ยักษ์ไร้กระบอง

มาตรการล่าสุดของ ก.ล.ต.ต่อผู้บริหารหรือกรรมการของบริษัท อินเตอร์ ฟาร์อีสท์ เอ็นเนอร์ยี่ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ IFEC คือ การส่งคำฟ้องกล่าวหาต่อศาลแพ่งเพื่อขอให้กำหนดมาตรการลงโทษทางแพ่งในอัตราโทษสูงสุดตามกฎหมาย ต่อนายศุภนันท์ ฤทธิไพโรจน์ กรณีใช้ข้อมูลภายในขายหุ้น หรืออินไซเดอร์ เทรดดิ้ง ไม่ใช่เรื่องใหม่


พลวัตปี 2018 : วิษณุ โชลิตกุล

มาตรการล่าสุดของ ก.ล.ต.ต่อผู้บริหารหรือกรรมการของบริษัท อินเตอร์ ฟาร์อีสท์ เอ็นเนอร์ยี่ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ IFEC คือ การส่งคำฟ้องกล่าวหาต่อศาลแพ่งเพื่อขอให้กำหนดมาตรการลงโทษทางแพ่งในอัตราโทษสูงสุดตามกฎหมาย ต่อนายศุภนันท์ ฤทธิไพโรจน์ กรณีใช้ข้อมูลภายในขายหุ้น หรืออินไซเดอร์ เทรดดิ้ง ไม่ใช่เรื่องใหม่

เรื่องใหม่คือ การรายงานการดำเนินการดังกล่าวไปยังสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน หรือ ป.ป.ง. เพื่อพิจารณาดำเนินการต่อ เพื่อให้เดินเรื่องมีประสิทธิผลมากขึ้น

คำถามคือ ทำได้แค่นี้เองหรือ เพราะใคร ๆ รวมทั้งคนที่ติดหุ้น IFEC นับหมื่นราย รู้ดีว่า นายศุภนันท์ไม่ใช่ “ผู้ร้าย” ตัวจริง

ส่วนตัวจริงอย่าง หมอวิชัย ถาวรวัฒนยงค์ ยังลอยนวลลอยหน้าลอยตาปรากฏตัวในเฟซบุ๊ก “วิชัย ทอล์ก” กระแซะ ก.ล.ต.ว่า ทำให้ “บ้านร้าง” เพราะบีบเจ้าของบ้านออกไป ไม่รู้ว่าป่านนี้ได้กี่ร้อยตอนแล้ว ไม่รู้สึกทุกข์ร้อนอะไร เพราะขายหุ้นจนเกือบหมดแล้ว ที่ยังเหลือผู้ติดจำนำกับโบรกเกอร์ให้ปวดหัวเล่นเพราะจะขายทิ้งก็หาคนซื้อไม่ได้

การดำเนินการกระชับพื้นที่ของ ก.ล.ต. จึงเสมือนเกาไม่ถูกที่คัน หรือผิดฝาผิดตัว เสมือนเล่นงานเจ้าตัวไม่ได้ ก็จับเงาแทน คล้ายกับสถานการณ์ในนิทานเด็ก ปีเตอร์ แพน นั่นเอง

อนาคตของ IFEC ยังคงมืดมนหาแสงสว่างไม่เจอ รอวันเปิดบัญชีที่ไม่ได้ส่งงบแจ้งตลาดมานานกว่า 2 ปีครึ่ง เพื่อจะพบว่า รอวันพิทักษ์ทรัพย์ในท้ายสุด

คงไม่ต้องถามกันว่า ก.ล.ต.ปล่อยให้กรณี IFEC มาถึงจุดนี้ได้อย่างไร เพราะรู้คำตอบล่วงหน้าแล้วว่า “มีขีดจำกัดของข้อกฎหมาย” ในขณะที่หน่วยงานรัฐอีกแห่งที่เกี่ยวข้องอย่าง กรมพัฒนาธุรกิจการค้าในฐานะนายทะเบียนบริษัทมหาชน ก็อยู่ในความเงียบ

ปัญหายุ่งเหยิงวุ่นวาย ประหนึ่งซีรีส์ละครน้ำเน่าขนาดยาวทางโทรทัศน์ช่องหลายสีที่ยาวนานกว่า 2 ปี ตั้งแต่จัดประชุมผู้ถือหุ้น การแต่งตั้งกรรมการใหม่ และการกล่าวหาสาดโคลนกันไปมารวมทั้งการที่ ก.ล.ต.จะเข้ามากำกับดูแลการแก้ปัญหาภายในอย่างใกล้ชิด ไม่ได้ทำให้สถานการณ์ IFEC ดีขึ้นเลย ยังไม่มีความคืบหน้าใดในการแก้ปัญหาบริษัทจดทะเบียนแห่งนี้

หุ้นยังถูกขึ้นเครื่องหมาย “เอสพี” ถูกพักการซื้อขาย การผิดนัดชำระหนี้ และเสียงวิพากษ์วิจารณ์การบริหารงานที่ไม่โปร่งใส ก็ยังไม่มีใครเข้าไปจัดการแก้ไข เสมือนอยู่ในแดนสนธยา ไม่ใช่บริษัทมหาชนจดทะเบียน

ตำนานการสร้างหายนะของสองคู่หู หมอวิชัย กับ นายสิทธิชัย พรทรัพย์อนันต์ ที่กู้เงินมาซื้อกิจการที่กลุ่มสหพัฒน์ขายออกมาเพราะหมดอนาคตกับเครื่องถ่ายเอกสาร ในปี 2557 แล้วหาจังหวะสร้างสตอรี่เรื่องพลังงานทดแทนเป็นตัวชูโรงให้ราคาหุ้นวิ่งขึ้นไปเกือบ 20.00 บาท ก่อนที่ตัวเลขการสร้างสตอรี่จะเริ่มปรากฏว่ามีผลตอบแทนที่ไม่น่าคุ้มต้นทุน

ระหว่างเริ่มต้นหมดสตอรี่พลังงานทดแทน ก็มีการสร้างสตอรี่ใหม่ที่ต่างขั้วสิ้นเชิง ใช้เงิน 5 พันล้านบาท เข้าเทกโอเวอร์กิจการโรงแรมดาราเทวีที่เชียงใหม่ ที่มีปัญหาทางการเงิน พร้อมไปกับสองคู่หูหมอวิชัย-สิทธิชัย แอบแย่งกันทิ้งหุ้นตลอดปี 2559 ในลักษณะ “ซื้อเช้าขายบ่าย” หรือ “ซื้อบ่าย ขายพรุ่งนี้เช้า” จนกระทั่งทั้งคู่เหลือหุ้นในมือต่ำกว่า 5% ก่อนจะตามมาด้วยดราม่า “ขัดแย้งกันเกินกว่าจะประนีประนอมได้”

นายสิทธิชัยลาออกจากตำแหน่งซีอีโอ ในเดือนพฤศจิกายน ก่อนที่จะมีข้อมูลเน่าโผล่มาฟ้องถึงความเละเทะว่า มีการออกตั๋วบี/อีชนิดไม่มีเรตติ้งหลายร้อยล้านบาท เพื่อขายแบบเฉพาะเจาะจงในกลุ่มแคบ ๆ แล้วครบกำหนดชำระในเดือนธันวาคม 2559

การเบี้ยวตั๋วบี/อีของ IFEC เป็นจุดเริ่มต้นทำให้ตลาดตั๋วบี/อีที่ไม่มีเรตติ้งวายลงกะทันหัน (ต่อมา บล.โซลารีส จำกัด ถึงกับต้องยกเลิกกิจการไปเลยในปี 2560) แล้วตามมาด้วยกลุ่มทุนใหม่ที่ซื้อหุ้นต่อจากนายสิทธิชัย คือกลุ่มนายประเวศ เตชะนาวากุล เข้ามาขอมีส่วนร่วมในการบริหารก่อนจะล่าถอยไป เมื่อเจอไม้เด็ดทางกฎหมายพิสดารฉบับ “ศรีธนญ(วิ)ชัย” เข้าให้

จากนั้นก็ตามมาด้วยเรื่องราวของการที่ผู้สอบบัญชีไม่รับรองงบการเงินสิ้นงวดปี 2559 ก่อนที่จะมีการพบเงื่อนงำว่า หมอวิชัยในฐานะประธานที่มีอำนาจลงนามแทนบริษัทได้ทำการนำเอากิจการมูลค่า 5 พันล้านบาทอย่างดาราเทวีไปค้ำประกันตั๋วบี/อีมูลค่าแค่ 100 ล้านบาท และแอบเอาทรัพย์สินโรงไฟฟ้าชีวมวลขนาด 7.5 MW ที่ลพบุรี ไปทำที “จะซื้อจะขาย” กับคนอื่น แต่แท้จริงคือเอาไปค้ำประกันเพื่อกู้เงิน 50 ล้านบาท มาโป๊ะใช้หนี้ตั๋วบี/อีบางส่วนที่หมดอายุ

เรื่องราวเละเทะเหล่านี้ ยังไม่รวมกรณีซื้อโรงไฟฟ้าในกัมพูชา ที่มีการแฉว่าไม่ได้ผลิตไฟฟ้ามายาวนาน ซึ่งยังไม่เคยมีคำชี้แจงจาก IFEC เลย

ความพยายามของผู้ที่เกี่ยวข้อง ทำให้ ก.ล.ต.พยายามเร่งเร้าให้รีบแก้ปัญหา แต่ข้อจำกัดของ ก.ล.ต.ในการแก้วิกฤต IFEC ทำให้หน่วยงานนี้ไร้ประสิทธิผลในการดำเนินการ

ข้อเรียกร้องจากหลายฝ่ายว่า กรณีขีดจำกัดของ ก.ล.ต. น่าจะนำไปสู่การแก้กฎหมาย เพื่อเปิดช่องให้หน่วยงานที่กำกับดูแลบริษัทจดทะเบียน มีอำนาจ เข้าควบคุมกิจการบริษัทจดทะเบียน เพื่อปกป้องประชาชนผู้ลงทุน ในลักษณะเดียวกันกับกฎหมายที่ให้อำนาจ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) สั่งควบคุมสถาบันการเงิน เพื่อคุ้มครองผู้ฝากเงินได้ แต่ข้อเรียกร้องก็เลือนหายไปกับสายลม

เมื่อ ก.ล.ต.กลายสภาพเป็น “ยักษ์ไร้กระบอง” ผู้ถือหุ้นทั้งรายย่อยและรายใหญ่ ซึ่งเคยและยังถูกหมอวิชัยกับพวกจับเป็นตัวประกัน ก็คงต้อง “ทำใจ” รับสภาพจำยอม จ่ายค่าโง่ไปเรื่อย พร้อมกับนั่งดูละคร “เกาผิดที่” เป็นระยะ ๆ อย่างไร้ความหวัง จนกว่าหมอวิชัยและพวก จะรู้จักคำนิยามว่า “สำนึกผิด” ซึ่งไม่น่าจะเกิดขึ้นได้ง่าย ๆ หรือในเร็ววันนี้

Back to top button