บาท)

กลุ่มแบงก์ ได้แก่ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) หรือ BAY (ราคาเป้าหมาย 47 บาท), ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BBL ( ราคาเป้าหมาย 217 บาท), ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) หรือ KBANK (ราคาเป้าหมาย 223 บาท)

กลุ่มค้าปลีก ได้แก่ บริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) หรือ CPALL (ให้เป้าพื้นฐาน 93 บาท), บริษัท เบอร์ลี่ ยุคเกอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ BJC (ให้เป้าพื้นฐาน 62 บาท), บริษัท คอมเซเว่น จำกัด (มหาชน) หรือ COM7 (ราคาเป้าหมาย 20.5 บาท), บริษัท โฮม โปรดักส์ เซ็นเตอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ HMPRO (ให้เป้าพื้นฐาน 15.3 บาท) และอื่น ๆ ได้แก่ บริษัท อิออน ธนสินทรัพย์ (ไทยแลนด์) จำกัด (มหาชน) หรือ AEONTS (ราคาเป้าหมาย 192 บาท), บริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) หรือ BTS ( ราคาเป้าหมาย 11 บาท), บริษัท แพลน บี มีเดีย จำกัด (มหาชน) หรือ PLANB (ราคาเป้าหมาย 7.9 บาท)

หุ้นดังกล่าวเป็นการสมมติฐานว่าในช่วงครึ่งหลังปี 2561 ราคาหุ้นยังสามารถปรับตัวขึ้นได้ !!

Back to top button