คุณตลาดกับส่วนต่างความปลอดภัย

ปรากฏการณ์ตลาด 2 วันในสัปดาห์นี้ บ่งบอกการต่อสู้ระหว่าง 2 ปัจจัยของการลงทุนในพอร์ตโฟลิโอที่ เบนจามิน แกรห์ม ปรมาจารย์การลงทุนที่ยิ่งใหญ่ที่สุดแห่งการลงทุนแบบเน้นคุณค่า “แกรห์ม ว่าด้วย อารมณ์คุณตลาด และ ส่วนต่างความปลอดภัยที่ไม่ลงตัว”


พลวัตปี 2018 : วิษณุ โชลิตกุล

ปรากฏการณ์ตลาด 2 วันในสัปดาห์นี้ บ่งบอกการต่อสู้ระหว่าง 2 ปัจจัยของการลงทุนในพอร์ตโฟลิโอที่ เบนจามิน แกรห์ม ปรมาจารย์การลงทุนที่ยิ่งใหญ่ที่สุดแห่งการลงทุนแบบเน้นคุณค่า “แกรห์ม ว่าด้วย อารมณ์คุณตลาด และ ส่วนต่างความปลอดภัยที่ไม่ลงตัว

ตำนานเล็ก ๆ ว่าด้วยการลงทุนของนักฟิสิกส์ผู้ยิ่งใหญ่อมตะของโลก เซอร์ไอแซค นิวตัน ปรากฏในหนังสือว่าด้วยการลงทุนของแกรห์มว่า ท่านเซอร์ผู้นี้เป็นนักลงทุนเช่นกัน โดยถลำตัวตามกระแส เคยลงทุนในหุ้นบริษัทเซาท์ซี (South Sea) ที่ลงทุนในสหรัฐฯ ในรัฐมิสซิสซิปปีของสหรัฐฯ

ในช่วงหนึ่งราคาหุ้นบริษัทนี้ ปรับตัวขึ้นสูงมากอย่างไม่มีเหตุผล ท่านจึงตัดสินใจล้างพอร์ตของท่านทำกำไรไปประมาณ 7,000 ปอนด์ นับว่าเป็นการตัดสินใจที่ดี แต่ในที่สุดราคาหุ้นก็ยังปรับตัวสูงขึ้นหลังจากท่านขายออกไปแล้ว ท่านเซอร์ผู้ยิ่งใหญ่ทนไม่ไหวกลับเข้าไปซื้อหุ้นนี้อีกในราคาที่สูงกว่าที่ขายออกไป สุดท้ายท่านขาดทุนไป 20,000 ปอนด์ ถ้าหากคิดมูลค่าปัจจุบันแล้วก็น่าจะราว ๆ 3 ล้านเหรียญสหรัฐ เอาเป็นเงินไทยน่าจะประมาณ 10 ล้านบาท

เซอร์ไอแซคเจ็บใจกับการเสียค่าโง่อย่างมาก ห้ามมิให้ใครพูดคำว่า เซาท์ซีให้ได้ยินอีกตลอดชีวิต

ตำนานของแกรห์ม เป็นคติสอนใจได้ดี และดูย้อนแย้งกับ ข้อมูลล่าสุดของสมาคมนักวิเคราะห์ไทยระบุว่าเกือบ 50% ของนักวิเคราะห์ที่สำรวจมา มีมุมมองว่าสิ้นเดือนสิงหาคมนี้ ดัชนี SET น่าจะยืนเหนือ 1,720 จุด ขณะที่มีแค่ 7% มีมุมมองเชิงลบ

ข้อมูลระบุว่า แม้นักวิเคราะห์เองก็ยังไม่สงบนิ่งจนเกิดฉันทามติว่าด้วยทิศทางของดัชนี เพราะข้อมูลไม่สมบูรณ์ และถึงแม้ว่าจะสมบูรณ์แค่ไหนก็ยากจะคาดเดาสถานการณ์ทั้งปัจจัยภายในและภายนอกตลาดได้ ทำให้เป็นประเด็นที่ต้องย้อนกลับไปพิจารณาความรู้ของแกรห์มใหม่อีกรอบ

หนังสือสองเล่มของแกรห์ม ซึ่งโด่งดังและได้รับการยอมรับสูงมากในแวดวงการลงทุนสหรัฐฯ นั่นก็คือ “Security Analysis” หรือ “การวิเคราะห์หลักทรัพย์” และ “The Intelligent Investor” หรือ “นักลงทุนผู้ชาญฉลาด” การ “ใช้เหตุผล” ในการลงทุน โดยให้คว้าโอกาสจากความผิดพลาดของตลาด อย่าไปบ้าคลั่งตามมัน ไม่ว่านักลงทุนจะเป็นพวก “ชาวสวน” หรือ “ชาวไล่” หรือ “ชาวเกาะ”

แกรห์มเปรียบเทียบตลาดหุ้นซึ่งมีแต่ความผันผวนและไร้เหตุผล เป็นเสมือนมนุษย์คนหนึ่ง สมมุติชื่อว่า “Mr.Market” หรือ “คุณตลาด” ชายผู้มีพฤติกรรมแปรปรวน บางวันก็ตื่นกลัวจนไร้สติ บางวันก็อารมณ์ดีเกินเหตุ ซึ่งนักลงทุนไม่สามารถปฏิเสธอารมณ์ดังกล่าว จะต้องไม่ถลำลึกไปกับอารมณ์ร่วมนั้น แต่ต้องรู้จักหาประโยชน์จากความไม่มีเหตุผลของเพื่อนที่แสนดี แต่ไร้สติรายนี้ให้ได้อย่างเท่าทัน

อารมณ์ของคุณตลาด (ซึ่งแสดงให้เห็นผ่านสัญญาณทางเทคนิคของราคาหุ้น) เป็นการแสดงออกซึ่งทัศนคติร่วมเฉพาะหน้าของนักลงทุนในตลาดที่มีบทบาทครอบงำการซื้อขายในช่วงเวลาสั้น ๆ ซึ่งสามารถแปรเปลี่ยนไปมา ดังที่เกิดขึ้นเป็นแรงซื้อที่ดันดัชนีตลาดบวกหรือลบกันอย่างมาก เป็นปรากฏการณ์ปกติซึ่งยังคงนำมาปรับใช้ได้เรื่อย ๆ

แกรห์มบอกว่า คุณตลาด มีวิธีการสร้างความคุ้นเคยฉันเพื่อนที่คุ้นเคยยิ่งในทุกเช้าของวันที่ตลาดเปิดทำการ แล้วพยายามให้คำชี้แนะว่าหุ้นที่ซื้อขายกันในตลาดวานนี้ที่เขาสนใจเป็นอย่างไร ทั้งด้านราคาเปิด ราคาปิด และความเคลื่อนไหวระหว่างวัน แล้วระบุว่า เส้นสัญญาณทางเทคนิคบอกเอาไว้ และเบื้องหลังการเปลี่ยนแปลงราคาจากปัจจัยอะไร ก่อนจบด้วยการแย้มเคล็ดลับที่ทำให้สามารถหากำไรจากหุ้นเด็ดแห่งวัน

คุณตลาดมุ่งสร้างอิทธิพลครอบงำนักลงทุน ทำให้เกิดความมั่นใจว่า การตัดสินใจ ซื้อ ถือ หรือขาย ไม่ต้องใส่ใจว่าจะสัมพันธ์กับคุณค่าทางบัญชีหรือผลประกอบการของบริษัทเจ้าของหุ้น เพราะราคาสามารถเคลื่อนไหวอย่างเป็นอิสระในระยะสั้น ๆ ตามกลไกของตลาด คือ แรงขายสู้กับแรงซื้อ

วิธีดังกล่าว คุณตลาดสร้างอิทธิพลเหนืออารมณ์อยากซื้อหรืออยากขายให้นักลงทุน ซึ่งแก้ไขได้ยาก เพราะนักลงทุนที่ไหนก็มีซ่อนอยู่ในตัว ทั้งที่ว่าไปแล้วอารมณ์อยากซื้อและขาย เกิดจากจินตนาการมากกว่าจากข้อเท็จจริง

ยามใดนักลงทุนที่รู้สึกอิ่มเอิบ จะมองเห็นข้อดีเต็มไปหมด ลนลานซื้อมือเป็นระวิง กลัวจะถูกคนอื่นแย่งซื้อก่อน แต่หากมีอารมณ์ตรงข้ามที่รู้สึกหดหู่เศร้าหมอง ก็อยากจะสั่งขายอย่างเดียว

อารมณ์แปรปรวนเช่นนี้ เมื่อใดที่นักลงทุนติดกับดักคุณตลาด จะติดตัวไปยาวนาน แต่ยามใดนักลงทุนเริ่มรู้ทัน คุณตลาดจะหายหน้าหลบลี้ไปชั่วขณะ ก่อนจะย้อนกลับมาทำหน้าที่ให้บริการข้อมูลและชี้นำต่อไป อย่างสงบนิ่ง เปี่ยมอุเบกขา

หนึ่งในเกราะกำบังที่แกรห์มระบุ อยู่ที่การเข้าซื้อหุ้นเพื่อลงทุนนั้น ควรมี “Margin of Safety” หรือ “ส่วนต่างความปลอดภัย” ราคาหุ้นที่เข้าไปซื้อ ต้องต่ำกว่า “Intrinsic Value” หรือ “มูลค่าโดยเนื้อแท้” ของบริษัท เพื่อเป็นเกราะป้องกันความเสียหายจากการลงทุนหากเกิดเหตุการณ์ที่ไม่คาดคิด

แม้หลักการลงทุนของแกรห์ม เน้นไปที่ “คุณภาพ” ของกิจการมากขึ้น มิใช่ดูแค่เพียง “ตัวเลข” ทางเทคนิค จะเป็นการเสนอการลงทุนในหลักที่ “เข้มงวด” และมีความเป็น “อนุรักษนิยม” จนเกินไป ทั้งยังเน้นหนักแต่ตัวเลขและงบการเงิน ซึ่งนักลงทุนอาจสูญเสียโอกาสในการลงทุนงาม ๆ มากมาย แต่ก็ถือว่าคุ้มค่าเมื่อคิดจากปัจจัยเสี่ยง

นักลงทุนผู้ชาญฉลาด หรือ Intelligent Investor ที่เอาชนะ “คุณตลาด” ได้ ในความหมายของแกรห์มไม่ได้หมายความว่า นักลงทุนคนนั้นเป็นผู้ที่มีความฉลาดทางปัญญา หรือไอคิวสูง หรือมีการศึกษาที่สูง แต่หมายถึงนักลงทุนที่มีอุปนิสัยดังนี้

  • มีความอดทน และมีวินัยในการลงทุน
  • ขวนขวายหาความรู้อยู่เสมอ
  • ศึกษาและทำความเข้าใจกิจการอย่างละเอียดรอบคอบ ก่อนที่จะตัดสินใจซื้อหุ้นนั้น ๆ
  • ควบคุมอารมณ์ไม่ให้มาก้าวก่ายเหตุผลได้เป็นอย่างดี

ตัวอย่างที่เป็นกรณีศึกษาเช่นเซอร์ไอแซค นิวตัน ที่มีความฉลาดปราดเปรื่องมาก ๆ ยังพลาดได้ในตลาดหุ้น ซึ่งก็ไม่แปลกหากนักลงทุนทั่วไปจะพลาดกับตลาดหุ้นจนย่ำแย่ นั่นไม่ได้หมายความว่าเราไม่ฉลาด เพียงแต่อุปนิสัยสำคัญของการเป็นนักลงทุนผู้ชาญฉลาดยังไม่มากเพียงพอมากกว่า

คนอย่างเซอร์ไอแซค นิวตัน ที่มาพลาดตอนจบ เพราะไม่สามารถควบคุมอารมณ์ไม่ให้มาก้าวก่ายเหตุผลได้ ปล่อยให้ความโลภครอบงำความกลัว จนลืมไปว่า ไม่มีเหตุผลใด ๆ มาสนับสนุนให้ราคามันสูงขึ้นได้ขนาดนั้น เป็นบทเรียนพื้น ๆ ที่นักลงทุนต้องจำ แต่มักจะลืมทุกทีเวลาสีเขียวขึ้นหน้ากระดาน

คำถามคือ ยามนี้ นักลงทุนควรถือความโลภ หรือความกลัวมากกว่ากัน เป็นโจทย์ที่ท้าทายอย่างมาก

Back to top button