เป้า 1,750 จุด และ ฟันด์โฟลว์

ตลาดหุ้นไทยวานนี้เริงร่ากันอีกครั้ง เมื่อดัชนีทะลุเหนือแนวต้าน 1,720 จุดไปได้


พลวัตปี 2018 : วิษณุ โชลิตกุล

ตลาดหุ้นไทยวานนี้เริงร่ากันอีกครั้ง เมื่อดัชนีทะลุเหนือแนวต้าน 1,720 จุดไปได้

แม้แรงซื้อขายไม่ได้มากมายผิดปกติ แต่นักวิเคราะห์ฟันธงว่า เกิดจากฟันด์โฟลว์ไหลเข้าระลอกใหม่

มีข้อมูลยืนยันจากค่าบาทที่แข็งขึ้นเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ คือแรงหนุนของเงินทุนไหลเข้า โดยเฉพาะตลาดในกลุ่ม TIP (ไทย อินโดนีเชีย และฟิลิปปินส์) ที่เข้ามา 3 วันซ้อนแล้ว และยังได้แรงหนุนจากค่าเงินในเอเชียกลับมาแข็งค่าขึ้นด้วย ทำให้ตลาดหุ้นในภูมิภาคเอเชียขับเคลื่อนด้วยปัจจัยบวก ส่งผลให้เช้านี้ตลาดหุ้นในเอเชียส่วนใหญ่จะปรับตัวขึ้นเฉลี่ย 0.3% ยกเว้นตลาดหุ้นจีนที่ปรับฐานอยู่

ไม่เพียงเท่านั้นในการประชุม กนง.วานนี้ แม้จะมีมติคงอัตราดอกเบี้ย แต่ก็มีการส่งสัญญาณการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย ซึ่งเท่ากับเป็นแรงหนุนให้กับหุ้นแบงก์ขนาดใหญ่ได้ดี ซึ่งก็มีโอกาสเพราะเงินเฟ้อไทยเริ่มกลับมาปรับตัวสูงขึ้น

สัญญาณเทคนิคที่บ่งบอกว่า โอกาสที่ดัชนีภายในเดือนสิงหาคมนี้จะทะลุเข้าแนวต้าน 1,750 จุด จึงไม่ใช่ของเล่น หรือภาพลวงตาแต่อย่างใด เพราะการไหลกลับระลอกใหม่ของฟันด์โฟลว์ หลังจาก​ 7 เดือนแรกของปีนี้ มีแรงขายสุทธิของฟันด์โฟลว์ในตลาดหุ้นไทยไปแล้วกว่า 1.9 แสนล้านบาท เพิ่งจะกลับมาซื้อต่อเนื่องในช่วง 2 สัปดาห์นี้เอง

ความสำคัญของฟันด์โฟลว์ของต่างชาติในตลาดทุนไทยนั้น มีค่อนข้างสูง จนสามารถเรียกได้ว่าทรงอิทธิพลกลุ่มหนึ่งเลยทีเดียว

การไหลเข้าของฟันด์โฟลว์มาที่ตลาดตราสารหนี้และตลาดหุ้น ทำให้ค่าเงินบาทแข็งค่า และดัชนีตลาดหุ้นไทยปรับตัวเป็นขาขึ้น โดยไม่จำเป็นต้องสะท้อนหรือสัมพันธ์กับปัจจัยทางเศรษฐกิจภายในของไทยเสมอไปเพราะฟันด์โฟลว์อาจจะไหลเข้าในยามที่เศรษฐกิจไทย หรือผลประกอบการของบริษัทในตลาดหุ้นย่ำแย่ก็ได้

เช่นเดียวกัน การไหลออกของฟันด์โฟลว์ก็ทำให้เงินบาทอ่อนค่า และดัชนีหุ้นไทยร่วงเป็นขาลงอย่างมีนัยสำคัญ ก็ไม่จำเป็นต้องสะท้อนหรือสัมพันธ์กับปัจจัยทางเศรษฐกิจภายในของไทยเสมอไป เพราะบางครั้งฟันด์โฟลว์อาจจะไหลออกในยามที่เศรษฐกิจไทยและผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียนในตลาดกำลังดีขึ้น

ข้อมูลเชิงสถิติของตลาดหุ้นไทยในรอบ 3 ปีนี้ ก็ทำให้มีคำถามตามมาไม่น้อยเช่นกัน เพราะในปี 2558 ที่มีฟันด์โฟลว์ต่างชาติไหลออกมากถึง 2 แสนล้านบาทนั้น ปรากฏว่าดัชนีตลาดหุ้นไทยบวกแรงกว่า 200 จุดจากต้นปี แต่ในปี 2559 ฟันด์โฟลว์ต่างชาติที่ไหลออกแค่เพียง 7 หมื่นล้านบาท กลับทำให้ดัชนีตลาดหุ้นไทยร่วงลงกว่า 350 จุด และในปี 2560 ฟันด์โฟลว์ไหลเข้าเป็นบวกมากถึง 1 แสนล้านบาทเศษ (แม้จะถอยจากตลาดหุ้นประมาณ 2 หมื่นล้านบาท) ทำให้ดัชนีตลาดหุ้นไทยบวกไปประมาณ 250 จุด

ความลักลั่นกันของฟันด์โฟลว์ต่างชาติ และความรุ่งเรืองหรือย่ำแย่ของเศรษฐกิจไทยหรือผลประกอบการบริษัทจดทะเบียนในตลาดหุ้นไทยเช่นนี้ ทำให้ผลการศึกษาวิจัยในอดีตของเจ้าหน้าที่แบงก์ชาติของไทย ที่เคยหาข้อสรุปว่าด้วยความสัมพันธ์ของเงินทุนเคลื่อนย้าย (ฟันด์โฟลว์) ในเชิงสถิติว่า ปัจจัยที่มีผลต่อเงินทุนเคลื่อนย้ายเรียงลำดับจากมากไปหาน้อย ได้แก่ 1) ความเชื่อมั่นของนักลงทุนต่างชาติที่มีต่อภาวะเศรษฐกิจโดยรวมของไทย ทั้งในด้าน Risk on (กล้าเสี่ยง) หรือ Risk off (กลัวความเสี่ยง) มีผลมากถึง 18% 2) แนวโน้มของอัตราแลกเปลี่ยนในอนาคต กับค่าเงินดอลลาร์สหรัฐ มีน้ำหนักมากประมาณ 15% 3) ความเชื่อมั่นทางธุรกิจ มีสัดส่วนอยู่ที่ 11% 4) อัตราดอกเบี้ยในประเทศกับตลาดโลก มีน้ำหนักเพียงแค่ 3%

ผู้จัดการกองทุนเก็งกำไรข้ามชาติ ที่บริหารฟันด์โฟลว์ ซึ่งโดยปกติแล้วทำการตัดสินใจโดยใช้โปรแกรมเทรดดิ้งสำเร็จรูปเป็นตัวช่วย เปรียบได้กับนักล่าผลตอบแทนจากส่วนต่างราคา หรือ “Searching For Yield” เพื่อหาผลตอบแทนที่สูงกว่าการลงทุนในพันธบัตร หรือตราสารหนี้ โดยยอมเสี่ยงกับความไม่แน่นอนของตลาด ที่อัตราความผันผวนรุนแรงมากขึ้นกว่าอดีต ดังนั้น การตัดสินใจย่อมถือว่ามิได้กระทำไปเพราะสัญชาตญาณ หรือเพราะอารมณ์ชั่วแล่น

เคยมีนักทฤษฎีบางคน พยายามศึกษาและออกคำแนะนำให้นักลงทุน “รู้ทัน” เพื่อตรวจสอบปัจจัยที่มีผลต่อกระแสเงินไหลเข้าออก หรือ ฟันด์โฟลว์ เอาไว้พอสังเขปคือ

– ตรวจสอบความแข็งแรงของปัจจัยพื้นฐานประเทศที่เข้าไปลงทุนด้วยการดูแนวโน้มเศรษฐกิจผ่าน GDP และค่อย ๆ นั่งแตกรายละเอียดของ GDP ว่า โตมาจากอะไร จุดแข็งจุดอ่อนของแต่ละประเทศมีอะไรบ้าง 

– ดูการคาดการณ์เศรษฐกิจในอนาคต ซึ่งจะบอกถึงโอกาส และความเสี่ยงที่ประเทศนั้น ๆ กำลังเผชิญ ในการมาประเมินสถานการณ์ในอนาคต

– ดูทิศทางค่าเงินของประเทศนั้น ๆ เทียบกับสกุลหลัก

– เปรียบเทียบอัตราผลตอบแทนจากการลงทุนในหุ้น กับ ตราสารหนี้

แม้คำแนะนำในการรู้เท่าทันฟันด์โฟลว์จะดูน่าเชื่อถือ แต่ในทางปฏิบัติ คงไม่มีใครเป็นปีศาจคาบคัมภีร์เข้าในตลาดเป็นแน่ นี่เป็นเหตุผลที่อธิบายได้อีกว่าทำไมฟันด์โฟลว์ถึงยังมีอิทธิพลต่อตลาดยาวนาน

Back to top button