ปลุกผีรอสโตว์ (กลายพันธุ์)

คงต้องพูดย้อนถึง Rostow’s Stages of Growth หรือลำดับขั้นการเติบโตทางเศรษฐกิจกันบ้าง แม้จะเป็นการขุดเอาเรื่องเก่ามาเล่าซ้ำ


พลวัตปี 2018  : วิษณุ โชลิตกุล

คงต้องพูดย้อนถึง Rostow’s Stages of Growth หรือลำดับขั้นการเติบโตทางเศรษฐกิจกันบ้าง แม้จะเป็นการขุดเอาเรื่องเก่ามาเล่าซ้ำ 

W.W. Rostow เป็นนักเศรษฐศาสตร์อเมริกัน ได้เขียนไว้ในหนังสือที่ทำให้เขาไปมีอิทธิพลทางทฤษฎีต่อธนาคารโลกและทำเนียบขาวยุคตั้งแต่เคนเนดี้ยาวนานนับ 1 ทศวรรษ ก่อนที่สหรัฐฯ จะถังแตกต้องฉีกข้อตกลงเบรตันวูด ในยุคริชาร์ด นิกสัน ว่า ในบรรดาชาติต่าง ๆ นั้น สามารถจัดลำดับชั้นความเปลี่ยนแปลงจากความด้อยพัฒนาไปสู่การพัฒนาระดับสูงสุดคือสังคมอุดมโภคาของแต่ละประเทศมีลำดับขั้นตอนโดยสามารถแบ่งออกได้เป็น 5 ขั้นตอน คือ

1) ขั้นลำดับดั้งเดิม (The traditional society)

2) ขั้นก่อนที่ระบบเศรษฐกิจจะทะยานขึ้น (The precondition for take-off)

3) ขั้นทะยานขึ้น (The take-off)

4) ขั้นผลักดันไปสู่ความเจริญเติบโตแบบเต็มที่ (The drive to maturity)

5) ขั้นอุดมโภคา หรือช่วงที่มีการบริโภคขนาดใหญ่ (The age of high mass consumption)

ตามแนวคิดของ Rostow นี้มีปัญหาว่าระยะเวลาแต่ละขั้นตอนมีเงื่อนเวลายาวนานแค่ไหน และแต่ละขั้นตอนมักมีความเหลื่อมซ้อนกัน ทำให้การแบ่งเขตแต่ละขั้นตอนทำได้ไม่ชัดเจน และอาจมีการผลักดันให้ข้ามขั้นตอนกันได้

ในประเทศกำลังพัฒนา ระบบเศรษฐกิจของประเทศเหล่านี้ยากที่จะแยกขั้นตอนตามที่ Rostow เสนอไว้เพราะมีปรากฏการณ์หลายขั้นตอนรวมอยู่ด้วยกัน เช่น บางส่วนของระบบเศรษฐกิจอาจเป็นแบบสังคมโบราณ ในขณะที่ส่วนอื่นมีลักษณะก่อนการทะยานขึ้น และในส่วนอื่น ๆ อาจจะได้ทะยานขึ้นเรียบร้อยแล้ว ตัวอย่างในเมืองใหญ่ ๆ ที่มีความเจริญก้าวหน้ามากกว่าชนบท

ดังนั้น ในระยะเวลาหนึ่ง ๆ สภาวการณ์ของทั้ง 5 ขั้นตอนของ Rostow อาจเกิดขึ้นพร้อม ๆ กันในแต่ละส่วนของระบบเศรษฐกิจก็ได้ โดยที่แต่ละขั้นตอนมิได้สูญสิ้นไปก่อนที่จะเกิดขั้นตอนใหม่ ๆ ขึ้น สภาพของระบบเศรษฐกิจบางส่วนยังล้าหลังอยู่ ในขณะที่ส่วนอื่น ๆ เจริญก้าวหน้าทันสมัยมีช่องว่างแตกต่างกันมากก็ได้

อิทธิพลของรอสโตว์ ทำให้ชาติต่าง ๆ นอกค่ายสังคมนิยมในยุคสงครามเย็น หันมายอมรับแนวทางของธนาคารโลกโดยสร้างแผนพัฒนาเศรษฐกิจ (และสังคม) กันเป็นการใหญ่ (รวมทั้งไทยด้วย) เพื่อเร่งให้ก้าวข้ามขั้นตอนจากลำดับขั้นดั้งเดิมไปสู่ขั้นสูงขึ้นสู่เตรียมทะยาน และทะยาน

ภายใต้กรอบคิดของรอสโตว์นั้น ในสังคมแบบดั้งเดิมการพัฒนาเศรษฐกิจยังอยู่ในสภาพที่ไม่มีการปรับปรุงนัก เพราะฉะนั้นจึงมีประสิทธิภาพการผลิตต่ำและมีสภาพสังคมที่ไม่เปิดโอกาสให้มีการปรับปรุงได้เมื่อประเทศเจริญขึ้นสู่สภาวะก่อนที่ระบบเศรษฐกิจจะทะยานขึ้น ประเทศต้องปรับปรุงบางส่วนของระบบเศรษฐกิจ โดยวิธีการ 1) เพิ่มประสิทธิภาพการผลิตทางการเกษตร 2) ส่งสินค้าออกให้มากขึ้น 3) มีการลงทุนด้านสาธารณูปโภค อาทิ การคมนาคม การขนส่ง การพัฒนาพลังงานหลายประเทศ 4) เร่งทำลายล้างสังคมและระบบการผลิตแบบเกษตรกรรมเพื่อทางลัดเข้าสู่อุตสาหกรรมทันทีทันใด (เช่นเกาหลีใต้ และไต้หวัน) 

เป้าหมายของแผนพัฒนาเศรษฐกิจ (และสังคม) ของทุกชาติ มักจะเน้นจุดสุดท้ายของการพัฒนานั่นคือ ให้สามารถบรรลุถึงขั้นทะยานขึ้น ที่สามารถประจักษ์ได้ในการพัฒนามาถึงขั้นผลักดันจะมีการใช้เทคโนโลยีทันสมัย มีการพัฒนาทรัพยากรธรรมชาติอย่างจริงจังและได้ผล ก่อนจะเปิดทางเลือกเพื่อไปสู่ขั้นสุดท้าย 3 ทาง คือ 1) การพัฒนา/สร้างความมั่นคงทางสังคม 2) การขยายอำนาจออกไป 3) การเพิ่มปริมาณสินค้าอุปโภคนานาชนิด

เงื่อนไขสำคัญของความสามารถในการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของแต่ละประเทศ คืออัตราการพัฒนาอย่างรวดเร็วของอุตสาหกรรมพื้นฐาน 2–3 ประเภท (โดยเฉพาะเหล็ก, พลังงาน, ก่อสร้าง และ การเงิน) ซึ่งอุตสาหกรรมสำคัญนั้นจะเป็นอะไรก็ได้ขึ้นอยู่กับสภาพบริบทของแต่ละประเทศ เมื่ออุตสาหกรรมหนึ่งเจริญก็ทำให้อุตสาหกรรมอื่นที่เกี่ยวข้องเจริญไปด้วย และการที่เศรษฐกิจแต่ละขั้นต่างกันนั้นขึ้นอยู่กับปัจจัย 3 ประการ คือ

– ขนาดของรายได้

– ประเภทของอุปสงค์

– การตัดสินใจเรื่องนโยบาย

ความสำเร็จในบางประเทศบ่งชี้อิทธิพลของรอสโตว์ที่ “ถูกที่ ถูกเวลา” แต่ก็มีอีกหลายประเทศหรือส่วนใหญ่ก็ล้มเหลว เพราะโครงสร้างอำนาจการเมืองที่เปราะบาง กลับนำไปสู่การคอร์รัปชันอย่างทั่วด้าน

หลังจากสหรัฐฯ ฉีกข้อตกลงเบรตันวูด อิทธิพลของรอสโตว์และเศรษฐศาสตร์พัฒนาการก็เสื่อมถอยลง ยิ่งหลังจากข้อตกลงพลาซ่าผ่านไป ก็ไม่เคยมีใครเอ่ยถึงกันอีกมากนัก เนื่องจากความรู้ด้านเศรษฐศาสตร์ที่ถูกใช้มากกลายเป็นด้านทฤษฎีการเงิน และเคนส์เป็นกระแสหลัก

วันนี้ เมื่อโลกเคลื่อนตัวสู่สงครามการค้าที่มีคู่ต่อกรหลักคือสหรัฐฯ กับ จีน ผสมกับความจำเป็นในการใช้กลไกรัฐขับเคลื่อนเศรษฐกิจเดินหน้าครั้งใหม่ผ่านการลงทุนด้านสาธารณูปโภค แนวคิดของรอสโตว์จึงทำท่ากลายพันธุ์กลับมาให้รัฐต่าง ๆ ใช้กันใหม่

เพียงแต่ว่า เป้าหมายสร้างสังคมอุดมโภคาแบบที่รอสโตว์เคยเสนอในอดีตนั้น ไม่ได้มีการตอกย้ำอะไรมากนัก 

Back to top button