3 ทางเลือกของเออร์โดกัน

มีคนบอกว่า วิกฤติหนี้ของตุรกี ที่ตามมาด้วยวิกฤติค่าเงินจนตลาดหุ้นวานนี้ทั่วโลกปั่นป่วนมีทางเลือก 3 ทางเท่านั้นคือ 1) รัฐบาลตุรกีมอบตัวเข้ารับความช่วยเหลือจากกองทุนการเงินระหว่างประเทศ 2) การใช้มาตรการ capital control 3) นายเออร์โดกันลงจากอำนาจ


พลวัตปี 2018 : วิษณุ โชลิตกุล

มีคนบอกว่า วิกฤติหนี้ของตุรกี ที่ตามมาด้วยวิกฤติค่าเงินจนตลาดหุ้นวานนี้ทั่วโลกปั่นป่วนมีทางเลือก 3 ทางเท่านั้นคือ 1) รัฐบาลตุรกีมอบตัวเข้ารับความช่วยเหลือจากกองทุนการเงินระหว่างประเทศ 2) การใช้มาตรการ capital control 3) นายเออร์โดกันลงจากอำนาจ

ข้อแรกและข้อสุดท้ายไม่น่าจะเป็นไปได้ ดังนั้นการที่มาร์ก โมเบียส ผู้บริหารชื่อดังแห่งฮ่องกงออกมาบอกว่าเป็นไปได้ที่ตุรกีจะเลือกใช้วิธีการที่ไม่มีใครชอบ

ข้อสรุปดังกล่าว นาย เรเซป เทย์ยิป เออร์โดกัน อดีตนักฟุตบอลผู้คลั่งไคล้เรื่องกีฬา และปัจจุบันก็ยังถูกห้อมล้อมด้วยที่ปรึกษาส่วนตัวและการงานที่ส่วนใหญ่เป็นอดีตนักกีฬาอาชีพชื่อดัง ไม่ชอบอ่านหนังสือ แต่ชอบดูโทรทัศน์มาก ไม่ได้บอกใครว่าเขาเลือกทางออกดังกล่าว เป็นแค่การวิเคราะห์ของคนนอกเท่านั้น

นายเออร์โดกันขึ้นบริหารประเทศตั้งแต่ปี 2546 และบริหารประเทศจนได้รับการยกย่องจากชาติตะวันตกว่าน่าจะเป็นประเทศมุสลิมที่เป็นแบบอย่างของการมีประชาธิปไตยและเสถียรภาพในโลกอาหรับได้ แต่เสียงวิพากษ์วิจารณ์เขาหนาหูขึ้น เมื่อมีการปราบปรามผู้ประท้วงต่อต้านรัฐบาลหลังความพยายามทำรัฐประหารล้มเหลวเมื่อเดือนมิถุนายนปีที่แล้ว การที่เขาแสดงปฏิกิริยาต่อการสอบสวนการทุจริตหลายต่อหลายครั้งที่เกี่ยวข้องกับโครงการลงทุนภาครัฐ และความพยายามบั่นทอนอิทธิพลของผู้นำทางศาสนา ซึ่งเป็นคู่ปรับของเขา อาจเป็นอุปสรรคต่อความพยายามปฏิรูปและบั่นทอนความเชื่อมั่นภาคธุรกิจ

ยามนี้ คำถามว่า วิกฤติค่าเงินลีราตุรกีจะลุกลามเป็นวิกฤติโลกหรือไม่ มีคำตอบบางส่วนว่ามีบ้างแต่ในวงจำกัด เหตุผลคือ

– ตุรกีเป็นประเทศที่มีความเป็นประชาธิปไตยมากที่สุดเมื่อเปรียบเทียบกับประเทศมุสลิมอื่น ๆ ที่ส่วนใหญ่อยู่ในดินแดนตะวันออกกลาง ตุรกีมีนโยบายการเมืองและเศรษฐกิจใกล้ชิดกับชาติตะวันตก เศรษฐกิจของตุรกีพึ่งพาการส่งออกและท่องเที่ยวมาก ในปี 2017 ส่งออกตุรกี +12.9% โดยมียุโรปเป็นคู่ค้าอันดับ 1

– เศรษฐกิจตุรกีขยายตัวขึ้นเร็วมากในสมัยของนายเออร์โดกัน แต่ตลาดเงินและตลาดทุนเล็กเกิน ทำให้ ต้องการเงินทุนจากต่างประเทศอย่างมากเช่นกัน โดยแต่ละปีตุรกีต้องการระดมทุนจากต่างประเทศมากกว่า 5 เท่าของทุนสำรองของธนาคารกลางตุรกี นอกจากนั้น การรักษาสถานภาพให้สามารถเข้าถึงตลาดทุนระหว่างประเทศได้ ก็เป็นสิ่งสำคัญเช่นกัน

– นโยบายการคลังเป็นไปแบบผ่อนคลายมาก มีการลดภาษีสินค้าและอสังหาริมทรัพย์ลง เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ ซึ่งนอกจากส่งผลให้รัฐบาลขาดดุลการคลังเพิ่มเป็น 1.5% ของ GDP ในปี 2017 ยังทำให้เศรษฐกิจขยายตัวร้อนแรง เงินเฟ้อสูงลิ่ว (15.9% ในเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมาเกินเป้าหมาย 3% ของธนาคารกลาง) เทียบกับอัตราเติบโตปีละ 7% เป็นปัญหาเศรษฐกิจร้อนแรงเกินขนาด หรือ overheat

– ผลจากเงินเฟ้อหนัก ทำให้เกิดผลลบข้างเคียงตามมา อาทิ ค่าเงินลีราอ่อนค่าต่อเนื่อง ทุนสำรองระหว่างประเทศลดต่ำลงจนต้องพึ่งพาเงินทุนระยะสั้นจากต่างประเทศ และมีปัญหาขาดดุลบัญชีเดินสะพัด จนเจ้าหนาที่กองทุนการเงินระหว่างประเทศเคยออกมาเตือนว่าเศรษฐกิจ overheat เกินไป ควรใช้มาตรการการเงินแบบเข้มข้นและการคลังแบบมีวินัย

– ค่าเงินลีรา ที่อ่อนเกินไป ทำให้สหรัฐฯ มีมุมมองว่า ค่าเงินลีราเป็นตัวการบิดเบือนการค้า จึงประกาศจะขึ้นอัตราภาษีสินค้านำเข้าเหล็กจากตุรกีเป็น 50% (เดิม 25%) และอะลูมิเนียมเป็น 20% (เดิม 10%) เพราะทรัมป์มองว่าค่าเงินลีราที่อ่อนค่ามาก ซึ่งเป็นแค่ข้ออ้าง เพราะจริงแล้วขณะนี้ความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐฯ-ตุรกีแย่ลง

แม้ว่าวิกฤติตุรกีจะสาหัส แต่การที่ตุรกีมีขนาดเศรษฐกิจไม่ใหญ่มาก โดยล่าสุดมีจีดีพี  900,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2017 หรือคิดเป็น 1% ของขนาดเศรษฐกิจรวมของโลก ผลกระทบต่อโลกและเอเชียจึงจำกัด (เวียดนามเป็นประเทศเดียวในเอเชียที่ส่งออกไปตุรกีมากกว่า 1% ของจีดีพี นอกนั้นส่งออกไปตุรกีต่ำกว่า 0.3%)

ที่สำคัญ สถาบันการเงินที่เป็นเจ้าหนี้ปล่อยกู้ให้ตุรกี ส่วนใหญ่เป็นยุโรป (สเปน ฝรั่งเศส อิตาลี) ในเอเชียแทบไม่มี ประเทศเอเชียส่วนใหญ่มีดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุล (ยกเว้น อินเดีย อินโดฯ ฟิลิปปินส์) แต่ก็ขาดดุลน้อยกว่าตุรกีมาก

ที่ผ่านมา นายเออร์โดกัน มักจะมีวิธีการจัดการหรือรับมือกับวิกฤติทางการเมืองด้วยวิธีการแปลก ๆ ครั้งนี้ หากต้องการรักษาเก้าอี้แห่งอำนาจ โลกอาจจะได้เห็นนวัตกรรมใหม่ด้วยทางเลือกที่ 4 จากอดีตนักฟุตบอลรายนี้

Back to top button