พาราสาวะถี

ต้องยอมรับว่าอีกหน้าที่สำหรับสื่อคือการกลายเป็นกระโถนท้องพระโรง ไม่ว่าจะนักการเมืองที่มาด้วยวิธีการใด หากมีอะไรไม่ถูกใจก็จะโยนมาที่สื่อทั้งหมด ยิ่งในยุคเผด็จการคสช. ท่าทีของท่านผู้นำต่อสื่อมวลชนนั้น เรียกได้ว่าอยู่ในภาวะ “สามวันดีสี่วันร้าย” อารมณ์แบบนี้จะบอกว่าอยู่ในช่วงวัยทองทางการเมืองก็คงไม่ผิดนัก


อรชุน

ต้องยอมรับว่าอีกหน้าที่สำหรับสื่อคือการกลายเป็นกระโถนท้องพระโรง ไม่ว่าจะนักการเมืองที่มาด้วยวิธีการใด หากมีอะไรไม่ถูกใจก็จะโยนมาที่สื่อทั้งหมด ยิ่งในยุคเผด็จการคสช. ท่าทีของท่านผู้นำต่อสื่อมวลชนนั้น เรียกได้ว่าอยู่ในภาวะ “สามวันดีสี่วันร้าย” อารมณ์แบบนี้จะบอกว่าอยู่ในช่วงวัยทองทางการเมืองก็คงไม่ผิดนัก

อาการอารมณ์บ่จอยจนทำให้ท่านผู้นำพยายามจะเฉไฉอ้างกับนักข่าวเมื่อวันอังคารในการแถลงหลังการประชุมครม. บอกว่า ขออภัยด้วยแล้วกันสองสามวันที่ผ่านมาหงุดหงิดเรื่องแก้ปัญหาน้ำที่มีการรายงานจนสร้างความตระหนกตกใจให้กับประชาชน ทั้ง ๆ ที่เพิ่งขอโทษขอโพยไม่ทันข้ามวัน รุ่งขึ้นก็มีการว้ากใส่นักข่าวอีกครั้งด้วยเหตุไม่พอใจที่สื่อชอบไปย้ำว่าตัวเองลงพื้นที่เพื่อการเมือง

ความจริงหากฟังสิ่งที่สื่อเสนอแนะและมีการพูดมาโดยตลอด ไม่ใช่เพื่อจับผิดหรือต้องการจะทำลายคนที่ชื่อ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา แต่ถ้าหากท่านยืนยันเสียให้ชัดตั้งแต่นาทีนี้เรื่องเส้นทางทางการเมือง บางทีก็คงจะไม่มีใครไปตอแยกับท่านอีก เพราะหากบอกว่าไม่ไปต่อเหมือนที่ท่านประชด พักผ่อนมั้ง” หลังถูกตั้งปุจฉาว่าชาวบ้านถามจะไปสังกัดพรรคการเมืองไทย นั่นน่าจะช่วยให้เสียงวิจารณ์ที่ทำให้ท่านผู้นำอารมณ์บูดตลอดเวลาจะหายไปในทันที

ในเมื่อไร้เป้าหมายในการสืบทอดอำนาจ การทำทุกอย่างย่อมไม่ถูกตั้งข้อกังขา แต่พอเล่นบทอมพะนำและทำท่าว่าจะอยู่ในอำนาจต่อไปด้วยสารพัดวิธีที่นักการเมืองซึ่งรับงานไปดำเนินการ ผนวกเข้ากับกลไกที่องคาพยพของเผด็จการคสช.ได้วางไว้ เมื่อท่านอ้างว่าไปเพื่อตรวจสอบการใช้จ่ายงบประมาณและแก้ไขปัญหาให้ประชาชน มันย่อมถูกมองไปในเชิงของการหาเสียงล่วงหน้าแน่นอน

ส่วนสิ่งที่ยกมาอ้างอีกประการว่า ตัวเองไม่ใช่นักการเมือง แต่เข้ามาทำงานการเมืองให้ คงเกิดเป็นคำถามตัวโตว่า เข้ามาทำให้ใครและพวกไหน ยิ่งไปบอกว่าวันหน้าใครเป็นนักการเมืองต้องไปให้ได้ทุกพื้นที่เหมือนตัวเองไปก็แล้วกัน ถามกันตรง ๆ ว่าถ้าไม่ใช้อำนาจเผด็จการกดทับและห้ามกลุ่มต่าง ๆ เคลื่อนไหว ท่านจะไปทุกที่โดยไม่มีประชาชนมาเรียกร้องกดดันได้จริงหรือ

เหตุการณ์ยืนด่าชาวประมงที่มาสะท้อนปัญหาเมื่อคราวไปลงพื้นที่จังหวัดปัตตานี ก่อนการประชุมครม.สัญจรที่จังหวัดสงขลาครั้งนั้น ยังเป็นภาพที่ทุกคนจำติดตาได้ดี ถ้าหากการลงไปได้ทุกพื้นที่เพื่อไปตรวจและเห็นผักชีโรยหน้า โดยมีการกดทับปัญหาหรือกวาดข้อเท็จจริงต่าง ๆ ซุกไว้ใต้พรม มันจะเกิดประโยชน์อะไร เพราะหน้าฉากและหลังฉากมันต่างกันลิบลับ

ไม่เพียงแต่ประเด็นการหาเสียงล่วงหน้าที่ถูกจับตาจนหงุดหงิดเท่านั้น การตีความข้อกฎหมายว่าด้วยการเคลื่อนไหวของกลุ่มการเมืองก็เป็นอีกเรื่องที่ต้องยอมรับความจริงกันว่า คณะเผด็จการไปไม่เป็นเหมือนกัน กับการขยับตัวของกลุ่มสามมิตร ไม่ว่าจะมองมุมไหนก็ผิดคำสั่งคสช.ที่ 3/2558 ที่ห้ามชุมนุมทางการเมืองตั้งแต่ 5 คนขึ้นไปอย่างไม่ต้องสงสัย

แต่ก็ใช้วิธีการแถไถอ้างข้าง ๆ คู ๆ กันมาตลอด จะบอกว่าน้ำท่วมปากก็ไม่ใช่เพราะถ้าอาการเช่นนั้นหมายความว่าไม่อยากพูดหรือพูดไม่ได้ แต่นี่มีการพยายามชักแม่น้ำทั้ง 5 มาอธิบาย พูดง่าย ๆ คือ หาเหตุผลมารองรับว่าการไม่บังคับใช้กฎหมายหรือเอาผิดกลุ่มสามมิตรนั้น ไม่ใช่ของการเลือกปฏิบัติ พอซีกการเมืองอื่นจะขยับก็รีบห้ามทัพและแยกเขี้ยวขู่ทันที

เป็นเสียอย่างนี้ที่ปากบอกว่าไม่เล่นการเมือง ไม่ได้เป็นนักการเมือง แมวที่ไหนจะเชื่อ ยิ่งกับข้ออ้างที่ว่าคสช.จะมองเรื่องความสงบสุขและสันติสุขเป็นหลัก การเดินสายอะไรต่าง ๆ ตอนนี้คสช.ดูอยู่แล้วไม่ต้องห่วงจะดูแลถ้ามีอะไรไม่ดีขึ้นมา และไม่ใช่เอื้อประโยชน์กับใคร ยิ่งแก้ตัวคนยิ่งสงสัยและยิ่งเชื่อว่าที่บอกว่าไม่นั้นความจริงเป็นเรื่องตรงกันข้าม

ปัญหาทางการเมืองจะไม่เกิดหรือถูกต้องข้อสงสัยใด ๆ หากผู้มีอำนาจยอมปล่อยให้พรรคการเมืองได้ดำเนินการตามกฎหมายว่าด้วยพรรคการเมืองที่มีผลบังคับใช้มาตั้งแต่เดือนตุลาคมปีที่แล้ว พอออกคำสั่งหัวหน้าคสช.ที่ 53/2560 นอกจากไม่ช่วยแก้ปัญหาแล้วยังกลับทำให้บานปลาย ไม่รู้ว่าจะเดินกันต่อยังไง เห็นได้จากปมไพรมารีโหวต

พอเข้าใจได้ว่า มีความพยายามที่จะหาทางปลดล็อกในเรื่องนี้เพื่อเอื้อประโยชน์ให้กับพรรคในคาถาของคสช. แต่พอย้อนกลับไปดูรัฐธรรมนูญที่ถือเป็นกฎหมายหลักแล้ว มันหาทางเลี่ยงบาลีหนีการทำไม่ได้ สองวิธีที่ วิษณุ เครืองาม บอกมาจึงเป็นการผ่าทางตันในลักษณะบัวไม่ช้ำน้ำไม่ขุ่นมากที่สุด โดยโอกาสที่จะจัดทำไพรมารีโหวตระดับภาคนั้น น่าจะน้อยกว่าการใช้วิธีการอื่น ๆ ในการรับฟังความคิดเห็นจากสมาชิกพรรคการเมืองในการคัดเลือกผู้สมัครส.ส.ตามที่กรธ.ร่างไว้ตั้งแต่ต้น

เนื่องจากแนวทางหลังเป็นไปอย่างที่ มีชัย ฤชุพันธุ์ ได้บอกมาโดยตลอดกรธ.ไม่ได้มีความประสงค์จะให้มีการทำไพรมารีโหวต แต่ต้องการให้ประชาชนมีส่วนร่วมกับพรรคการเมือง เพราะไม่ต้องการให้นายทุนหรือคนบางคนบางกลุ่มมีอิทธิพลเหนือพรรคการเมือง ถ้าเป็นแนวทางนี้พรรคใหญ่ก็ไม่เสียหาย ส่วนพรรคเล็กก็ไม่ต้องกังวลว่าจะทำไม่ได้ทำไม่ทันจากเงื่อนเวลาที่นับวันก็เหลือน้อยเต็มทีต่อการเตรียมการถ้าจะต้องเลือกตั้งในเดือนกุมภาพันธ์จริง

หนึ่งเสียงที่ช่วยยืนยันเรื่องนี้คือ วิรัตน์ กัลยาศิริ หัวหน้าคณะทำงานด้านกฎหมายพรรคประชาธิปัตย์ ที่ระบุ ถ้าจะทำไพรมารีโหวตระดับภาคนั้นอย่าทำเสียดีกว่าเพราะไม่มีประโยชน์ใด ๆ ที่จะสอดคล้องกับเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ คำถามที่สำคัญซึ่งคงเหมือนกับคนส่วนใหญ่ ปัญหาที่เกิดขึ้นไม่ได้อยู่ที่ผู้ปฏิบัติตามกฎหมาย แต่มันอยู่ที่ผู้มีอำนาจในรัฐบาลนี้ว่าต้องการแบบไหนกันแน่มากกว่า

ทุกท่วงท่าขององคาพยพฝ่ายครองอำนาจจึงถูกจับตามองอย่างใกล้ชิด แม้กระทั่งเรื่องการเคลื่อนไหวขอแก้ไขกฎหมายว่าด้วยกกต.ในปมผู้ตรวจการเลือกตั้งของสนช. ซึ่งเต็มไปด้วยความเคลือบแคลงว่าซ่อนวัตถุประสงค์ใด จนที่สุดคนในรัฐบาลไม่ว่าจะเป็นรองนายกฯ ฝ่ายกฎหมายหรือฝ่ายความมั่นคงต้องออกมายืนยันถ้าจะแก้ไขไม่กระทบโรดแมปเลือกตั้งแน่ หรือที่เขาว่าการออกมาแบบไม่มีปี่มีขลุ่ยเพื่อหาเหตุยื้อการหย่อนบัตรของประชาชนมันจะเป็นความจริง เพราะนี่คืองานถนัดของสภาตรายางชุดนี้

 

Back to top button