เจตนาของทรัมป์

นักวิเคราะห์ตลาดเงินแห่งวอลล์สตรีท ฮ่องกง โตเกียว และลอนดอน กำลังค้นหาว่าเจตนาที่แท้จริงเบื้องหลังข้อกล่าวหาที่ไร้รายละเอียดล่าสุดต้นสัปดาห์นี้ของโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีแห่งสหรัฐฯ คืออะไรกันแน่


พลวัตปี 2018 :  วิษณุ โชลิตกุล  

นักวิเคราะห์ตลาดเงินแห่งวอลล์สตรีท ฮ่องกง โตเกียว และลอนดอน กำลังค้นหาว่าเจตนาที่แท้จริงเบื้องหลังข้อกล่าวหาที่ไร้รายละเอียดล่าสุดต้นสัปดาห์นี้ของโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีแห่งสหรัฐฯ คืออะไรกันแน่

การวิพากษ์ประธานเฟดกรณีปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย ส่งผลให้ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าแตะต่ำสุดรอบ 2 เดือน วานนี้ มีขึ้นก่อนการประชุมเฟดเดือนกันยายน และก่อนการประชุมประจำปีของเฟดที่แจ็คสัน โฮล

ส่วนข้อกล่าวหาจีนว่าปั่นค่าเงินหยวนเพื่อบรรเทาผลกระทบจากมาตรการเพิ่มภาษีนำเข้าสินค้าจีนที่ส่งไปสหรัฐฯ มีขึ้นก่อนการเจรจาระหว่างตัวแทนรัฐบาลสหรัฐฯ และจีนในปลายสัปดาห์ แม้ยังไม่มีผลชัดเจน แต่ก็ทำให้โอกาสของการเจรจามีสิทธิ์ล่มสลายได้ง่ายมาก

ในประเด็นแรก การวิพากษ์เฟดของทรัมป์ไม่ใช่ครั้งแรก แต่เป็นครั้งที่สามแล้ว

ทรัมป์ ได้วิพากษ์วิจารณ์นายเจอโรม พาวเวล ประธานธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) เมื่อวานนี้ ในงานระดมทุนที่บ้านของนายโฮเวิร์ด ลอร์เบอร์ ประธานบริษัทดักกลาส เอลลิแมน ซึ่งเป็นบริษัทอสังหาริมทรัพย์ ถึงกรณีที่เฟดมีนโยบายปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย โดยกล่าวว่า เขาคิดว่านายพาวเวลจะใช้นโยบายผ่อนคลายทางการเงิน และจะไม่ดำเนินการอย่างเข้มงวดจนเกินไป

ตอนที่ขึ้นมานั่งทำเนียบขาวใหม่เมื่อต้นปีที่แล้วเขาก็เคยกระทำมาแล้ว แต่ครั้งนั้น ประธานเฟดคนก่อนคือนางเจเน็ต เยลเลนไม่เล่นด้วย ส่วนในครั้งที่สอง เกิดขึ้นเมื่อเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา การวิพากษ์ในเดือนกรกฎาคม ทรัมป์ได้ให้สัมภาษณ์ต่อสำนักข่าว CNBC ออกโรงวิพากษ์วิจารณ์การทำงานของเฟด ไม่รู้สึกยินดีต่อการทำงานของเฟด เพราะทุกครั้งที่เศรษฐกิจปรับตัวขึ้น พวกเขาก็ต้องการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีก แต่เขาก็จะปล่อยให้พวกเขาทำในสิ่งที่พวกเขามองว่าดีที่สุด แต่ไม่ชอบงานซึ่งได้กระทบต่อสิ่งที่เขาทำ

ต่อมา ทรัมป์ก็ออกมาย้ำผ่านทวิตเตอร์ส่วนตัวซ้ำอีกว่า แม้จะยอมรับว่า การแสดงความคิดเห็นของเขาถือเป็นสิ่งผิดปกติ แต่เขาก็ไม่สนใจ

การวิพากษ์ดังกล่าว ล้วนถือเป็นการกระทำที่สวนทางประธานาธิบดีคนก่อน ๆ ของสหรัฐฯ ซึ่งมักจะหลีกเลี่ยงการแทรกแซงการทำงานของเฟด และเน้น “ความเป็นอิสระของธนาคารกลาง” ในการกำหนดนโยบายการเงิน

ความเป็นอิสระของธนาคารกลาง ในทางทฤษฎี ถือกันว่าเครื่องมือพื้นฐานที่ใช้ในการบริหารเศรษฐกิจของประเทศ (แบ่งได้เป็น 2 ส่วน คือ เครื่องมือทางการเงินกับเครื่องมือทางการคลัง)

เครื่องมือทางการเงินก็คือการกำหนดอัตราดอกเบี้ย (ทั้งเงินฝากและเงินกู้) และปริมาณเงินที่หมุนเวียนในท้องตลาด รวมถึงเสถียรภาพของอัตราแลกเปลี่ยนด้วย (กินความรวมถึงการกำกับดูแลสถาบันการเงินบางประเภท) อยู่ใต้การกำกับดูแลของธนาคารกลาง

ส่วนเครื่องมือทางการคลังคือการจัดทำงบประมาณของรัฐบาล (ทั้งรายรับและรายจ่าย) และขับเคลื่อนการเติบโตของประชาชาติมวลรวม

แม้ว่าในทางกฎหมาย รัฐบาลจะมีอำนาจในการกำหนดทั้งนโยบายการเงินและนโยบายการคลัง แต่ในทางปฏิบัติ มักจะโยนประเด็นเรื่องการกำหนดนโยบายทางการเงินให้กับผู้บริหารธนาคารกลาง เพื่อให้เสถียรภาพของตลาดเงินไม่ถูกเบี่ยงเบนไปรับใช้ผู้มีอำนาจรัฐบาลมากเกินขนาด จากรัฐบาลเผด็จการที่ขาดความรับผิดชอบต่อประชาชน อาจใช้นโยบายทางเศรษฐกิจเพื่อประโยชน์ส่วนตนและพวกพ้อง หรือดำเนินนโยบายทางการคลังที่ขาดวินัยจนเกิดปัญหา

ความเป็นอิสระของธนาคารกลางจึงมีนัยสำคัญ และเชื่อมโยงถึงว่าดำรงอยู่เพื่อใคร

ในกรณีของเฟด ความเป็นอิสระของหน่วยงานนี้ เป็นจารีตมายาวนาน จนกระทั่งทำเนียบขาวไม่กล้าแตะต้อง เพราะเฟดมีหน้าที่ขึ้นตรงต่อรัฐสภามากกว่าทำเนียบขาว แม้ประธานาธิบดีจะเป็นคนเลือกแต่งตั้งประธานเฟดตามวาระ แต่ก็ไม่มีสิทธิแทรกแซงการตัดสินใจได้ จะทำได้มากสุดก็คือสั่งปลดประธานเฟดเท่านั้น ซึ่งภายใต้โครงสร้างที่ออกแบบทางอำนาจการเมืองไว้ทำได้ยากมาก

แม้กระทั่งยุคนี้ ความพยายามของโดนัลด์ ทรัมป์ ที่พยายามใช้อำนาจประธานาธิบดี ทำการ “ข้ามรูบิคอน” เพื่อสนองเจตนาแห่งอำนาจก็ไม่เคยมีการกระทำที่ “ล้ำเส้น” จากฝั่งของทรัมป์ ทำให้มีการตีความในลักษณะเมินเฉยว่าทรัมป์ทำได้แค่ “…เห่าใบตองแห้ง” เพื่อคะแนนนิยมตามปกติเท่านั้น

ส่วนกรณีกล่าวหาจีนก็เช่นกัน เป็นข้อกล่าวหาที่มีมาหลายครั้งในรอบ 20 ปีที่ผ่านมาโดยไม่เคยมีข้อพิสูจน์ชัดเจน อย่างน้อยที่สุด กระทรวงการคลัง หรือผู้แทนการค้าสหรัฐฯ ก็ไม่สามารถตั้งข้อหาจีนได้ และว่าไปแล้ว มาตรการแทรกแซงค่าเงินให้อ่อนเกินจริง หรือแข็งเกินจริง สามารถทำได้หลากหลายรูปแบบ

จริงอยู่ในช่วงแรกที่จีนเริ่มเปิดตลาดสู่สังคมโลกภายใต้นโยบาย 4 ทันสมัยในยุคเติ้ง เสี่ยว ผิง เมื่อกว่า 30 ปีก่อน ธนาคารกลางจีน ใช้อัตราแลกเปลี่ยนแบบ “เกาะพ่วง” ดอลลาร์ เพื่อให้ค้ายขายกับชาวโลกสะดวก และลดความเสี่ยง แต่ต่อมาก็ลดความเข้มข้นลง จนล่าสุดแม้จะยังใช้ระบบบริหารค่าเงินอยู่ (กำหนดให้อัตราค่ากลางสกุลเงินหยวนเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐในการซื้อขายแต่ละวัน อิงกับราคาเฉลี่ยแบบถ่วงน้ำหนัก ก่อนที่ตลาดจะเปิดทำการซื้อขายในทุกเช้า โดยที่ค่าเงินหยวนได้รับอนุญาตให้ปรับตัวขึ้น หรือลงไม่เกินเพดานบนและล่าง 2% จากอัตราค่ากลางของการซื้อขายแต่ละวัน) แต่จีนก็เริ่มลดการครอบงำลง เพราะค่าเงินหยวนในปัจจุบันอยู่ในส่วนหนึ่งของการคำนวณค่าเงินในตะกร้า SDRs ของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ

ที่ผ่านมา 4-5 ปีนี้ จีนไม่เคยถูกกล่าวหาว่าครอบงำหรือปั่นค่าเงินหยวนเพื่อหวังผลในการส่งออกสินค้าเลย นอกจากทรัมป์เท่านั้น

ผู้ช่ำชองทฤษฎีเกมระบุว่า เจตนาของทรัมป์ในการโจมตีจีน น่าจะหวังช่วยเสริมแรงให้การเจรจาการค้ามากกว่า ซึ่งแม้จะยังหวังผลไม่ได้ แต่ทรัมป์ก็ไม่มีอะไรจะเสียเช่นกัน

วิเคราะห์แบบหลังสุดนี้ ช่วยทำให้สบายใจขึ้นเยอะเลย เพราะทรัมป์เริ่มแสดงให้เห็นว่า “ถึงเพี้ยน แต่ก็ไม่โง่”

Back to top button