สงครามการค้าระอุ! สหรัฐฯ-จีนจ่อใช้มาตรการเก็บภาษีนำเข้ารอบ2 วงเงิน 1.6หมื่นล้านดอลฯวันนี้

สงครามการค้าระอุ! สหรัฐฯ-จีน จ่อใช้มาตรการเก็บภาษีนำเข้ารอบ 2 ในอักตรา 25% วงเงิน 1.6 หมื่นล้านดอลลาร์วันนี้


รัฐบาลสหรัฐอเมริกาและสาธารณรัฐประชาชนจีน เตรียมบังคับใช้มาตรการเรียกเก็บภาษีนำเข้าสินค้าระหว่างกันรอบที่ 2 ในอัตรา 25% วงเงิน 1.6 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐวันนี้ (คิดเป็นเงินไทยโดยประมาณ 5.24 แสนล้านบาท โดยอิงอัตราการแลกเปลี่ยน ณ วันที่ 23 ส.ค.61) ขณะที่ทั้งสองประเทศกำลังอยู่ระหว่างการเจรจาการค้า

โดย สำนักข่าวเกียวโดรายงานว่า การเรียกเก็บภาษีนำเข้ารอบใหม่นี้มีขึ้น หลังเมื่อเดือนก.ค.ที่ผ่านมา รัฐบาลของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ได้สั่งเรียกเก็บภาษีนำเข้าสินค้าจากจีนในอัตรา 25% คิดเป็นวงเงิน 3.4 หมื่นล้านดอลลาร์ ซึ่งจีนก็ได้ตอบโต้กลับด้วยการเก็บภาษีเพิ่มเติมในวงเงินเท่ากัน จากนั้นสถานการณ์ตึงเครียดทางการค้าก็ยังไม่ส่งสัญญาณคลี่คลายลง

ทั้งนี้ ปธน.ทรัมป์ ได้สั่งการให้นายโรเบิร์ต ไลท์ไฮเซอร์ ผู้แทนการค้าสหรัฐ (USTR) พิจารณาปรับขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าจากจีนสู่ระดับ 25% จากเดิมในอัตรา 10% คิดเป็นวงเงินรวม 2 แสนล้านดอลลาร์ ครอบคลุมสินค้าจำนวน 6,031 รายการ ตั้งแต่สินค้าเพื่อผู้บริโภคไปจนถึงสินค้าด้านการเกษตร เนื่องจากสหรัฐมองว่าจีนมีพฤติกรรมขโมยทรัพย์สินทางปัญญาและเทคโนโลยี โดยมาตรการเรียกเก็บภาษีนำเข้าเพิ่มเติมดังกล่าวคาดว่าจะมีผลบังคับใช้ในเดือนก.ย.

นอกจากนี้ ปธน.ทรัมป์ กล่าวต่อที่ชุมนุมที่รัฐเวสต์เวอร์จิเนียว่า “ผมนับถือประธานาธิบดีสีด้วยความเคารพอย่างสูง ผมเคารพและคำนึงถึงประเทศจีนเป็นอย่างมาก แต่พวกเขาเอาเปรียบเรามาหลายทศวรรษแล้ว”

อย่างไรก็ดี ปธน.ทรัมป์ ได้เรียกร้องให้จีนยกระดับการเข้าถึงตลาดและคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาให้กับบริษัทของสหรัฐ ยกเลิกการให้เงินอุดหนุนในภาคอุตสาหกรรม และลดตัวเลขเกินดุลการค้ากับสหรัฐที่ปรากฏให้เห็นมาเป็นเวลานานและมีจำนวนมาก

อนึ่ง ข้อมูลจากกระทรวงพาณิชย์สหรัฐฯระบุว่า สหรัฐฯขาดดุลการค้ากับจีนทั้งสิ้น 3.7523 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐเมื่อปีที่ผ่านมา ซึ่งคิดเป็นสัดส่วนเกือบครึ่งหนึ่งของตัวเลขขาดดุลการค้าของสหรัฐกับประเทศอื่นๆทั่วโลก

ทั้งนี้ หากสหรัฐฯเรียกเก็บภาษีนำเข้าสินค้าจากจีนเพิ่มเติมในวงเงิน 2 แสนล้านดอลลาร์จริง ก็จะเท่ากับว่าสหรัฐเรียกเก็บภาษีสินค้านำเข้าเป็นสัดส่วนประมาณครึ่งหนึ่งจากที่นำเข้าจากจีนทั้งหมดในแต่ละปี

Back to top button