เวรกรรม! คดีทีพีไอ

ใช้เวลาไม่นาน คดีฟ้องทักษิณ ทุจริตฟื้นฟูกิจการทีพีไอ จะมีผลตัดสินจากศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองแล้วในวันที่ 29 ส.ค.นี้


ขี่พายุทะลุฟ้า : ชาญชัย สงวนวงศ์

ใช้เวลาไม่นาน คดีฟ้องทักษิณ ทุจริตฟื้นฟูกิจการทีพีไอ จะมีผลตัดสินจากศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองแล้วในวันที่ 29 ส.ค.นี้

สำนักงาน ป.ป.ช.ดำเนินการยื่นฟ้องเองโดยไม่อาศัยอัยการ ซึ่งมีความเห็นแย้ง เมื่อวันที่ 7 พ.ค.ที่ผ่านมา มีแต่พยานโจทก์ขึ้นให้การเพียง 6 ปาก จำเลยคือนายทักษิณ ชินวัตรไม่ติดใจตั้งทนายต่อสู้ จึงไม่มีทนายมาซักค้านฝ่ายโจทก์

จึงใช้เวลาแค่ 3 เดือนกว่า ก็เช็กบิลปิดคดีได้

ป.ป.ช.บรรยายฟ้องว่า การให้ความยินยอมกระทรวงการคลังเข้าทำหน้าที่บริหารแผนฟื้นฟูกิจการทีพีไอ เป็นการกระทำทั้งที่รู้อยู่ว่า กระทรวงการคลังซึ่งเป็นส่วนราชการ ไม่มีอำนาจหน้าที่ตามกฎหมาย ที่จะเข้าไปเป็นผู้บริหารกิจการหรือจัดการทรัพย์สินให้กับบริษัทเอกชน

เป็นเหตุให้เกิดความเสียหายแก่กระทรวงการคลังและเสียหายต่อระบบราชการ

จึงเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 และพ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. 2534 ประกอบ พ.ร.บ.ปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม พ.ศ. 2545

ก็อาจจะงุนงงเอาการอยู่เหมือนกันนะว่า การเข้าไปบริหารแผนฟื้นฟูกิจการทีพีไอ ก่อให้เกิดความเสียหายแก่กระทรวงการคลังและต่อระบบราชการอย่างไร

เพราะจากบริษัทที่มีหนี้สินล้นพ้นตัวถึง 1.2 แสนล้านบาท ต้องประกาศหยุดพักการชำระหนี้ หรือภาษาชาวบ้านเรียกว่า “ชักดาบ” นั่นแหละ กลายเป็นกรณีศึกษาที่ทั่วโลกจับจ้อง โดยเฉพาะในที่ประชุมอังค์ถัดว่าด้วยการค้าและการพัฒนาของ UN ที่กรุงเทพฯ

ในที่สุด หลังกระทรวงการคลังส่งตัวแทนเข้าบริหารแผนฟื้นฟูฯ อันมีพล.อ.มงคล อัมพรพิสิฏฐ์นำทีม กิจการก็ได้รับการฟื้นฟูขึ้นเป็นลำดับ ซึ่งเจ้าหนี้ก็ได้รับการชำระหนี้ และลูกหนี้ก็ไม่ถูกเจ้าหนี้ยึดกิจการ จนกระทั่งกิจการเติบใหญ่มาเป็น IRPC ที่มั่นคงแข็งแกร่งทุกวันนี้

หากกระทรวงการคลังไม่เข้ามา ก็สุ่มเสี่ยงสูงที่จะเสียหายทางชื่อเสียงและเครดิตความน่าเชื่อถือในสายตาประชาคมนานาชาติ จากกรณี “ชักดาบบันลือโลก”

ในทางข้อเท็จจริงประการหนึ่ง ก็น่าเป็นห่วงถึงความมั่นคงปลอดภัยของโรงงานจากกรณีพิพาทระหว่างผู้บริหารแผน EP ของเจ้าหนี้ฝ่ายหนึ่ง และลูกหนี้กับพนักงานของลูกหนี้อีกฝ่ายหนึ่ง

หากเกิดมีการเผาโรงงานปิโตรเคมีที่ใหญ่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ อะไรจะเกิดขึ้น สถานการณ์ตอนนั้น ไม่มีใครมองออกจริง ๆ

ฝ่ายลูกหนี้และสหภาพแรงงานทีพีไอ ยื่นคำร้องต่อรัฐบาลให้เข้ามาเป็นผู้บริหารแผนฯ ศาลล้มละลายกลางก็มีคำสั่งเพิกถอนผู้บริหารแผนฝ่ายเจ้าหนี้ และมอบหมายให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์มาขอความยินยอมให้กระทรวงการคลังเข้ามาเป็นผู้บริหารแผนฯแทน

จะเรียกว่ากระทรวงการคลังเข้ามาตามคำสั่งของศาลล้มละลายก็คงไม่ผิดนัก

อันที่จริง การฟ้องร้องกระทรวงการคลัง ไม่มีอำนาจโดยชอบในการบริหารแผนฟื้นฟูกิจการ ก็ได้ผ่านมาแล้วถึง 2 ศาลด้วยกัน

นั่นคือ ศาลล้มละลายมีคำสั่งยกฟ้องกลุ่มนายประชัย เลี่ยวไพรัตน์ ซึ่งฟ้องตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย และศาลรัฐธรรมนูญ ก็ได้ยกคำร้องของผู้ตรวจการแผ่นดินฯว่า การเข้าบริหารแผนของกระทรวงการคลังนั้นชอบแล้วด้วยรัฐธรรมนูญ

เรื่องนี้ เล่นงานกันมาถึง 2 ศาลแล้ว ศาลล้มละลายก็รอด และศาลรัฐธรรมนูญก็รอด ก็เลยจะมาเล่นงานกันในศาลที่ 3 นั่นคือ ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง

ต่างชาติก็คงงงพิลึกจะยึดมาตรฐานศาลไหน!

ก็ยังมีความน่าสงสัยอีกเหมือนกันว่า หากนัดในวันที่ 29 ส.ค.นี้ ตัดสินทักษิณผิดที่ให้ความยินยอมกระทรวงการคลังเข้าไปเป็นผู้บริหารแผนฟื้นฟูกิจการทีพีไอ แล้วจะต้องคืนกิจการทีพีไอที่บัดนี้เป็น IRPC ให้กับกลุ่มเลี่ยวไพรัตน์ไหม

เนื่องจากกระบวนการฟื้นฟูกิจการ ไม่ชอบด้วยกฎหมายมาตั้งแต่ต้น

แต่ไม่ว่าผลจะออกมาอย่างไร คดีนี้ก็หนีไม่พ้นจะถูกประชาคมนานาชาติ ประทับตราให้เป็น “คดีการเมือง” อีกคดีหนึ่ง

Back to top button