พาราสาวะถี

ปากก็บอกว่าไม่พูดเรื่องการเมือง แต่ทุกเวลาที่ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ไปเป็นประธานเปิดงาน พูดเรื่องการเมืองล้วน ๆ โดยส่วนใหญ่ไม่ได้มีเนื้อหาสาระเกี่ยวข้องกับงานเลยแม้แต่น้อย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการเลือกตั้งเกิดขึ้นแน่ต้นปีหน้า ถ้าไม่มีการตีกันเสียก่อน ประชาธิปไตยแค่เปลือกเอาแต่จ้องจะเลือกตั้ง ก่อนที่จะตบท้ายด้วยการโชว์ผลงานของรัฐบาลนี้ทั้งประชารัฐและไทยนิยมยั่งยืน


อรชุน

ปากก็บอกว่าไม่พูดเรื่องการเมือง แต่ทุกเวลาที่ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ไปเป็นประธานเปิดงาน พูดเรื่องการเมืองล้วน ๆ โดยส่วนใหญ่ไม่ได้มีเนื้อหาสาระเกี่ยวข้องกับงานเลยแม้แต่น้อย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการเลือกตั้งเกิดขึ้นแน่ต้นปีหน้า ถ้าไม่มีการตีกันเสียก่อน ประชาธิปไตยแค่เปลือกเอาแต่จ้องจะเลือกตั้ง ก่อนที่จะตบท้ายด้วยการโชว์ผลงานของรัฐบาลนี้ทั้งประชารัฐและไทยนิยมยั่งยืน

คงไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจอะไร มาถึงตรงนี้คนไทยทุกคนต่างรู้กันดีว่า ไม่ว่าจะเป็นเวทีใด สิ่งที่ท่านผู้นำจะไปพูดนั้นแทบจะเขียนข่าวรอได้เลย คนฟังอาจจะไม่เบื่อเพราะเปลี่ยนหน้าเปลี่ยนสถานที่ แต่น่าสงสารคนที่พูด ทีมงานไม่คิดที่จะเปลี่ยนบทหรือสร้างเนื้อหาใหม่เพื่อสร้างแรงดึงดูดใจจากคนทั่วไป หรืออย่างน้อยก็ทำให้เห็นว่าท่านผู้นำมีวิสัยทัศน์กว้างไกล และปรับเปลี่ยนตัวเองรวมทั้งกระบวนการทำงาน ตามกระแสโลกที่เปลี่ยนแปลงตลอดเวลา

หรือว่านี่เป็นความต้องการของท่านผู้นำ คือไม่ตอบคำถามสื่อมวลชน งดให้สัมภาษณ์ แล้วก็พูดในสิ่งที่คิดว่าตัวเองสบายใจ โดยไม่สนใจว่าคนฟังจะรู้สึกอย่างไรหรือสารที่สื่อออกไปนั้นจะซ้ำซาก จำเจหรือไม่ อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ควบคู่มากับท่าทีของท่านผู้นำที่พยายามจะปรับเปลี่ยนในช่วงนี้กลับเป็นเรื่องที่ทำให้เสียคะแนนนิยมเปล่า ๆ ปรี้ ๆ และกลายเป็นการสร้างภาพลักษณ์ที่เสียหายให้กับท่านผู้นำไปเสียฉิบ

นั่นก็คือ การออกระเบียบควบคุมการปฏิบัติงานของสื่อมวลชนที่ติดตามทำข่าวพลเอกประยุทธ์ ไม่ว่าจะเป็นช่างภาพต้องโค้งคำนับทุกครั้งก่อนและหลังการถ่ายภาพท่านผู้นำ และต้องยืนระยะห่างกันอย่างน้อย 5 เมตร ร้อนถึง “ไก่อู” สรรเสริญ แก้วกำเนิด ต้องรีบออกมาปฏิเสธ และตามสไตล์ต้องหาเหตุมาแก้ตัวและยัดเยียดความผิดให้ฝ่ายหนึ่งฝ่ายใด

โดยคำชี้แจงของไก่อูคือระเบียบดังกล่าวเป็นของเก่าตั้งแต่ปี 2558 จึงไม่เข้าใจว่าทำไมถูกนำมาเผยแพร่ตอนนี้ จนเกิดการวิพากษ์วิจารณ์กันในกลุ่มสื่อมวลชนและคนที่ได้พบเห็น ก่อนที่จะออกตัวว่านายกฯ ไม่ต้องการให้เกิดความเข้าใจผิด หรือเกิดปัญหาการทำงานระหว่างทีมนายกรัฐมนตรีและสื่อมวลชน พร้อมกำชับให้กองบัญชาการตำรวจสันติบาลไปพิจารณาทบทวนและถอนออกจากข้อปฏิบัติ

คำอธิบายแรก เรื่องว่าทำไมถูกนำมาเผยแพร่เวลานี้ทั้งที่เป็นเอกสารเก่า นักข่าวที่ตามนายกฯ ยืนยันทันทีว่าเอกสารดังกล่าวได้นำมาวางไว้ให้ลงทะเบียนที่จุดลงทะเบียนของงาน Thailand Social Expo 2018 ที่ศูนย์แสดงสินค้าและการประชุมอิมแพค เมืองทองธานี ซึ่งนายกฯ ไปเปิดงานเมื่อช่วงเช้าวันศุกร์ที่ผ่านมา โดยเจ้าหน้าที่ได้ขอให้ช่างภาพเซ็นชื่อพร้อมเลขบัตรประจำตัวประชาชน 13 หลัก ซึ่งทุกคนเห็นเอกสารอย่างชัดเจน ไม่ใช่เป็นเอกสารเก่า โดยเจ้าหน้าที่สันติบาลที่ตรวจกล้องอยู่ก็เห็น

นั่นหมายความว่า สื่อมวลชนไม่ได้ไปนำเอกสารเก่ามาเขียนเป็นข่าวใหม่แต่อย่างใด พร้อมยืนยันด้วยว่า ผู้ดำเนินรายการได้มีการประกาศผ่านไมโครโฟนถึงข้อห้ามหลายข้อสำหรับสื่อซึ่งได้ยินกันทั้งหมด แหม ! อย่างนี้ก็ทำให้ท่านโฆษกหน้าแหกนะสิ มิหนำซ้ำ พอฟังคำอธิบายจาก พลตำรวจตรีชยพล ฉัตรชัยเดช รองผู้บัญชาการตำรวจสันติบาล ก็ยิ่งชวนให้กังขาหนักเข้าไปอีก

เพราะคำชี้แจงยืนยันว่า โดยปกติแล้วอำนาจหน้าที่ในการดูแลปฏิบัติร่วมกับสื่อมวลชนในภารกิจของนายกรัฐมนตรี เป็นอำนาจหน้าที่ความรับผิดชอบของกองบังคับการตำรวจสันติบาล 3 ไม่ใช่กองบังคับการตำรวจสันติบาล 1 หรือบก.ส.1 ดังนั้น การปรากฏเอกสารที่อ้างว่าเป็นข้อบังคับข้อปฏิบัติจากบก.ส.1 จึงเป็นเรื่องไม่ปกติ

ถามว่าไม่ปกติอย่างไร ปล่อยให้มีการทำงานกันแบบมั่วซั่วอย่างนั้นหรือ ประเด็นนี้ย่อมมีที่มาที่ไป เมื่อย้อนกลับไปดูท่วงทำนองของท่านผู้นำก็จะเห็นได้ชัดว่ามีการตำหนิสื่ออย่างต่อเนื่องในช่วง 2-3 สัปดาห์ที่ผ่านมา เป็นการแสดงความไม่พอใจในการนำเสนอข่าววิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลและคสช. ด้วยเหตุนี้หรือเปล่าจึงเป็นเหตุให้ต้องมีการตีกรอบการทำงานของสื่อมวลชน

ยิ่งย้อนกลับไปดูกรณีความพยายามในการออกกฎหมายเพื่อกำกับดูแลองค์กรและผู้ประกอบวิชาชีพสื่อขององคาพยพคณะเผด็จการชุดนี้แล้ว มันจึงชวนให้เกิดข้อสงสัยต่อสิ่งที่เกิดขึ้นหนนี้เป็นอย่างยิ่ง อย่างไรก็ดี เมื่อท่านผู้นำยืนยันว่าไม่มีความต้องการจะให้เป็นเช่นนั้น หรือนี่จะเป็นเรื่องทำนองนายไม่ได้ว่าแต่ขี้ข้าสอพลอทำไปหวังเอาใจเจ้านาย

ลำพังสื่อในประเทศอาจจะดำเนินการอย่างไรก็ได้ เพราะอีกด้านอย่างที่รู้กันมีผู้บริหารสื่อบางสำนักก็พร้อมที่จะเชื่อฟังอำนาจเผด็จการแต่โดยดีอยู่แล้ว แต่สำหรับสื่อต่างชาติไม่ใช่ ที่เห็นได้ชัดและกำลังรอคำตอบจากท่านผู้นำหรือคนในรัฐบาลก็คือ กรณีบทความของจาการ์ตา โพสต์ สื่อหลักของอินโดนีเซียที่แนะ อย่าให้ผู้นำเผด็จการทหารไทยนั่งเป็นประธานอาเซียนในปีหน้า

น่าสนใจตรงที่สื่อดังกล่าว ระบุตรงไปตรงมา การรัฐประหารของไทยไม่คู่ควรกับตำแหน่งท่ามกลางคลื่นที่แข็งแกร่งของความเป็นประชาธิปไตยในภูมิภาคนี้ ประเทศไทยสมควรได้รับสิทธิในเก้าอี้ประธานอาเซียนแต่ต้องไม่ควรอยู่ภายใต้การรัฐประหารที่มีอย่างต่อเนื่องและปล้นจากประชาชนเมื่อ 4 ปีที่แล้ว ก่อนที่จะนั่งเก้าอี้อาเซียนในปีหน้า พลเอกประยุทธ์ควรมุ่งมั่นในการเดินหน้าเลือกตั้งที่เสรีและเป็นประชาธิปไตย ถ้าไม่ทำอย่างนั้นเขาก็ไม่คู่ควรกับเก้าอี้นี้ในปีหน้า

แม้จะดูดุเดือด แต่สื่อดังกล่าวก็ไม่ได้ตีกันหรือห้ามไม่ให้ไทยนั่งเป็นประธานอาเซียน เพียงแต่ตอกย้ำว่าอยากให้ไทยมีเลือกตั้งในปีหน้าตามคำมั่นสัญญา ถ้ามีรัฐบาลจากการเลือกตั้งแล้วก็ไม่เป็นปัญหา นั่นคงไม่ใช่สาระสำคัญ เพราะหากพิจารณากันอย่างลึกซึ้งแล้ว การตีพิมพ์บทความลักษณะเช่นนี้เหมือนเป็นการตบหน้าหรือดิสเครดิตประเทศไทยไปในตัว

ต้องไม่ลืมว่า หลังจากที่เรามีรัฐธรรมนูญปี 2540 และมีรัฐบาลจากการเลือกตั้งตามรัฐธรรมนูญฉบับดังกล่าว ไทยถูกยกให้เป็นประเทศแม่แบบของการพัฒนาประชาธิปไตยที่แข็งแรงของภูมิภาคอาเซียน แต่สิบกว่าปีที่ผ่านมา จากวิกฤติเทียมที่สร้างขึ้นเพื่อปูทางให้เกิดการรัฐประหาร ภาพลักษณ์ด้านนี้ของประเทศไทยกลับตาลปัตรไปเป็นคนละด้าน จนชวนให้เกิดข้อคำถามว่าคุ้มหรือไม่กับการล้มระบอบทักษิณแล้วนำพาประเทศถอยหลังเข้าคลอง ย้อนยุคชนิดที่ต้องอายเพื่อนบ้านแม้แต่ประเทศพม่า

Back to top button